ติดเชื้อทะลุแสนราย! อึ้ง!แคมป์คนงานหลักสี่86%ป่วย/สปสช.ตุน100ล.แพ้วัคซีน


เพิ่มเพื่อน    

  ติดเชื้อโควิดสะสมทะลุ 1 แสนราย ติดเชื้อใหม่ 2,302 ราย ดับ 24 ราย อาการหนัก 1,228 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 408 ราย ผงะ! แคมป์คนงานหลักสี่ตรวจเชื้อเชิงรุก 559 ราย ติดเชื้อ 482 หรือ 86% สั่งปิดและห้ามเคลื่อนย้าย กทม.เฝ้าระวัง 27 คลัสเตอร์สำคัญ ที่กระจายอยู่ใน 17 เขต ยังเป็นห่วงอีก 5คลัสเตอร์ “สิระ” จี้ บ.อิตาเลียนไทยฯ แสดงความรับผิดชอบเหตุทอดทิ้งคนงาน หวั่นเชื้อลุกลาม “อัศวิน" ตั้งเป้าตั้งแต่ มิ.ย.ฉีดได้วันละ 1 ล้านคนต่อเดือน สปสช.เตรียมเงินไว้ 100 ล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 16 พฤษภาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,302  ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,279 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,692 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 587 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 23 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 101,447 ราย หายป่วยสะสม  65,803 ราย อยู่ระหว่างรักษา 35,055 ราย อาการหนัก 1,228 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 408 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 24 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 11 ราย อยู่ใน กทม. 8 ราย, ชลบุรี ปทุมธานี กาญจนบุรี จังหวัดละ 2 ราย,  เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ราชบุรี สมุทรปราการ ขอนแก่น นครสวรรค์ พิจิตร ระยอง นครนายก พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงใกล้ชิดสมาชิกในครอบครัวที่ติดเชื้อ ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 589 ราย อย่างไรก็ตาม ศบค.เพิ่งได้รับรายงานว่ามีการติดเชื้อในเรือนจำ 1,219 ราย ซึ่งจะนำไปรวมกับยอดผู้ติดเชื้อของวันที่ 17 พ.ค.
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในส่วนของผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 23 รายนั้น มีชาวเมียนมา 1 ราย ลักลอบเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติ, กัมพูชา 14 ราย ในจำนวนนี้เป็นสัญชาติไทย 13 ราย ชาวออสเตรเลีย 1 ราย ผ่านด่านถูกต้อง และมาเลเซีย 3 ราย ผ่านด่านถูกต้อง ซึ่งที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กมีความเป็นห่วง 3 ประเทศดังกล่าว และมอบหมายให้กระทรวงแรงงานหารือกับกรมควบคุมโรคอย่างใกล้ชิดว่าในสถานการณ์แพร่ระบาดของเพื่อนบ้าน  อาจมีการผลักดันให้คนไทยกลับประเทศ จึงให้ตรวจสอบว่ามีคนไทยอีกเท่าไหร่ที่มีความประสงค์จะกลับประเทศ สำหรับ 5 จังหวัดแรกที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดของวันที่ 16 พ.ค. ได้แก่ กทม. 1,218 ราย, ปทุมธานี 243 ราย, สมุทรปราการ 117 ราย, นนทบุรี 103 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 66 ราย ขณะที่วันเดียวกันมี 19 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อ กทม.และปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อรวมกัน 1,744 ราย ส่วนจังหวัดอื่นๆ รวมกัน 535 ราย
ทั้งนี้ กรมการแพทย์รายงานเรื่องเตียงผู้ป่วยว่า ความต้องการเตียงของผู้ป่วยระดับสีเขียวอยู่ในเกณฑ์รองรับได้ แต่ที่เป็นห่วงคือผู้ป่วยระดับสีเหลืองและระดับสีแดง ซึ่งมีลักษณะตึงตัวพอสมควร โดยเมื่อวันที่ 15 พ.ค. มีความต้องการเตียงในพื้นที่ 805 เตียง แอดมิตแล้ว 314 ราย จัดสรรแล้วรอการดำเนินการ 439 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว 350 ราย สีเหลือง 89 ราย แต่ยังพบว่ามีผู้ป่วยบางส่วนที่ปฏิเสธการเข้ารักษา เนื่องจากทางญาติดำเนินการประสานหาเตียงเองและต้องใช้เวลารอ 1-2 วัน อีกทั้งยังมีผู้ที่ตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่อยากรอผลของคนในครอบครัวด้วย ทำให้ศูนย์เอราวัณมีความเป็นห่วงการปฏิเสธไม่เข้าสู่ระบบการจัดสรรนี้ อาจทำให้อาการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง  
