ท่ามกลางวิกฤติของการแพร่ระบาด ส่งผลให้มีพฤติกรรมหลายด้านของมนุษย์ปรับเปลี่ยนไป กลายมาเป็นสิ่งที่เรียกกันบ่อยๆ ว่า นิวนอร์มอล และเน็กซ์นอร์มอล ซึ่งผู้ประกอบการและนักการตลาดเองก็ต้องทำการบ้านกันละเอียดมากขึ้น ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างรวดเร็วเท่านั้น หากยังพบว่ามีความหลากหลายทางด้านพฤติกรรมที่เกิดขึ้นด้วย
นายบุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยมุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยปัจจุบันว่า โควิด-19 ระลอกใหม่ได้สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง ก่อให้เกิดปัญหาสังคมในด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิทธิมนุษยชน ทั้งยังส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาและรับผิดชอบต่อสังคม
จากปัจจัยดังกล่าว เพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภค ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับแผนการตลาดใน 3 ทางออกสำคัญ คือ 1.สร้างแคมเปญช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อม 2.สร้างจุดยืนแบรนดิ้งให้เด่นชัด ตรงใจผู้บริโภค กระแสเทรนด์ใหม่ๆ และ 3.ไม่สร้างภาระผู้บริโภคผ่านการปรับกลยุทธ์
ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมายังมีข้อมูลที่น่าสนใจจากสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการมหิดล ที่ได้ทำการวิจัยเพื่อนำไปสู่แผนการถอดรหัสผู้บริโภคยุค 5.0 หรือ Gen We ภายใต้หลักคิด “WEvolution” การวางแผนการตลาดที่พร้อมทำความเข้าใจพฤติกรรมและความคิดเชิงลึกของผู้บริโภคยุค Gen We กลุ่มคนที่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมและมุ่งขับเคลื่อนเพื่อสังคมมากยิ่งขึ้นจากในอดีตอีกด้วย
จากการถอดรหัสหลักคิดเชิงลึกของผู้บริโภค ผลวิจัย 3 คลัสเตอร์ใหม่ที่สะท้อนตัวตนของผู้บริโภคไทยยุค Gen We ในช่วงอายุดังกล่าว ทีมวิจัยจึงคิดค้น กลยุทธ์เด็ดมัดใจผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวให้นักการตลาด ผู้ประกอบการยุคใหม่ บริหารธุรกิจให้สอดรับกับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกลุ่มลูกค้าให้เป็น พร้อมค้นหากลุ่มเป้าหมายใหม่ จะใช้การแบ่งคลัสเตอร์ตามทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภค ขณะเดียวกันยังต้องสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้ธุรกิจและสินค้า เพื่อสร้างการยอมรับของผู้บริโภค ทุกการดำเนินธุรกิจ จะต้องสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้ธุรกิจและสินค้าตนเอง
นอกจากนี้ ต้องพัฒนาแบรนด์สินค้าให้ทันกระแสอยู่เสมอ เพื่อช่วงชิงพื้นที่ในใจผู้บริโภค ผู้บริโภคปัจจุบันเสพกระแสตามเทรนด์ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใหม่เสมอ รวมถึงยังต้องทำการตลาดอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและภักดีต่อสินค้าของผู้บริโภค ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจปัจจุบันที่ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว โดยสื่อที่ไม่ใช่สื่อกระแสหลักนิยมเพิ่มสูงขึ้น เพื่อสร้างการเข้าถึงขยายฐานผู้บริโภค ธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันต่อการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มมีเดียใหม่ๆ เช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกันยังพบข้อมูลเชิงลึกด้วยคำถามหลากประเด็นเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ค้นพบวิธีการเลือกแบรนด์ของแต่ละกลุ่ม อันเป็นประโยชน์ต่อนักการตลาดและผู้ประกอบการยุคใหม่ พบว่าสิ่งที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มมังกร จะเลือกซื้อสินค้าวัดน้ำหนักจากความจำเป็นและความเหมาะสมมากกว่าภาพลักษณ์ด้านซีเอสอาร์ เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ติดตามใครเป็นพิเศษ แต่หากแบรนด์มีการใช้คนดัง จะพิจารณาว่าคนนั้นมีความจริงใจแค่ไหน รวมถึงจะเลือกมองความจริงว่าคุณภาพสินค้าเหมาะสมกับเราหรือไม่ และตั้งใจเกษียณตอนอายุ 60 ปีและอยู่กับครอบครัว ดังนั้นการซื้อบ้านหรือคอนโดฯ รถยนต์ จึงคำนึงถึงสัดส่วนที่พอดีกับสมาชิกในครอบครัว วางแผนการเงิน การลงทุนที่ได้กำไร โดยเลือกออมเดือนละ 10-50% ของรายได้ รวมถึงศึกษาประกันสุขภาพแต่เนิ่นๆ
ส่วนกลุ่มแฟรี่ยินดีและเต็มใจจ่ายเพิ่มมากขึ้นถึง 20-30% ต่อสินค้าที่ตรงใจ โดยเลือกแบรนด์ที่มีภาพเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือต่อสู้เพื่อสังคม ชอบติดตามคนที่มีชื่อเสียงและอ่านรีวิวกลุ่มร้านกาแฟ ร้านอาหาร การท่องเที่ยว แฟชั่น หรือดูบล็อกเกอร์ที่มีผู้ติดตามยอดหลักแสนรีวิวเครื่องสำอางผ่านยูทูบ และมักซื้อตามเมื่อดูแล้วเพลิน โดนใจ ตั้งใจเกษียณอายุ 55 ปี โดยหลังเกษียณจะคงทำงานแต่ไม่หนักมาก และมีเงินจาก passive income ที่สะสมมาใช้
ด้านกลุ่มฟีนิกซ์ยินดีจ่ายเพิ่ม 5-10% เพื่อให้ได้สินค้าที่สนใจ โดยจะพิจารณาสินค้าและราคาก่อนว่าตรงความต้องการหรือไม่ หากแบรนด์มีโครงการซีเอสอาร์ ก็จะเลือกแบรนด์นั้นเพราะถือว่าได้ร่วมช่วยเหลือสังคมด้วย โดยจะทำการค้นหาข้อมูล อ่านรีวิวตามแหล่งสังคมออนไลน์ต่างๆ ก่อนเสมอเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ มักนิยมสินค้าทันสมัย ตั้งใจเกษียณก่อนอายุ 60 ปี และเนื่องจากไม่ต้องการมีครอบครัวหรือลูก จึงต้องวางแผนการออมให้ดีเพื่อให้ยามเกษียณไม่เป็นภาระต่อใครหรือประเทศชาติ.
รุ่งนภา สารพิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |