"กรมพระศรีสวางควัฒนฯ" พระราชทานยาฟาวิพิราเวียร์ช่วยผู้ป่วยหลักสี่ ศบค.พบติดเชื้อใหม่ 2,473 เสียชีวิตนิวไฮ 35 ราย เศร้า! โควิดคร่าชีวิตทารกวัย 2 เดือน สธ.แจงป่วยมีโรคหัวใจแต่กำเนิด “บิ๊กตู่” สั่งเร่งตรวจเชิงรุกเรือนจำทั่วประเทศ ราชทัณฑ์แจงเจอเพิ่ม 1,408 ราย พุ่ง 11,670 คน หวั่นคุก กทม.ไม่พอกักตัวนักโทษใหม่
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม เวลา 13.34 น. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พระราชทานพระวโรกาสให้ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร, นพ.สุรินทร์ นัมคณิสรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคลองสามวา, นพ.สมเกียรติ อัศวโรจน์พงษ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง พร้อมคณะ เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานยาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 10,000 เม็ด เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ชุมชนและผู้ใช้แรงงานที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานครต่อไป
ในโอกาสนี้ มีพระดำรัสพระราชทานกำลังใจแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานช่วงวิกฤติโควิด-19 ทั้งทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เป็นกำลังหลักทุ่มเทดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเต็มกำลังความสามารถ อีกทั้งต้องรับภาระและความเสี่ยงสูงในการเป็นแนวหน้าต่อสู้กับสถานการณ์ดังกล่าว และพระราชทานกำลังใจแก่ประชาชนและผู้ป่วยให้หายดี กลับมาใช้ชีวิตตามปกติกับครอบครัวอันเป็นที่รักได้โดยเร็ว
ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,473 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,770 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,423 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 347 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 680 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 23 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 113,555 ราย หายป่วยสะสม 69,918 ราย เฉพาะวันนี้หายป่วย 2,718 ราย อยู่ระหว่างรักษา 42,988 ราย อาการหนัก 1,150 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 384 ราย
มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 35 ราย เป็นชาย 17 ราย หญิง 18 ราย อยู่ใน กทม. 16 ราย, เชียงราย สงขลา สมุทรปราการ จังหวัดละ 2 ราย, อุบลราชธานี สระแก้ว ศรีสะเกษ ระยอง ชลบุรี ปทุมธานี ชัยภูมิ ลพบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ชุมพร สระบุรี สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวความดันสูง เบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อจากคนในครอบครัว ให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 649 ราย
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่จากต่างประเทศ มี 2 ราย เป็นหญิงไทย 2 ราย มาจากกัมพูชา ลักลอบเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติ และจากข้อมูลวันที่ 17 พ.ค. พบลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย 107 ราย ซึ่งจากการสอบถามฝ่ายความมั่นคงยังคงทำงานอย่างเข้มงวด จึงขอร้องหากเป็นคนไทยจะเดินทางเข้าประเทศ ขอให้ใช้ช่องทางที่ถูกต้อง และขอแสดงความรู้สึกไม่ดีกับผู้ที่ลักลอบเข้าทางช่องทางธรรมชาติ ท่านเป็นผู้เสี่ยงนำเชื้อเข้ามา
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุดวันที่ 18 พ.ค. ได้แก่ กทม. 873 ราย, นนทบุรี 155 ราย, สมุทรปราการ 121 ราย, ปทุมธานี 117 ราย, สมุทรสาคร 63 ราย และจากข้อมูลยังพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งมาจากการสังสรรค์ รวมถึงการเล่นสนุกเกอร์ในพื้นปิด เพดานต่ำ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก จึงขอให้ระมัดระวังด้วย ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยและหายระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค. กทม.มีผู้ป่วยรายใหม่ 6,644 ราย หายป่วย 5,322 ราย, นนทบุรี มีผู้ป่วยรายใหม่ 1,212 ราย หายป่วย 384 ราย, ปทุมธานี มีผู้ป่วยรายใหม่ 640 ราย หายป่วย 624 ราย, สมุทรปราการ ผู้ป่วยใหม่ 833 ราย หายป่วย 658 ราย, นครปฐม ผู้ป่วยรายใหม่ 130 หายป่วย 168 ราย, สมุทรสาคร ผู้ป่วยรายใหม่ 431 ราย หายป่วย 439 ราย ขณะที่จังหวัดอื่นๆอีก 71 จังหวัด มีผู้ป่วยรายใหม่ 4,207 ราย หายป่วย 4,653 ราย ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะนำไปสู่การบริหารจัดการเตียงต่อไป อย่างไรก็ตาม วันเดียวกัน มีจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ถึง 23 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น อุบลราชธานี พิษณุโลก ลำพูน ลำปาง อ่างทอง นครพนม เพชรบูรณ์ ตราด น่าน กาฬสินธุ์ ชุมพร พะเยา เลย แพร่ อุตรดิตถ์ ชัยนาท หนองคาย พังงา อำนาจเจริญ หนองบังลำภู บึงกาฬ และสตูล
โควิดคร่าทารก 2 เดือน!