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ทาง กทม.ได้รายงานว่าขณะนี้มีคลัสเตอร์ที่เฝ้าระวังมี 27 คลัสเตอร์ กระจายตัวใน 17 เขต สามารถควบคุมได้แล้ว 7 คลัสเตอร์ และมีที่น่าเป็นห่วง 5 คลัสเตอร์สำคัญที่มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวันคือ แคมป์คนงานก่อสร้างเขตหลักสี่ แคมป์คนงานก่อสร้างเขตวัฒนา แฟลตดินแดง คลองถมวงเวียน 22 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และตลาดห้วยขวาง เขตดินแดง ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลการตรวจเชิงรุกที่ กทม.จะเข้าไปดำเนินการ ในส่วนของแคมป์คนงานก่อสร้างเขตหลักสี่ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. มีการตรวจเชื้อรุก 559 ราย ติดเชื้อ 482 ราย หรือ 86.22% ทำให้มีการปิดแคมป์คนงานดังกล่าวไปแล้ว และให้บริษัทเจ้าของแคมป์ตรวจแคมป์คนงานอื่นๆ ในเครือทั้งหมด
ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน
"ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคพบว่า ความเป็นอยู่ในแคมป์ค่อนข้างหนาแน่น มีการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน พฤติกรรมคนงานยังเดินทางไปในตลาด ชุมชน พื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงเดินทางข้ามพื้นที่ที่ประชุม จึงกำหนดมาตรการที่จะประกาศใช้ให้บริษัทเหล่านี้รับทราบว่าให้มีการจัดที่พักอาศัยไม่ให้มีความหนาแน่น ทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง คัดกรองคนงาน หากมีอาการให้หยุดปฏิบัติงานและส่งตรวจ ในส่วนของการเดินทางนั้นให้ ดำเนินการแบบบับเบิลแอนด์ซีล ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน แต่หากจำเป็นให้ขออนุญาตเข้ามา หลังจากนี้กรมควบคุมโรคจะเข้าไปตรวจสอบ สำหรับคนงานต่างด้าวจะมีล่ามเข้าไปช่วยสื่อสาร หากพบเป็นผู้ป่วยจะให้อยู่ในโรงพยาบาลสนามศูนย์ห่วงใยคนสาคร วัฒนาแฟคตอรี่ และศูนย์ห่วงใยคนสาคร บริษัท วิท วอเตอร์ ซิสเต็ม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด รวมถึงจะพิจารณาฉีดวัคซีนให้สอดคล้องกันไปเพื่อความปลอดภัยของบุคลากร”
พญ.อภิสมัยกล่าวด้วยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังได้รายงานการเก็บตัวอย่างภูมิคุ้มกันของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 และหายแล้ว 263 ตัวอย่าง พบว่ามีภูมิคุ้มกันธรรมชาติ 243 ราย หรือ 92.40% ขณะที่ผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้า เซนเนก้า 2 เข็มแล้วจะมีภูมิคุ้มกัน 97.26% ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้วจะมีภูมิคุ้มกัน 99.49% ซึ่งกลุ่มประชาชนที่มีการฉีดวัคซีนแล้วจะมีภูมิคุ้มกันมากกว่าผู้ที่มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติ
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่า ศบค.ยกเลิกข้อกำหนดเรื่องการสวมหน้ากากออกนอกเคหสถาน พญ.อภิสมัยกล่าวว่า การยกเลิกข้อกำหนดไม่มีแน่นอน ขณะนี้ยังต้องสวมหน้ากากอนามัยนอกเคหสถานตลอดเวลา แต่ระหว่างนี้จะมี การประชุมทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เราสนับสนุนการประชุมออนไลน์ แต่กรณีที่มีความจำเป็นยังต้องยึดข้อกำหนดสวมหน้ากากอยู่ แต่ให้ผ่อนผันการสวมหน้ากากได้ โดยผู้ควบคุมการประชุมถอดได้เฉพาะเวลาการ อภิปรายเท่านั้น บุคคลอื่นยังคงต้องสวมหน้ากาก หากมีการทำผิดข้อกำหนดครั้งแรกจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตักเตือน หากผิดซ้ำสองจะใช้บังคับใช้กฎหมาย เว็บไซต์ w ww.worldometers.info/coronavirus/ ซึ่งรวบรวมสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกพบว่า ปัจจุบันยังมี 220 ประเทศและดินแดนที่มีผู้ติดเชื้อ โดยล่าสุดมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 163,188,527 คน เพิ่มขึ้น 19,614 คน และเสียชีวิต 3,383,853 คน เพิ่มขึ้น 528 คน และรักษาหายแล้ว 142,621,917 คน
