แฟ้มภาพ
17 พ.ค.64 - นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มไทยไม่ทน ออกแถลงการณ์ 29 ปี พฤษภาประชาธรรม มีเนื้อหาระบุว่า เนื่องในโอกาส “ครบรอบ 29 ปี พฤษภาทมิฬ” ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่สร้างบาดแผลให้กับประเทศชาติ มีนิสิตนักศึกษาประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากเพื่อให้ได้ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของเผด็จการทหารและนักประชาธิปไตย จึงมีข้อสรุปและข้อเสนอดังนี้
1.ในช่วง 29 ปีเหตุการ์พฤษภาทมิฬที่ผ่านมา ไม่มีการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม การสูญเสียของประชาชน ประเทศย่ำอยู่กับที่และถอยหลังมากกว่าเดิม เพราะโครงสร้างอำนาจเผด็จการปรับตัวเป็นรัฐพันลึก ฝ่ายประชาธิปไตยประชาชนบางส่วนสมาทานกับระบอบอำนาจนิยมและจารีตนิยม ลดตัวลงเป็นทาสผู้ไม่ยอมปลดปล่อย เป็นเครื่องมือรับใช้นายทุน ขุนศึก ศักดินา ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ปฏิเสธเสียวของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีส่วนร่วมกับประเทศ ซึ่งวันหนึ่งพวกเขาจะรับมอบส่งต่อและต้องนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในเชิงสร้างสรรค์ที่มีลักษณะพลวัตร ไม่อาจต้านกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ฝืนความเป็นจริง
2.การเมืองในระบอบรัฐสภา ไม่สามารถต้านทานโครงสร้างอำนาจเผด็จการได้ ระบบรัฐสภากลายเป็นกลไกแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ ฝ่ายบริหาร – นิติบัญญัติ- ตุลาการ กลายเป็นฐานค้ำโครงสร้างอำนาจเผด็จการ การรุกกลับของฝ่ายอำนาจและจารีตนิยมปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการเมืองในระบอบในรัฐสภาเองที่เป็นประชาธิปไตยเพียงแค่เปลือก นักการเมืองที่อ้างเสียงประชาชนเฉพาะวันเลือกตั้ง ระบบการเมืองที่ไม่สามารถคัดเลือกคนที่มีความคิดและทำเพื่อบ้านเมืองส่วนรวมเข้ามาได้ รัฐสภาจึงเต็มไปด้วยผู้มีอิทธิพลในแต่ละท้องถิ่น ขณะที่รัฐมนตรีก็คือหัวหน้าที่สามารถตั้งกลุ่มรวมก๊วน ส.ส.ให้ได้จำนวนไปต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีมานั่ง ไม่แปลกที่เราจะมีรัฐมนตรีที่ต้องคดียาเสพติดนั่งชูหน้าชูตา และถูกยกเครดิตให้เป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ชี้ความเป็นความตายของรัฐบาลเป็นการเมืองน้ำเน่าที่วนอยู่ที่เดิม
3. 29 ปี พฤษภาทมิฬ ประชาชนจึงขอไม่ทนอีกต่อไป จะปลดล็อกเดินลงถนนร่วมกับลูกหลานเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ ในฐานะตนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ’35 และเฝ้ามอง คาดหวังว่าประเทศจะต้องดีขึ้นสักวันด้วยสายตาและความคิดของคนที่เข้าสู่วัยชรา วันนี้ ครบ 29 ปีพฤษภาทมิฬให้ข้อสรุปว่าจะไม่ทนอีกแล้ว และขอยืนอยู่คนละฝั่งกับโครงสร้างอำนาจจารีตนิยมคนละฝั่งกับนักการเมืองและกลุ่มคนที่รับใช้”ระบอบประยุทธ์” โดยขออยู่เคียงข้างลูกหลาน เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะออกมาปฏิรูปประเทศและเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะยิ่งอยู่ยิ่งทำให้ประเทศเสื่อมถอย ยิ่งทำให้ประเทศหายนะ แม้ในช่วงที่ผ่านมาตนได้เคยประกาศว่าจะไม่ก่อม็อบ ไม่ลงถนน แต่วันนี้ จะขอร่วมขับเคลื่อนเป็นพลังคู่ขนาน หรือร่วมเป็นพลังหนึ่งเดียวกับลูกหลาน และพร้อมลงถนนในทุกสถานการณ์ เพื่อส่งต่อประเทศที่มีอนาคตให้กับลูกหลานต่อไป
4.ข้อเสนอเพื่อฉันทามติขับไล่ประยุทธ์ คือ สนับสนุนรัฐบาลเพื่อการฟื้นฟูประเทศทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเพื่อตัดวงจรระบอบประยุทธ์ ก็คือ การมีรัฐบาลเพื่อการฟื้นฟูประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่เสียหายจากวิกฤติโควิด – 19 และการกัดกร่อนอันเนื่องมาจากระบอบประยุทธ์ ที่สร้างสังคมแห่งความเหลือมล้ำ รวมถึงฟื้นฟูระบบการเมืองที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะข้อเรียกร้องของกลุ่มคนรุ่นลูกหลาน ทั้งนี้ผู้นำรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีเพื่อการฟื้นฟูประเทศหรือรัฐบาลช่วยชาติ ควรมีคุณสมบัติเบื้องต้นคือมีภาวะผู้นำ วิสัยทัศน์ และประชาชนหรือสังคมเห็นพ้องถึงความมุ่งมั่น เจตนารมณ์ ที่จะนำพาประเทศหลุดออกจากวังวนของปัญหา ซึ่งตนยืนยันว่า กรุงศรีอยุธยา ราชธานีไทย ถึงเคยแตกแหลกไป ก็ไม่สิ้นคนดี วันนี้ก็เช่นกัน ประเทศไทย มีประชากร 70 กว่าล้านสามารถที่จะหานายกรัฐมนตรีที่เป็นคนดีได้อย่างแน่นอน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |