ติดเชื้อใหม่เฉียดหมื่น นายกฯสั่งสกัดโควิดในเรือนจำระบาด15แหง่ รวม10,384ราย


เพิ่มเพื่อน    

  ไทยติดเชื้อใหม่พุ่งทุบสถิติเฉียดหมื่น! รั้งอันดับ 92 ของโลก นายกฯ สั่ง ยธ.-สธ.เข้มมาตรการสกัดโควิดในเรือนจำ ศบค.พบ 25 เขตระบาดมากเพิ่มเร็ว ห่วงคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้างหลักสี่ "สมศักดิ์" เผยโควิดระบาดคุก 15 แห่ง ผู้ต้องขังติดแล้วรวม 10,384 คน วางกฎเข้ม 10 ข้อ ปัดเด้งอธิบดีราชทัณฑ์-ผบ.เรือนจำเชียงใหม่ แค่คาดโทษย้ำห้ามปิดข้อมูล ขอ "อนุทิน" เร่งฉีดวัคซีนนักโทษทุกคน คุกเชียงใหม่ยันคุมอยู่ 28 พ.ค.คืนพื้นที่ปลอดภัย "ในหลวง" พระราชทานเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่พร้อมระบบ Ai แก่เรือนจำเชียงใหม่ช่วยโควิด

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม เวลา 12.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,635 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,773 ราย ติดเชื้อจากเรือนจำ 6,853 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 111,082 ราย หายป่วยสะสม 67,200 ราย อยู่ระหว่างรักษา 43,268 ราย อาการหนัก 1,226 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 400 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 25 ราย  อยู่ใน กทม. 18 ราย สุพรรณบุรี, สุโขทัย, สมุทรสาคร,  สมุทรปราการ, นนทบุรี, นครสวรรค์, ชัยนาท จังหวัดละ 1  ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง เบาหวาน  หลอดเลือดสมอง โรคไต ไขมันในเลือดสูง หัวใจ ภาวะอ้วน  ปอดเรื้อรัง มะเร็ง ปัจจัยเสี่ยงติดจากคนในครอบครัว เดินทางไปสถานที่ระบาด สถานที่แออัด อาชีพเสี่ยง ขับรถรับจ้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 614 ราย ส่วนสถานการณ์โลก ไทยอยู่อันดับ 92 ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 163,691,053 ราย เสียชีวิตสะสม 3,392,588 ราย    
    สำหรับผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศจำนวน  9 ราย ในจำนวนนี้มี 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 60 ปี อาชีพรับจ้าง ลักลอบเข้ามาจากกัมพูชาผ่านช่องทางธรรมชาติ ยืนยันว่าเราจะคุมเข้มชายแดนเต็มที่ หากเป็นคนไทยไม่ต้องลักลอบเข้ามา ขอให้เข้ามาช่องทางปกติ เราพร้อมดูแลอย่างดี ขอให้แสดงตัว โดยตัวเลขเมื่อวันที่ 16  พ.ค. พบว่ามีผู้ลักลอบเข้ามารวมทั้งสิ้นถึง 87 ราย นอกจากนี้ในส่วนของเรือนจำ ขณะนี้มีการตรวจเชื้อในเรือนจำและสถานที่ต้องขัง 8 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 24,357 ราย  พบติดเชื้อ 10,748 ราย รอรายงานผล 2,235 ราย โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการโดยตรงให้กระทรวงยุติธรรมกับกระทรวงสาธารณสุขจับมือดูแลอย่างใกล้ชิด ให้มีมาตรการเข้มข้นที่จะต้องดูแลผู้ต้องขังหลายแสนคน  
    ส่วน 5 จังหวัดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม.  1,843 ราย สมุทรปราการ 155 ราย ปทุมธานี 146 ราย  นนทบุรี 129 ราย สมุทรสาคร 53 ราย โดย กทม.และปริมณฑลมีผู้ติดเชื้อรวมกัน 2,362 ราย ส่วนจังหวัดอื่นๆ  411 ราย อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมศูนย์บูรณาการการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ได้พุ่งเป้าไปที่พื้นที่ กทม. โดยสำนักอนามัยได้รายงานว่า กทม.ชั้นใน ได้แก่ เขตหลักสี่, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, คลองเตย,  ราชเทวี และห้วยขวางมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทั้งนี้ มีการเปรียบเทียบความเร็วและขนาดการแพร่ระบาด แยกรายเขตและที่อยู่เป็น 4 กลุ่ม คือ ปริมาณการระบาดไม่มากแต่เพิ่มเร็ว 17 เขต, ปริมาณการระบาดไม่มากและเพิ่มช้า เฝ้าระวังตามระบบ 2 เขต, ปริมาณการระบาดมากและเพิ่มเร็ว  25 เขต, การระบาดมากแต่เพิ่มช้า 6 เขต และมีทั้งหมด  28 คลัสเตอร์ กระจายอยู่ใน 19 เขต ซึ่งคลัสเตอร์ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นต่อวันของผู้ติดเชื้อสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่  แคมป์ก่อสร้างเขตหลักสี่, แฟลตดินแดงเขตดินแดง, ตลาดห้วยขวางเขตดินแดง คลองถมเซ็นเตอร์และวงเวียน 22 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และแคมป์คนงานก่อสร้างเขตวัฒนา  
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ค. มีการตรวจค้นหาเชิงรุกใน กทม.ไป 6 จุด จำนวน 5,642 ราย   พบเชื้อ 371 ราย หรือร้อยละ 6.58 ในที่ประชุมยังได้หยิบกรณีแคมป์คนงานก่อสร้างเขตหลักสี่มาหารือ ขณะนี้ตรวจหาเชื้อไป 1,667 ราย พบติดเชื้อ 885 ราย ในที่ประชุมมีความกังวลเพราะพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าวยังมีบริษัทที่เป็นซับคอนแทรกต์อีก 11 บริษัท และแคมป์อื่นๆ ของบริษัทอื่นๆ ในเขตดังกล่าวอีก 8 แคมป์ เขตหลักสี่จึงออกมาตรการควบคุมโรคและติดตามบริษัทซับคอนแทร็กต์ 11  บริษัทและสถานที่ก่อสร้าง 2 แห่ง  
    นอกจากนี้ ยังมีชุมชนรอบข้างที่ติดเชื้ออีก 6 ชุมชน  ได้แก่ ชุมชนแฟลตตำรวจอิสระ, ชุมชนอยู่แล้วรวย, ชุมชนแฟลตตำรวจส่วนกลาง, ชุมชนกองบัญชาการศึกษา,  ชุมชนคนรักษ์ถิ่น และชุมชนเปรมสุขสันต์ โดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ  (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. ได้มีการพูดคุยเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล เน้นย้ำไปที่ผู้นำชุมชนต้องช่วยให้คนในชุมชนมาช่วยกันดูแลความสะอาดและสุขอนามัยส่วนบุคคลได้
ปรับทีมโต้เฟกนิวส์
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 12.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เรียกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมทีมที่ปรึกษานายกฯ หารือที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ถึงกรณีตัวเลขระบาดในเรือนจำที่สูงมาก ซึ่งก่อนหน้านี้นายกฯ สั่งกำชับให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการควบคุมและรักษาผู้ติดโควิด-19  ให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งเร่งคัดกรองเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
    มีรายงานงานว่า ในการหารือครั้งนี้คณะแพทย์และที่ปรึกษานายกฯ แสดงความความกังวลในเรื่องการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในสถานการณ์โควิด-19 ช่วงนี้ โดยเสนอให้มีการสื่อสารที่รวดเร็วและสร้างความเข้าใจกับประชาชนมากที่สุด เช่น การชี้แจงข่าวปลอมอย่างรวดเร็ว รวมทั้งวางแนวทางทีมยุทธศาสตร์สื่อสารของรัฐบาลใหม่ โดยมี  ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา  คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค) นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ามาช่วยงานให้การสื่อสารเป็นไปอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
    วันเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้หารือถึงสถานการณ์การระบาดใน กทม. โดยพบการระบาด 27 คลัสเตอร์ ใน 17 เขต อยู่ระหว่างดำเนินการควบคุมโรค 20 คลัสเตอร์ และสามารถควบคุมได้แล้ว 7 คลัสเตอร์ โดยเขตที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด  10 อันดับแรก คือ  ดินแดง ห้วยขวาง บางเขน จตุจักร ลาดพร้าว บางแค คลองเตย วังทองหลาง วัฒนา บางกะปิ  นอกจากนี้เห็นควรให้ปิดตลาดคลองเตยต่อไปจนถึงวันที่  31 พ.ค. และเห็นชอบให้ 50 สำนักงานเขตสำรวจจำนวนคนงานก่อสร้างในแคมป์ให้เป็นปัจจุบัน พร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน นอกจากนี้จะมีการจัดประชุมผู้ประกอบการก่อสร้างในพื้นที่ กทม.
    ด้านคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข   รองประธาน คสช.เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบแนวทางตัดวงจรโควิดระบาดในชุมชน ด้วยการขยายการจัดตั้ง “ศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจ” ออกไปยังชุมชนแออัดทุกพื้นที่ใน กทม. ปริมณฑลและทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นสถานที่พักพิงรอการส่งตัวเข้ารักษา และพักฟื้นรับการส่งตัวกลับจากโรงพยาบาล รวมทั้งฟื้นฟูสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ สังคม ให้ผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชน ซึ่งนำร่องแห่งแรกที่วัดสะพานในชุมชนแออัดคลองเตย ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา
    ที่กรมราชทัณฑ์ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังอยู่กว่า 3 แสนคน และมีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานกว่า 1.3 หมื่นคน ซึ่งตั้งแต่เกิดการระบาด กรมราชทัณฑ์ได้ใช้นโยบายในการสกัดกั้นไม่ให้เกิดภาวะการติดเชื้อในเรือนจำ โดยสั่งห้ามเข้าออก, กักตัวผู้ต้องขังใหม่ กลับมาจากการรักษา หรือกลับมาจากไปศาล 14 วัน ก่อนจะปล่อยกลับเข้าแดนปกติ  โดยจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด 2 ครั้ง หากพบเชื้อจะได้พาไปรักษา
    สำหรับเรือนจำทั่วประเทศที่มีทั้งหมด 143 แห่งนั้น  เป็นสถานที่ปิด ไม่มีคนเข้าออก น่าจะควบคุมโรคได้ง่าย  แต่แท้จริงแล้วมีเจ้าหน้าที่ต้องควบคุมผู้ต้องขังไปรักษา หรือขึ้นศาลบ้าง ขณะที่สภาพภายในเรือนจำค่อนข้างคับแคบ มีปริมาณนักโทษจำนวนมาก เกือบจะเข้าสู่ภาวะนักโทษล้นคุก ดังนั้นในเรื่องของสุขภาพอนามัยและการป้องกันโรคติดต่อต่างๆ จึงทำได้อย่างจำกัด แต่ยืนยันว่าจะดูแลผู้ต้องขังที่อยู่ในความดูแลอย่างดีที่สุด
นักโทษหมื่นคนติดโควิด
    อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวถึงสาเหตุที่มีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อแบบก้าวกระโดดว่า เนื่องจากเมื่อพบเชื้อแล้วได้มีการตรวจหาเชิงรุกตามแนวทางการสอบสวนโรค  และจากรายงานพบว่ามีเรือนจำประมาณ 15 แห่งทั่วประเทศที่พบผู้ต้องขังป่วยโควิด โดยมี 8 เรือนจำใน กทม.และปริมณฑลที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษซึ่งกำลังแก้ไข ส่วนที่เหลือเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ ส่วนเจ้าหน้าที่มีติดเชื้อ 33 ราย  เหลือที่ยังไม่หาย 17 ราย นอกจากนี้ราชทัณฑ์ได้ประสานงานกับศาลด้วย ซึ่งศาลเข้าใจและอำนวยประโยชน์ทุกทาง  ตนต้องขอขอบคุณประธานศาลฎีกาด้วย
    "ขอให้ประชาชนอย่าได้กังวลใจ หลังการติดเชื้อในเรือนจำที่มีอัตราการติดเชื้อมากกว่าภายนอกหลายเท่า  เพราะเราอยู่กันอย่างแออัด ซึ่งเราจะได้ปูพรมในการตรวจหาเชื้อ คาดว่าอาจจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอีก แต่อยากให้มั่นใจว่าผู้ที่ติดเชื้อจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี" นายอายุตม์กล่าวและว่า ได้มีการจัดตั้งศูนย์ที่เป็นส่วนกลางขึ้นมาในการติดตามตัวเลขผู้ต้องขังที่ติดเชื้อและรักษาหายแล้ว พร้อมสั่งให้เรือนจำทั่วประเทศจัดเจลแอลกอฮอล์ สบู่ฆ่าเชื้อโรคไว้ให้ผู้ต้องขัง ที่สำคัญคือผู้บัญชาการเรือนจำจะต้องบริหารงานให้ดีที่สุด
    ขณะที่ในส่วนของเจ้าหน้าที่ ได้มีการสั่งให้สวอบตรวจหาเชื้อ 100% ทุก 7 วัน ขณะที่ในเรือนจำที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อนั้น ให้ประสานสาธารณสุขจังหวัดในการเข้าตรวจหาเชื้อทั้งหมดต่อไป ในส่วนของวัคซีนจะได้ทำการฉีดในเจ้าหน้าที่กว่าหมื่นคน พร้อมขอสนับสนุนเพิ่มเติมจากกรมควบคุมโรค ซึ่งจะฉีดให้ผู้ต้องขังครบทุกคนต่อไป พร้อมยืนยันว่าไม่มีการปกปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อ
    ต่อมานายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แถลงว่า  โควิด-19 เข้าไปอยู่ในเรือนจำมากมาย ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด รวมตัวเลขแล้วผู้ต้องขังติดเชื้อ 10,384 คน เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจอย่างเต็มที่ อะไรที่หย่อนยานต้องเร่งปรับปรุง ตอนนี้มีมาตรการ 10 ข้อ คือ 1.ให้แถลงจำนวนผู้ต้องขังที่ได้ตรวจเชิงรุกไปแล้วมีจำนวนเท่าไร 2.ตรวจเชิงรุกให้ครบทุกเรือนจำ ทั้งผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่เรือนจำ และเจ้าหน้าที่ส่วนกลางทุกคน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของกรมราชทัณฑ์ 55,000 คน 3.ในส่วนของที่มาของเชื้อให้เร่งสืบข้อเท็จจริงและสาเหตุการติดเชื้อครั้งนี้ และถ้าได้ความแน่ชัดจะแจ้งให้ทราบโดยไม่ปิดบังใดๆ ทั้งสิ้น  4.การรักษาและการเฝ้าดูอาการคนไข้จะทำตลอดเวลาไม่มีวันหยุด 5.ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาวิธีการรักษาที่เร็วและได้ผลดีที่สุด โดยใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ รวมทั้งการใช้สมุนไพรไทย เช่น ฟ้าทะลายโจรเข้าช่วยรักษา
    6.ผู้ต้องขังต้องอยู่ในเรือนจำไปไหนไม่ได้ 100%  เป็นอุปสรรคอย่างมหาศาลในการแก้ไข้ปัญหา 7.มีความจำเป็นที่ต้องเอาผู้ต้องขังและผู้คุมที่ไม่ติดเชื้อรับการฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน 8.จะมีการติดประกาศหน้าเรือนจำทุกแห่งในประเทศไทย เพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อกี่คนและไม่ติดเชื้อกี่คน หายแล้วกี่คน จะมีการแจ้งเช่นนี้เป็นระยะๆ  อย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  9.ผู้บัญชาการเรือนจำทุกคนจะทำรายชื่อผู้ติดเชื้อ และปรับปรุงเป็นรายวันเพื่อให้ญาติผู้ต้องขังทุกคนสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่ 08.00-18.00 น. 10.จะรีบเร่งวางแผนรับมือการระบาดครั้งนี้ และครั้งหน้าที่จะมีมาได้ทุกเมื่อ โดยจะรีบเร่งประชุมพิจารณาในเรื่องของบุคลากรที่ต้องเพิ่ม นอกจากนี้ กระทรวงจะพิจารณานโยบายการพักโทษในรูปแบบพิเศษ เช่น การติดกำไล EM ให้ละเอียดรอบคอบ
คาดโทษอธิบดี-ผบ.คุกเชียงใหม่
    "ถ้าเราใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ รักษา 10,000 คน หัวหนึ่ง  5,000 บาท จะใช้เงินถึง 50 ล้านบาท แต่หากใช้วัคซีนกับผู้ต้องขัง 300,000 คน หัวละ 1,000 บาท จะใช้ 300 ล้านบาท จะหยุดเชื้อในเรือนจำได้ทั้งหมด ผมจะเสนอไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข  ดำเนินการให้เรียบร้อย ซึ่งหวังว่าทางนายอนุทินจะเข้าใจและเร่งดำเนินการให้ ส่วนสถานการณ์ที่ จ.เชียงใหม่ ได้ใช้บับเบิลแอนด์ซีลควบคุมในเรือนจำ โดยมีการร่วมมือกับส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัด ในเรื่องตัวเลขต้องแจกแจงให้ชัด เราไม่ได้ปิดบังหรือปกปิด แต่หากไม่สามารถทำให้ถูกต้องได้ต้องมีคนรับผิดชอบ เราจะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้" รมว.ยุติธรรมระบุ
    ส่วนกรณีมีกระแสข่าวการสั่งย้ายอธิบดีกรมราชทัณฑ์  รวมถึงนายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่นั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง ไม่ได้สั่งย้ายใครใดๆ ทั้งสิ้นในขณะนี้ มีเพียงการคาดโทษไว้ และเร่งให้ทำงานแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 อย่างเร็วที่สุด   ทั้งที่เชียงใหม่ รวมทั้งผู้บัญชาการเรือนจำทุกคน ซึ่งได้คุยกับนายสุรศักดิ์แล้ว แม้ว่าการควบคุมโรคใน จ.เชียงใหม่ ไม่ใช่หน้าที่ของเขาโดยตรง ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เขาจะต้องรู้เรื่องในบ้านด้วย ซึ่งหากชี้แจงไม่ได้ตรงนี้คงต้องมีบทลงโทษกันบ้าง
    ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.เชียงใหม่  นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  พร้อมด้วย พล.ต.ถนัดพล โกศัยเสวี รองแม่ทัพภาคที่ 3  พล.ต.วุฒิไชย อิศระ รองเจ้ากรมแพทย์ทหารบก? ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ด้านการแพทย์ภายในเรือนจำกลางเชียงใหม่ นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงการดำเนินงานเกี่ยวกับโรงพยาบาลสนามในเรือนจำกลางเชียงใหม่ และยืนยันข้อกังวลใจหลังมีข่าวยอดติดเชื้อ?พุ่งสูงกว่า? 3,900 ราย?
    โดยนายเจริญฤทธิ์กล่าวว่า ได้นำระบบบับเบิลแอนด์ซีลมาใช้บริหารจัดการในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. ซึ่งมีกำหนดเวลาดำเนินการ 28 วัน การดูแลจะคล้ายการล็อกดาวน์ในทุกห้องทุกแดน และค้นหาผู้มีอาการเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสนามเรือนจำกลางเชียงใหม่ พร้อมตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคในทุก 14 วัน ทั้งนี้คาดว่าในรอบสุดท้ายจะมีผู้ต้องขังที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเพียง 10% ซึ่งจะมีการคัดกรอง?ตรวจสุุขภา?พทั้งหมดและจะสามารถส่งคืนพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เรือนจำกลางได้ในวันที่ 28 พ.ค.นี้ ขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ ไม่มีข้อกังวลการแพร่ระบาดสู่ภายนอก
    นพ.จตุชัยกล่าวว่า จนถึงขณะนี้มีผู้ต้องขังที่อาการหนักถูกส่งตัวออกมารักษาภายนอกที่ รพ.เพียงแค่ 6 ราย เท่านั้น
    พล.ต.วุฒิไชยเปิดเผยว่า ตัวเลขล่าสุดในขณะนี้มีผู้ต้องขัง 6,311 คน ติดเชื้อโควิดแล้ว 3,793 คน หรือคิดเป็น  60% ของผู้ต้องขังทั้งหมด ยังคงเหลือผู้ต้องขังที่ไม่ติดเชื้ออีก 923 คน รวมทั้งมีผู้ต้องขังเข้าใหม่ 172 คน โดยที่ผ่านมาเรือนจำใช้การรักษาผู้ติดเชื้อด้วยการให้ยาสมุนไพรรับประทาน เช่น ฟ้าทะลายโจร, กระชายขาว จนผู้ป่วยกว่า  3,000 คนมีสุขภาพ?ที่ดีขึ้นมาก คาดว่าสถานการณ์จะกลับมาสู่ปกติได้โดยเร็ว
    เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ เผยแพร่ภาพและข้อความว่า "เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ พร้อมระบบ Ai แก่เรือนจำกลางเชียงใหม่ ในโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยมีนายสุรศักด์ เผื่อนคำ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ เข้ารับพระราชทานต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงรับเป็นพระราชภารกิจสำคัญในการให้ความช่วยเหลือพสกนิกรทุกหมู่เหล่า รวมทั้งผู้ต้องขังให้มีสุขภาพอนามัยที่ดีและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงยังสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ จะได้นำไปตรวจรักษาแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ ฯ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  หรือโควิด-19 ในขณะนี้".

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"