ขณะที่พื้นที่ กทม. ยังคงมีเขตที่ต้องจับตามอง 19 เขต มี 21 คลัสเตอร์สำคัญ โดยคลัสเตอร์ที่ยังพบผู้ติดเชื้อสูงอยู่คือแคมป์คนงานหลักสี่ ตรวจเชิงรุกวันที่ 17 พ.ค. ประมาณ 1,600 ราย พบติดเชื้อ 1,107 ราย คิดเป็น 66.41% จากนี้ต้องติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดต่อไป นอกจากนี้ ต้องจับตาในเขตจตุจักร ที่เป็นคลัสเตอร์ราชทัณฑ์ เพราะพื้นที่เรือนจำทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 13-18 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 11,428 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เสียชีวิต 35 ราย พบว่ามีตั้งแต่อายุ 2 เดือนถึง 93 ปี ทั้งนี้ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีผู้เสียชีวิตจากโควิดอายุน้อยสุด 2 เดือน ว่า จากการติดตามข้อมูลพบว่าหนูน้อยคนดังกล่าวมีภาวะเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด ผนังหัวใจรั่ว และเมื่อติดเชื้อโควิดจึงทำให้มีอาการรวดเร็วรุนแรงและเสียชีวิตในที่สุด คาดว่าเป็นการติดเชื้อโควิดจากบุคคลในครอบครัว ส่วนพ่อแม่ของเด็กนั้น ขณะนี้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์โควิดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังอยู่ในระดับที่ทรงตัว แม้ว่าเราจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อในบางพื้นที่ แต่ยังมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นอีก ทำให้ต้องเรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเป็นการด่วนในช่วงเช้าของวันที่ 17 พ.ค. เพื่อรับทราบข้อมูลล่าสุด และหาทางแก้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งผลของการประชุมสรุปได้ว่า จะเร่งแก้ไขปัญหาการติดเชื้อในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการตรวจเชิงรุกให้ได้มากและเร็วที่สุด และจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในเรือนจำ เพื่อคัดแยกผู้ป่วยออกมารักษา หากมีผู้มีอาการรุนแรง จะนำออกมาเข้ารักษาในโรงพยาบาลเฉพาะทางตามระบบต่อไป โดยจะให้การดูแลรักษาผู้ที่ติดเชื้ออย่างดีที่สุดด้วยความเท่าเทียม
ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะยังเดินหน้าต่อไปในแนวทางที่เราทำสำเร็จมาแล้ว คือการระดมตรวจเชิงรุก คัดแยกผู้ป่วย ส่งตัวรักษา และระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งต้องควบคู่ไปกับการบังคับใช้มาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด ซึ่งการระบาดในขณะนี้ เกิดขึ้นจากพื้นที่ที่มีการรวมตัวกันอย่างแออัด จึงได้สั่งการให้ทาง ศบค.เร่งออกตรวจพื้นที่ที่มีโอกาสเสี่ยงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นแคมป์คนงานก่อสร้าง โรงงาน และสถานที่อื่นๆ ใน กทม.ทั้งหมด ซึ่งสถานที่ที่เกิดการระบาด รวมทั้งในเรือนจำ เราจะใช้แนวทางบับเบิลแอนด์ซีล คือการปิดกั้นการเดินทางเข้า-ออกของคนในสถานที่นั้นๆ เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไปสู่ภายนอก ซึ่งทีมแพทย์เชื่อว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยเร็ว โดยมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดวันต่อวัน
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ยังคงทรงตัว แต่สิ่งที่ต้องให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนก็คือ มีจำนวนผู้ป่วยที่หายป่วยในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก จนถึงวันนี้มีเกือบ 7 หมื่นคนแล้ว เฉพาะระลอกนี้มีมากกว่า 4 หมื่นคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์
ขู่ทำผิดกฎปิดร้านทันที
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มาตรการผ่อนคลาย เช่น การอนุญาตให้พื้นที่สีแดงเข้มนั้นสามารถนั่งทานอาหารได้ร้านได้ โดยจำกัดจำนวนคน เป็นความพยายามในการช่วยเหลือประชาชนที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งมีจำนวนมาก และกระทบกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน โดยผ่านการพิจารณาจากคณะที่ปรึกษาอย่างรอบคอบ และต้องมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด เช่นการจำกัดคนไม่เกิน 1 ใน 4 และเว้นระยะห่าง หากพบว่าร้านใดไม่ดำเนินการตามมาตรการจะสั่งปิดในทันที หรือมีการทบทวนมาตรการ จึงขอให้เจ้าของร้านอาหารทุกร้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดำเนินการอย่างเข้มงวด และเจ้าหน้าที่คอยดูแล ควบคุมอย่างใกล้ชิดด้วย นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหม และกองทัพไทยควบคุมการลักลอบเข้าประเทศจากชายแดนอย่างเข้มงวดสูงสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ครม. ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมที่เกิน 1 แสนรายว่า อยากให้ดูตัวเลขว่าเป็นอย่างไร ผู้ติดเชื้อกี่คน หายป่วยกี่คน พยายามหามุมดีๆ มานำเสนอ ส่วนที่มีการเสนอให้ล็อกดาวน์นั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะจำเป็นต้องดูแลคนทำงาน ลูกจ้าง และหากผ่อนคลายมาตรการเปิดให้รับประทานอาหารในร้านได้ 25 แล้วไม่พบผู้ติดเชื้อที่มาจากร้านอาหาร อาจจะมีมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมเข้ามาอีก เช่น ขยายปริมาณนั่งรับประทานอาหารในร้าน แต่ถ้าพบว่ามีผู้ติดเชื้อต้องทบทวนอีกครั้งว่าอาจต้องปิดเป็นเวลา 14 วันหรือไม่ ขณะที่เรื่องการแพร่ระบาดในเรือนจำนั้น น่าจะจัดการไม่ยาก สามารถควบคุมได้อยู่แล้ว ขอให้กระทรวงยุติธรรมกับกระทรวงสาธารณสุขประสานงานแก้ปัญหากันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังให้มีการยกเลิกทัวริสต์บับเบิล หรือการท่องเที่ยวแบบจับคู่ที่รัฐบาลจะทำก่อนหน้านี้ออกไปก่อน
นพ.วีรกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวผ่านรายการ NBT รวมใจสู้ภัยโควิด-19 @ทำเนียบรัฐบาล ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในเรือนจำ ช่วงหนึ่งว่า ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดทั่ว กทม.และปริมณฑลในต้นเดือน พ.ค. กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจเชิงรุก 100% ใน 4 เรือนจำในพื้นที่ กทม.จำนวน 2 หมื่นคน และทำให้ผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยสันนิษฐานเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นจำนวนมากเกิดจากระยะฟักตัวของโควิดนานขึ้น ซึ่ง 14 วันแรกของการกักตัวตรวจไม่พบ แต่มาตรวจพบในการกักตัว 21 วัน ประกอบกับมีผู้ต้องขังในเรือนจำออกไปภายนอก เช่น การเดินทางไปกลับศาลจำนวนบ่อยครั้ง รวมทั้งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอก
ในขณะนี้ใช้มาตรการควบคุม งดให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง งดให้ผู้ต้องขังออกไปทำงานข้างนอก และห้ามให้บุคคลภายนอกเข้ามาทำกิจกรรมภายในเรือนจำ ขณะเดียวกันได้แจ้งไปยังศาลยุติธรรมให้ชะลอการพิจารณาคดีในการเรียกตัวผู้ต้องขังออกไป ซึ่งศาลเห็นชอบ และอาจใช้วิธีการ Zoom หรือคอนเฟอเรนซ์ไปก่อนในรายที่มาจากแดนติดเชื้อ รวมทั้งการประกันตัวอาจจะลดหลักทรัพย์หรือไม่ใช้หลักทรัพย์ในคดีที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้ เชื่อว่าสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ แต่ยังมีปัญหาสำคัญที่ยังแก้ไขไม่ได้ของกรมราชทัณฑ์ คือ การรับผู้ต้องขังรายใหม่ ที่ขณะนี้สถานการณ์ข้างนอกมีผู้ติดเชื้อมาก ถ้าเรือนจำยังรับผู้ต้องขังรายใหม่เข้ามาอีก จะทำให้บริหารงานอย่างยากลำบาก เพราะไม่รู้ว่าจะนำผู้ต้องขังส่วนนี้ไปแยกกักในส่วนใด
นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงว่า มีผู้ต้องขังติดเชื้ออยู่ระหว่างการรักษา 11,670 ราย จากเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ จำนวน 13 แห่ง โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,408
ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้ขออนุมัติงบประมาณ 411,653,300 บาท ไปที่สำนักงบประมาณ เพื่อนำมาใช้จัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์และยาฟ้าทะลายโจร เพื่อบรรเทาเยียวยาควบคุมการแพร่ระบาดและรักษาอาการผู้ต้องขังเบื้องต้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |