'จตุพร' ปลุกพกความหวัง เดินไปในปีที่ 12 ปีที่ประเทศไม่ได้อยู่ในสภาพนี้


เพิ่มเพื่อน    

20 พ.ค.64 - นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟชบุ๊กไลฟ์ peace talk วานนี้ ซึ่งเป็นวันครบ 11 ปีในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ว่า วันนี้ท่ามกลางโควิดระบาดอย่างบ้าคลั่งภายใต้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่พวกตนและคณะได้จัดการทำบุญเล็กๆด้วยรูปแบบเรียบง่าย พร้อมเชิญตัวแทนญาติวีรชนในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 มาร่วมอุทิศส่วนกุศลให้วีรชนที่ต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย

ประวัติศาสตร์การต่อสู้เมื่อ 11 ปีได้ผ่านไปรวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญนั้นอำนาจยังไม่ตกถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง แม้เหมือนบางช่วงขณะเราได้ประชาธิปไตย แต่เป็นระยะเวลาสั้นๆของช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังนั้น วันครบรอบ 11 ปีนี้ ตนเชื่อว่า การทวงความยุติธรรม ยังเป็นภาระหน้าที่ต้องกระทำเพื่อคนตาย

อย่างไรก็ตาม ถ้านับถึงความเจ็บปวดแล้ว คนเสื้อแดงเจ็บมากที่สุด สูญสิ้น และได้รับความอยุติธรรมมากที่สุด โดยฝ่ายรัฐขณะนั้นใช้การทหารปราบประชาชนได้แค่การฆ่าฝ่ายเดียว ส่วนการทำสงครามกับประชาชนนั้น กลับแพ้อย่างราบคาบ เนื่องจากบาดแผลได้กินลึกฝังเข้าไปในหัวใจประชาชน

"การฆ่า ฆ่าได้เมื่อมีอาวุธ แต่การฆ่ายิ่งนำไปสู่การสร้างบาดแผลให้เกิดขึ้นตลอดไป ดังนั้น บทเรียน 11 ปี แม้อำนาจยังไม่ถึงมือประชาชน แต่ทรงคุณค่ามากมายว่า การต่อสู้ของประชาชนเรียกร้องหาประชาธิปไตยในสิ่งถูกต้องคือยุบสภา กลับได้รับการปราบปรามด้วยสไนเปอร์อย่างรุนแรง เกิดการฆ่าคนมือเปล่า และทุกศพร่วม 100 กว่าชีวิต ไม่มีเขม่าดินปืนสักศพเดียว”

ดังนั้น การตายของคนเสื้อแดง ศาลได้สั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ตายด้วยเหตุอะไร ใครเป็นคนร้ายทำให้ตาย แม้ระบุว่า ตายจากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศอฉ. แต่ไม่สามารถดำเนินคดีในฐานฆ่าคนตายหรือพยายามฆ่าโดยเจตนาเล็งเห็นผลได้ เพราะเรื่องไปติดอยู่ที่ ป.ป.ช. ไม่เคยส่งถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเลย

นายจตุพร กล่าวว่า ในทางกฎหมาย จึงเรียกเป็นความตายที่ผิดธรรมชาติ โดยเอาผิดใครไม่ได้ เมื่อสังคมมีบาดแผล และผู้ฆ่ายังไม่มีสำนึกรับผิดชอบ ส่วนผู้ถูกฆ่ากลับผูกติดกับครอบครัว และตอกย้ำหัวใจว่า เมื่อไรจะได้ความยุติธรรม

การฆ่ากันอย่างไร้สตินั้น เสมือนเป็นศัตรูมาจากคนละชาติ จึงเป็นประวัติศาสตร์ตอกย้ำถึง การต่อสู้ทางการเมืองไม่ควรจบลงด้วยการฆ่ากันตาย หรือบาดเจ็บและติดคุก ตนหวังว่า การสู้ทางการเมืองต้องจบด้วยสันติวิธี และผู้ปกครองต้องฟังความเห็นจากประชาชน ไม่ใช่เห็นต่างกันแล้วต้องลงมือฆ่ากัน และการฆ่าจะชนะเพียงช่วงสั้นๆเท่านั้น แต่จะแพ้และกลายเป็นตราบาปไปตลอดกาล

ดังนั้น เหตุการณ์เมื่อ 11 ปีที่แล้ว จึงถูกบันทึก ถ่ายทอดผ่านบทเพลงในเรื่องราวของทุกชีวิต เพื่อเล่าเรื่องและควรจะถูกบรรจุไว้ในอนุสรณ์สถานของคนเสื้อแดง เพื่อบอกกล่าวถึงความรุนแรงจากการเรียกร้องประชาธิปไตย โดยตนหวังว่า เมื่อเราพร้อมก็จะมีที่อยู่ให้กับคนพลีชีพ และผู้เรียกร้องประชาธิปไตย โดยทุกปีจะได้มาคารวะวีรชนที่สละชีวิตกัน

"สิ่งสำคัญที่สุด เราต้องไม่ลืมพวกเขาเหล่านี้ และมีอีกมากมายที่ยังติดคุกอยู่ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ดังนั้น เวลาที่เหลืออยู่จึงไม่มีเรื่องส่วนตัว ไม่มีผลประโยชน์เฉพาะ วันนี้ความรู้สึกมีเพียงหวังถึงการกระทำในอนาคตที่จะได้ประชาธิปไตยกลับมา เพื่อไม่ให้ทุกดวงวิญญาณได้ตายอย่างสูญเปล่าในทุกเหตุการณ์ของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย”

พร้อมกล่าวว่า ความจริงแล้วทุกเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่มีอะไรแตกต่างกัน รวมทั้งการฆ่าอย่างบ้าคลั่งก็ไม่แตกต่างกันด้วย แต่วันนี้จึงมาถามหัวใจประชาชนว่า 11 ปีที่เราต้องอยู่ในสภาพหนีเสือปะจระเข้ แม้มีชัยชนะช่วงสั้นๆ แต่แพ้กันช่วงนานๆในแต่ละครั้งก็ตาม ซึ่งคงยากที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตเราได้ ถ้าเราไม่คิดเพื่อชาติบ้านเมืองกันอย่างแท้จริง 

อีกอย่าง หลายคนตั้งคำถามว่า เหตุที่ตนต้องคิดกับในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ เพราะรู้ว่าการต่อสู้กับรัฐบาลที่มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามในปี 53 ซึ่งเป็นเรื่องยากถ้าประชาชนทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกัน เพราะมีการแบ่งแยกแล้วปกครองประชาชนมาตลอด ดังนั้น เราจึงต้องปรับวิธีการสู้กับเผด็จการที่เปลี่ยนแปลงวิธีการตลอดเวลาเช่นกัน 

รวมทั้งย้ำว่า ฝ่ายประชาชนที่มาสู้กับเผด็จการเป็นเรื่องอาสา แต่พวกเผด็จการมาสู้กับประชาธิปไตย กลับเป็นคำสั่งที่เต็มไปด้่วยผลประโยชน์และอำนาจ จึงสู้ยากในระยะยาว ดังนั้น สิ่งสำคัญ จึงต้องปรับยุทธวิธีเพื่อนำไปสู่ชัยชนะให้กับฝ่ายประชาธิปไตยทุกฝ่าย 

วันนี้เรากำลังต่อสู้กับระบอบประยุทธ์ เป็นการปกครองของประยุทธ์ โดยประยุทธ์ และเพื่อประยุทธ์ รวมถึงพวกประยุทธ์ที่แก้ปัญหาชาติไม่ได้เลย ดังนั้นการปรับวิธีการไม่ใช่การเปลี่ยนจุดยืน เรายังมีจุดยืนเพื่อประชาธิปไตย แต่เราต้องการชัยชนะให้เกิดกับฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าไม่สามัคคีประชาชน ทุกฝ่าย เราจะไม่สามารถเปลี่ยนประวัติศาสตร์อันเลวร้ายนี้ได้ ตนจึงเชื่อว่าประชาชนไม่เคยเปลี่ยน ถึงนักการเมืองเปลี่ยน ทหารเปลี่ยนสลับขึ้นมาปกครอง ส่วนประชาชนยังเป็นประชาชนอยู่วันยังค่ำ 

"ไม่ว่าใครจะเข้ามามีอำนาจ ถึงประชาชนสู้ก็ตาย ไม่สู้ก็เดือดร้อน สู้ชนะประชาชนก็เป็นประชาชนเหมือนเดิม ซึ่งเป็นโลกความเป็นจริง อีกทั้ง บทเรียนในพฤษภา 53 นั้น ถ้าเราไม่ยุติการชุมนุมจะมีคนตายเพิ่มอีกจำนวนมาก ผมพูดขณะนั้นว่า เป็นความตายที่เกิดขึ้นกับคนอื่น ไม่ใช่ความตายที่เกิดกับตัวเอง จึงไม่ทนเห็นการตายเพิ่มมากขึ้น เราจึงยอมแพ้ แต่ไม่ได้แพ้ และความตายจึงเป็นชะตากรรมใน พ.ศ.นั้น แม้จะมีน้ำตานองหน้ากับความอำมหิตโหดเหี้ยมก็ตาม

ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ เพราะหลังจากนั้น ประชาชนได้สำแดงชัยชนะในวันเลือกตั้ง และเป็นบทเรียนถึงวันประชาชนลุกขึ้นมาก็ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ถึงเป็นชัยชนะช่วงสั้นๆก็ตาม อีกอย่างเรารับรู้ว่า เราต้องใจกว้างไปร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อฟาดฟันกับเผด็จการ ถ้าใจเราเล็กกว่า เราไม่มีวันชนะเผด็จการได้เลย

“ผมไม่เคยเปลี่ยน จุดยืนก็ไม่เปลี่ยน เพียงแต่ต้องการเป้าหมายการชนะ และสิ่งที่เราไม่เคยลืมก็ไม่มีอะไรต่างกัน คนที่ผ่านในเหตุการณ์นี้ไม่มีใครลืม ผมไม่ลืมเหตุการณ์ปี 35 และ 53 เราอยู่กับความเจ็บปวดแสนนาน ดังนั้น สิ่งที่ต่อสู้มา 11 ปีเป็นความขมขื่น วันนี้เราต้องพกความหวังเดินไปในปีที่ 12 จะเป็นปีที่ประเทศไม่ได้อยู่ในสภาพแบบนี้”

นายจตุพร มีความหวังว่า บนหัวใจที่มีประชาธิปไตยที่งดงามยังอยู่ในใจของพวกเราทุกคน ในวันข้างหน้าเป้าหมายมีความจำเป็นมากที่สุด บทเรียนจะเป็นพลังที่มีคุณค่า พร้อมเชื่อว่าถ้าคนไทยจับมือสามัคคีกันสู้กับเผด็จการ และความอำมหิตจะเป็นเช่นไร ก็ไม่สามารถทัดทานพลังของประชาชนได้ แต่ประชาชนต้องไม่แยกฝ่าย เราต้่องสามัคคีกันเป็นส่วนใหญ่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"