เผยคนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน กรมสุขภาพจิตย้ำให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มเป็น โอกาสหายมีสูง พร้อมแนะหลักปฏิบัติตัว 8 ประการ อาทิ อย่าพยายามบังคับตัวเอง หรือตั้งเป้าหมายสูงเกินไป อย่าตัดสินใจในเรื่องสำคัญในชีวิตมากๆ ขณะมีอาการไม่ควรตำหนิตัวเอง
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปัญหาโรคซึมเศร้าว่า ผลการศึกษาของกรมสุขภาพจิต คาดว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 3 หรือมีประมาณ 1.5 ล้านคน แต่เข้าถึงการรักษายอดสะสมจนถึงขณะนี้เกือบร้อยละ 59 อีกร้อยละ 41 ยังไม่ได้รับการดูแลรักษา ซึ่งภาวะซึมเศร้านี้จัดเป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่คนมีจิตใจอ่อนแอ ต้องเข้ารับการรักษาโดยการกินยาควบคุมสารสื่อประสาทให้ทำงานเป็นปกติ ซึ่งมีบริการที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่งทั่วประเทศ ใช้เวลารักษาอย่างน้อย 6-9 เดือน ควบคู่กับกระบวนทางการแพทย์ เช่น ทำจิตสังคมบำบัด ร่วมด้วย และเมื่ออาการเข้าสู่สภาวะปกติดีแล้ว สามารถดูแลตัวเองต่อโดยวิธีการอื่นๆ ได้ เช่น เข้าวัดปฏิบัติธรรม ออกกำลังกาย แต่ถ้าไม่รีบรักษา อาการซึมเศร้าจะเป็นมากและรุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ผู้ที่มีอาการปรึกษาแพทย์หรือจิตแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทั่วประเทศ อย่าอายหมอ เพราะเป็นการเจ็บป่วย ต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือโทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
ทางด้านนายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นภัยเงียบด้านสุขภาพ สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกอาชีพ มีอาการหลักที่ประชาชนสามารถสังเกตได้คือ 1.มีอารมณ์เศร้า หดหู่ ท้อแท้ ซึม หงอย ทั้งที่ตัวเองรู้สึก หรือคนอื่นก็สังเกตเห็น และ 2.เบื่อ ไม่อยากทำอะไร หรือทำอะไรก็ไม่สนุกเพลิดเพลินเหมือนเดิม ร่วมกับมีอาการอื่นๆ เช่น เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป หลับยาก หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับมากไป เป็นต้น หากไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง อาการจะคงอยู่นานเป็นเดือน เรื้อรังเป็นปี และกลับเป็นซ้ำได้บ่อย หากมีอาการซึมเศร้ารุนแรง อาจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่าตัว
นายแพทย์ณัฐกรแนะนำว่า ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าและอยู่ระหว่างการรักษา ขอให้กินยาอย่างต่อเนื่องครบตามแพทย์สั่ง และขอให้ยึดหลักปฏิบัติ 8 ประการดังนี้ 1.อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป หรือรับผิดชอบมากเกินไป 2.แยกแยะปัญหาใหญ่ๆ พร้อมทั้งจัดเรียงความสำคัญก่อนหลังและลงมือทำเท่าที่สามารถทำได้ 3.อย่าพยายามบังคับตัวเองหรือตั้งเป้ากับตัวเองสูงเกินไป 4.พยายามทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น 5.เลือกทำกิจกรรมที่จะสร้างความรู้สึกที่ดีหรือเพลิดเพลินและไม่หนักเกินไป เช่น ออกกำลังกายกายเบาๆ ฟังเพลง 6.อย่าตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมากๆ เช่น หย่าร้าง ลาออกจากงาน โดยไม่ได้ปรึกษาผู้ใกล้ชิดที่เคารพหรือไว้ใจ ดีที่สุดคือควรเลื่อนการตัดสินใจออกไปจนกว่าอาการซึมเศร้าจะหายไปหรือดีขึ้นมาก 7.ไม่ควรตำหนิตัวเอง 8.อย่ายอมรับความคิดในแง่ร้ายที่เกิดขึ้นขณะมีอาการซึมเศร้า เพราะความคิดที่เกิดขึ้นมาจากการเจ็บป่วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |