ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากข้อมูลพบว่าในปี 2568 จะมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ทำให้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่เสื่อมลงทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยมักพบโรคประจำตัวอย่างน้อย 1 โรค และประสบปัญหาทางด้านจิตใจที่เกิดจากการสูญเสียบุคคลใกล้ชิด รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ทางสังคม ทำให้ผู้สูงอายุเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่ต้องรับบริการด้านสุขภาพ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้สูงอายุมักจะเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ได้แก่ 1.โรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน 2.โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด 3.โรคข้อต่อเสื่อมและโรคกระดูกพรุน 4.โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบสมองและระบบประสาท เช่น ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน 5.โรคที่เกี่ยวกับปัญหาทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ และ 6.โรคติดเชื้อ
"สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่หน่วยงานสาธารณสุขต้องเตรียมความพร้อมในการให้บริการทางสังคมและสุขภาพ สอดคล้องกับแผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ.2552 และนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบันและอนาคต โดยผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพ เท่าเทียม เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าสู่ภาวะวัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ"
นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลหนึ่งที่มีผู้สูงอายุมารับบริการเป็นจำนวนมาก ทั้งแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ซึ่งในปี 2558-2560 แผนกผู้ป่วยนอกมีผู้สูงอายุมาใช้บริการมากกว่า 3 แสนรายต่อปี สำหรับแผนกผู้ป่วยในมีผู้สูงอายุมาใช้บริการกว่า 1 หมื่นรายต่อปี
โดยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั้งสองแผนก โรงพยาบาลราชวิถีเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุ จึงได้จัดตั้ง “คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุ” เพื่อให้บริการรักษาและดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม โดยเน้นการให้บริการผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะสมองเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน ตลอดจนผู้สูงอายุที่ป่วยและทานยามากกว่า 4 ชนิดขึ้นไป สำหรับคลินิกสุขภาพผู้สูงอายุ โรงพยาบาลราชวิถี เปิดให้บริการในทุกวันพฤหัสบดี เวลา 08.00-16.00 น. ณ ห้องตรวจอายุรกรรม ชั้น 9 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2354-8108 ต่อ 2128 หรือ 06-1951-9426
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตนเอง โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน เน้นอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์โดยเฉพาะปลา เพิ่มแร่ธาตุที่ผู้สูงอายุมักขาด ได้แก่ แคลเซียม สังกะสี และเหล็ก ซึ่งมีอยู่ในนม ถั่วเหลือง ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัมผัสอากาศที่บริสุทธิ์ หลีกเลี่ยงอบายมุข ได้แก่ บุหรี่และสุรา ควบคุมน้ำหนักตัว ลดความอ้วน หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เช่น การซื้อยามากินเอง หรือกินยาเดิมที่เก็บไว้ หรือรับยามาจากผู้อื่น และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี หากพบอาการผิดปกติต่างๆ ควรรีบพบแพทย์ และนอกจากการดูแลสุขภาพกายแล้ว สุขภาพใจเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ควรทำจิตใจให้แจ่มใส มองโลกในแง่ดี ไม่เครียดหรือวิตกกังวลกับเรื่องต่างๆ มากเกินไป เพียงเท่านี้จะช่วยให้เป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดีอย่างแท้จริง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |