การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ตั้งแต่เดือน เม.ย.จนถึงปัจจุบันยังคงน่าเป็นห่วง จากการแพร่ระบาดที่เริ่มต้นมาจากสถานบันเทิง ลามไปทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย
ล่าสุดเชื้อได้เข้าไปในเรือนจำหลายแห่ง!!!
จุดเริ่มต้นของข่าวมาจากที่ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎร ซึ่งเคยถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลาง เป็นหนึ่งในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของตัวเอง
"หลังออกจากทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อวันที่ 6 พ.ค. เพิ่งได้รับทราบผลตรวจโควิด-19 และพบว่าติดเชื้อ ขณะนี้ได้แจ้งคนใกล้ชิดทุกคนให้ทราบแล้ว" และเมื่อไม่นานมานี้เจ้าตัวยังได้ระบุว่า คนที่บ้านไม่ว่าจะเป็นพ่อ-แม่ ติดเชื้อโควิดด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ แกนนำกลุ่มคณะราษฎรที่ออกจากเรือนจำมาก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น รุ้ง, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน, สมยศ พฤกษาเกษมสุข ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นราชทัณฑ์มีการปกปิดข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในเรือนจำ แต่กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรมก็ได้ออกมาโต้ข่าวทุกครั้งว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีการปิดข่าว
อย่างไรก็ดี กรมราชทัณฑ์ได้ออกมาชี้แจงถึงมาตรการในการเฝ้าระวังโรค มาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการงดเยี่ยมญาติแบบปกติที่เรือนจำ งดนำผู้ต้องขังออกทำงานนอกเรือนจำ งดย้ายผู้ต้องขังระหว่างเรือนจำ พิจารณาแนวทางอื่นแทนการนำผู้ต้องขังออกนอกศาล งดนำบุคคลภายนอกเข้าเรือนจำ แยกกักโรคผู้ต้องขังเข้าใหม่ โดยห้ามย้ายหรือออกจากห้องเป็นระยะเวลา 14-21 วัน และประสานโรงพยาบาลแม่ข่ายเข้าตรวจหาเชื้อในผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกราย อย่างน้อย 2 ครั้งก่อนออกจากห้องแยกกักโรค
ทว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อภายในเรือนจำนั้น กรมราชทัณฑ์ประเมินว่ามีโอกาสมาจากทั้งผู้คุม คนส่งของให้เรือนจำที่เข้า-ออกได้ทุกวัน รวมถึงจำเลยนักโทษที่นำตัวไปศาล และผู้ต้องขังแรกเข้ากับกิจวัตรประจำวันผู้ต้องขัง
แม้ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่ในระหว่างอาบน้ำ ทานข้าว หรือนอน ต้องทำร่วมกันกับผู้ต้องขังหลายคน เป็นปัจจัยที่ทำให้มีการหลุดรอดของเชื้อเข้าสู่เรือนจำ
บทเรียนล่าสุดที่เกิดขึ้นในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อถึง 3,929 คนนั้น ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ยืนยันสาเหตุว่า เกิดจากมีการตรวจหาเชื้อและกักตัว โดยมีการแยกขังผู้ต้องขังใหม่อย่างน้อย 14 วัน ในห้องที่มี 7 ห้อง ซึ่งระหว่างที่แยกขังนั้นยังมีการไปทำกิจกรรมในแดนอื่น ทำให้เกิดการระบาด
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การกักตัวเพียง 14 วันอาจจะไม่เพียงพอและอาจต้องทำการตรวจหาเชื้อทุกวัน
จากการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกภายในหลายเรือนจำ ทำให้พบผู้ต้องขังติดเชื้อเป็นจำนวนมาก กรมราชทัณฑ์จึงได้เพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลสนาม ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้สามารถรองรับผู้ป่วยระดับสีแดง อาการหนัก โดยจะติดตั้งระบบ High Flow Oxygen และเครื่อง Ventilator ประมาณ 5-10 เตียงรองรับไว้ และสำรองยาที่ใช้รักษาให้เพียงพอตลอด รวมถึงเตรียมเสนอให้มีการฉีดวัคซีนแก่ผู้ต้องขังในรายที่ไม่ติดเชื้อและไม่มีภูมิต้านทาน โดยเริ่มต้นในกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว หรือค่า BMI สูง จนครอบคลุมผู้ต้องขังทุกรายในที่สุด
ยึดหลักความเท่าเทียมในด้านการรักษาพยาบาล แม้จะอยู่ในสถานะผู้ต้องขังก็ตาม โดยเรียกการบริหารสถานการณ์ครั้งนี้ว่า “ลาดยาวโมเดล” อีกทั้งได้ทำการ bubble and seal คือ คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า การแยกตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่อย่างน้อย 21 วัน และอาจมีความจำเป็นในการเพิ่มการตรวจเชื้อซ้ำ 3 ครั้งกับผู้ต้องขังบางราย
สำหรับข้อมูลที่รายงานระหว่างวันที่ 12-16 พ.ค.นี้ มีผู้ต้องขังติดเชื้อรวมทั้งหมด 9,783 คน จาก 8 เรือนจำ ประกอบด้วย เรือนจำกลางเชียงใหม่ ติดเชื้อ 3,929 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 6,469 คน, ทัณฑสถานหญิงกลาง ติดเชื้อ 1,039 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 4,488 คน, เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ติดเชื้อ 1,960 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 3,023 คน, เรือนจำกลางคลองเปรม ติดเชื้อ 1,016 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 8,088 คน, เรือนจำกลางฉะเชิงเทรา ติดเชื้อ 43 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 2,671 คน, เรือนจำพิเศษธนบุรี พบติดเชื้อ 1,725 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 4,015 คน, ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ติดเชื้อ 12 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 5,876 คน, เรือนจำจังหวัดนนทบุรี ติดเชื้อ 59 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 2,661 คน
หากยังไม่สามารถสกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเรือนจำให้อยู่หมัดได้ งานนี้ "อายุตม์ สินธพพันธุ์" อธิบดีกรมราชทัณฑ์ มีอกสั่นขวัญหายแน่ๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |