ถาม-ตอบกับ ‘หมอแก้ว’ ว่าด้วยคนไทยกับการฉีดวัคซีน


เพิ่มเพื่อน    

 

       คุณหมอธนรักษ์ ผลิพัฒน์ หรือที่นักข่าวรู้จักดีในชื่อ “หมอแก้ว” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นหนึ่งใน “นักรบเสื้อขาว” ในแนวหน้าของการทำสงครามกับโควิด-19 ขณะนี้

            ผมอ่านข้อความของคุณหมอเป็นประจำ มีข้อมูลและความคิดเห็นที่น่าสนใจเสมอ

            ประเด็นเรื่องคนไทยจำนวนหนึ่งยังมีความลังเลว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ เป็นหัวข้อที่สำคัญ

            วันก่อนผมอ่านพบที่คุณหมอแก้วได้ตอบข้อสงสัยที่รวบรวมมาจากคนไทยหลายฝ่าย

            ผมขอนำเอาบางตอนมาเล่าให้ฟังครับ

            ถาม: คุณหมอฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง ฉีดวัคซีนอะไร มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

            หมอแก้ว: ผมฉีดแล้วครับ ฉีดครบ ๒ เข็มแล้ว ฉีดวัคซีนซิโนแวค ฉีดทั้ง ๒ เข็มก็ไม่ได้มีผลข้างเคียงอะไรครับ ฉีดเช้า บ่ายก็ไปทำงานต่อได้ วันรุ่งขึ้นก็ไม่มีอะไร สามารถทำงานได้ตามปกติครับ

            ถาม: คุณหมอมั่นใจวัคซีนซิโนแวคหรือคะ

            หมอแก้ว: มั่นใจครับ ส่วนตัวผมคิดอย่างนี้ครับ

            ประการแรก วัคซีนของซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีที่เราคุ้นเคย เป็นวัคซีนเชื้อตาย เทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่เราใช้มาหลายปีแล้ว ปัญหาค่อนข้างน้อย

            ที่ผ่านมาพบว่ามีอาการไม่พึงประสงค์ค่อนข้างน้อย อาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงยิ่งพบได้น้อยมากๆ

            ถ้านับถึงวันนี้ ประเทศไทยเราได้วัคซีนซิโนแวคไปแล้วกว่า 1 ล้าน 3 แสนโดส (ตัวเลขเมื่อสัปดาห์ก่อน) ยังไม่มีใครเสียชีวิตจากวัคซีนเลย อาการแพ้เกิดขึ้นบ้าง ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง ส่วนที่แพ้รุนแรงก็ตรวจพบได้เร็วและสามารถจัดการได้เป็นอย่างดี

            ข้อมูลจากประเทศชิลี ซึ่งมีการใช้วัคซีนทั้งซิโนแวคและไฟเซอร์ พบว่า

            - วัคซีนทั้ง ๒ ชนิดก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงได้ แต่พบไม่บ่อย

            - ซิโนแวคก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงน้อยกว่าวัคซีนของไฟเซอร์ โดย

            - วัคซีนซิโนแวคมีอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง 2.7 ต่อประชากรแสนคนที่ได้รับวัคซีน

            - ในขณะที่ไฟเซอร์มีอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง 10.3 ต่อประชากรแสนคนที่ได้รับวัคซีน

            ประการที่ ๒ วัคซีนมีประสิทธิผลป้องกันโรคได้

            จากข้อมูลที่ซิโนแวคยื่นให้กับองค์การอนามัยโลก

            วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการประมาณ 50% ถึง 84% และ

            สามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ประมาณร้อยละ 85% ถึง 100% ขึ้นอยู่กับว่าทำการวิจัยที่ประเทศใด

            ถาม: แล้วทำไมการวิจัยวัคซีนที่ทำการวิจัยในประเทศต่างๆ จึงมีค่าประสิทธิผลที่แตกต่างกัน

            หมอแก้ว: ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยครับ เช่น ความชุกของการติดเชื้อในขณะนั้น ความรวดเร็วของการระบาด ลักษณะประชากรที่นำมาใช้ในการทำวิจัย และที่สำคัญมากๆ คือ แต่ละการวิจัยใช้วิธีการนับผู้ป่วยไม่เหมือนกัน บางการศึกษานับผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง บางการศึกษาวิจัยนับผู้ป่วยที่อาการค่อนข้างเบา บางการศึกษารวมผู้ติดเชื้อไม่มีอาการเข้าไปด้วย

            นอกจากนี้ สายพันธุ์ของเชื้อที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่ขณะนั้นก็มีผลต่อค่าประสิทธิผลของวัคซีนด้วยเช่นกัน

            ทั้งหมดล้วนทำให้ค่าประสิทธิผลของวัคซีนที่ได้แตกต่างกัน ทำให้เราไม่สามารถจะเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนที่ทำการศึกษาในบริบทที่แตกต่างกันได้

            ขนาดตัวเลขประสิทธิผลของวัคซีนชนิดเดียวกัน ทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ยังให้ผลที่แตกต่างกันได้เลย

            วัคซีนซิโนแวคที่รายงานผลการวิจัยว่ามีประสิทธิผลค่อนข้างต่ำ ประมาณร้อยละ 50 เป็นการศึกษาวิจัยที่ประเทศบราซิลซึ่งเชื้อที่กำลังแพร่ระบาดอยู่เป็นเชื้อสายพันธุ์บราซิล

            ในขณะที่การวิจัยในประเทศชิลี ซึ่งรายงานประสิทธิผลของวัคซีนที่ร้อยละ 60 เป็นการทำการวิจัยในขณะที่เชื้อที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนั้นเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์บราซิล

            เมื่อเห็นผลการวิจัยจากหลายๆ ที่ ดูข้อมูลจากหลายๆ แหล่งก็ค่อนข้างโอเคครับว่าวัคซีนซิโนแวคมีอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงค่อนข้างต่ำ

            และมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการ และการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงได้ในระดับที่น่าพอใจ

            ทั้งยังน่าจะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อังกฤษและสายพันธุ์บราซิลได้ระดับหนึ่งด้วย

            ถาม: พอเข้าใจแล้วว่า เราไม่ควรนำตัวเลขผลการวิจัยจากรายงานที่ทำการวิจัยแยกกันมาเปรียบเทียบกัน ถ้าอย่างนั้นตัวเลขประสิทธิผลของวัคซีนของไฟเซอร์ที่สูงมากถึง 95% ก็ไม่ได้แปลว่าไฟเซอร์ดีกว่าวัคซีนชนิดอื่นหรือเปล่าคะ

            หมอแก้ว: การจะตอบว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่าตัวไหนจริงๆ สามารถทำได้ ถ้าเราสามารถนำวัคซีน ๒ ชนิดมาทำการวิจัยเชิงทดลองเปรียบเทียบกันแบบตัวต่อตัวในงานวิจัยชิ้นเดียวกันที่ทำการศึกษาในประชากรเดียวกัน ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลที่เหมือนกัน และมีสภาพแวดล้อมอื่นเหมือนกัน

            ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการทำงานวิจัยแบบนี้ออกมา ทำให้การเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีน ๒ ชนิด ทำได้ยากมาก

            ขอยกตัวอย่างแล้วกันครับ เช่น

            ถ้าเราดูตัวเลขประสิทธิผลของไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้าที่ต่างคนต่างทำวิจัย จะพบว่าไฟเซอร์รายงานประสิทธิผลของตัวเองอยู่ที่ 95% และแอสตร้าเซนเนก้ารายงานประสิทธิผลวัคซีนของตัวเองอยู่ที่ 62-90% โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 70% ถ้าดูอย่างนี้บางคนก็อาจจะสรุปว่าไฟเซอร์ดีกว่าแอสตร้าเซนเนก้า

            ต่อมา มีรายงานผลงานวิจัยเชิงสังเกตชิ้นหนึ่งออกมา โดยทำการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนทั้งไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้าในประชากรเดียวกัน

            และเขาก็รายงานเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนทั้ง ๒ ชนิดหลังจากที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไป 28-34 วัน พบว่าวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิผลสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 85% ในขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิผลสามารถป้องกันโรคได้ 94%

            อย่างนี้ก็อาจจะพอพูดได้ว่าวัคซีนทั้ง ๒ ชนิดนี้เมื่อนำมาใช้จริงในภาคสนามในประชากรเดียวกันก็พบว่ามีประสิทธิผลพอๆ กัน ดูแอสตร้าเซนเนก้าจะมีภาษีเหนือกว่าไฟเซอร์เล็กน้อยด้วยซ้ำไป

            ในขณะที่งานวิจัยเชิงสังเกตอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเก็บข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนในภาคสนาม เมื่อนำวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและวัคซีนของไฟเซอร์มาใช้งานจริง ก็รายงานผลออกมาว่าวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์มีประสิทธิผลประมาณ 65-70% และวัคซีนทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิผลในภาคสนามไม่แตกต่างกัน

            ตรงนี้ผมแค่อยากจะบอกว่า การพยายามเปรียบเทียบคุณภาพของวัคซีนแบบแยกกันดู แล้วพยายามมาบอกว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่าตัวไหน จริงๆ แล้วไม่สามารถทำได้ และสามารถก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้มาก

            ในปัจจุบันที่มีกระแสความคิดที่ว่าวัคซีนไฟเซอร์ดีที่สุด ก็น่าจะมาจากความเข้าใจผิดแบบนี้

            ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นยังไงเราก็ยังไม่รู้แน่ชัด เรายังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันแน่นหนักว่ามันเช่นนั้นจริงๆ เลย

            งานวิจัยที่ผมยกตัวอย่างมาเพื่อแสดงว่าประสิทธิผลของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับไฟเซอร์อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ก็เป็นเพียงข้อมูลชุดแรกๆ ที่เพิ่งออกมา เราคงต้องติดตามดูข้อมูลเหล่านี้กันต่อไปครับ.

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"