    ทั้งนี้ 3 อันดับของประเทศที่ติดเชื้อสูงสุดยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคือ สหรัฐอเมริกา, อินเดีย และบราซิล แต่ที่น่าสนใจคือประเทศไทย หลังจาก ศบค.แถลงตัวเลขล่าสุด ทำให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 91 ของประเทศผู้ติดเชื้อ โดยมีจำนวน 101,447 คน เพิ่มขึ้น 2,302 คน และเสียชีวิต 589 คน เพิ่มขึ้น 24 คน โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเกินแสนรายนั้นมีทั้งสิ้น 92 ประเทศ
นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวภายหลังการลงตรวจพื้นที่ตรวจสอบแคมป์คนงานของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ที่ตั้งอยู่ตรงซอยแจ้งวัฒนะ 5 ซึ่งจากการตรวจหาเชื้อโควิด 599 คน พบผู้ติดเชื้อ 482 คน ว่า แคมป์คนงานอิตาเลียนไทยตรงบริเวณนี้ถือเป็นแหล่งชุมชน มีทั้ง รพ.จุฬาภรณ์ ตรงซอยศูนย์ราชการ, เคหะหลักสี่,แฟลตพนักงานแคท, แฟลตตำรวจ และตลาดตรงบ้านพักการรถไฟ จนถึงขณะนี้มีประชาชนเขตหลักสี่จำนวนมากได้รับผลกระทบ ติดเชื้อจากแคมป์คนงานดังกล่าวแล้ว ขอเรียกร้องความรับผิดชอบไปยังบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ที่ผ่านมาบริษัท อิตาเลียนไทยฯ มีลักษณะเหมือนจงใจปกปิดข้อมูลใช่หรือไม่ ยังไม่เข้ามาดูแลคนงานของตัวเอง อย่างเช่นวานนี้ปล่อยให้คนงานในแคมป์ออกมาจากพื้นที่อาศัย บางคนออกไปเข้าร้านสะดวกซื้อ บางคนออกไปตลาดซื้อของกินกลับมา สิ่งที่เกิดขึ้นบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ต้องออกมาชี้แจงต่อสังคม เพราะมันสร้างความกังวลให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้กับแคมป์คนงานเป็นอย่างมาก
ตั้งเป้ามิ.ย.ฉีดวัคซีน1ล้านคน/เดือน
“ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะกระทบกับคนไทยทั้งประเทศ ขอให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ในส่วนของแคมป์คนงานที่หลักสี่นี้ ขอฝากไปยังรัฐบาลและ ศบค.ให้เร่งตรวจสอบแคมป์คนงานทั่วประเทศ เพราะตนเชื่อว่ายังมีอีกหลายแห่งที่มีการปกปิดข้อมูลผู้ป่วย และลักษณะความเป็นอยู่ของคนงานในแคมป์ค่อนข้างหนาแน่น รัฐต้องออกมาตรการเอาผิดกับบริษัทผู้รับผิดชอบคนงานเหล่านี้ เพื่อเป็นการป้องกันการปล่อยปละละเลย ไม่รับผิดชอบต่อสังคมของบรรดานายจ้าง” นายสิระ กล่าว
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กทม. ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนกลุ่มคนขับรถขนส่งสาธารณะ หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร - หอการค้าไทย ณ บริเวณชั้น 3 sky Hall ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เขตจตุจักร โดยมี ผู้บริหารสำนักอนามัย คณะผู้บริหารเขต ผู้บริหารบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูล
ผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยว่า กทม.ได้ตรวจเชิงรุกและเร่งฉีดวัคซีนเพื่อลดอัตราการติดเชื้อและความรุนแรงของผู้ป่วยหากติดเชื้อ โดยได้จัดสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล หรือ “หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย” รวม 25 แห่งทั่วพื้นที่ กทม. เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางมาฉีดวัคซีนสำหรับบริเวณชั้น 3 sky Hall เปิดให้บริการตั้งแต่ 12 พ.ค. โดยมีเป้าหมายวันละ 1,200 คนต่อวัน สำหรับกลุ่มผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนในวันนี้จะเป็นกลุ่มคนขับรถขนส่งสาธารณะ ขสมก. กรมขนส่งทางบก ที่ให้บริการประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำนักอนามัยได้นำเข้าข้อมูลไว้ในระบบของ กทม.ต่อไปจะให้บริการวัคซีนบุคลากรส่วนหน้าผู้ที่ขับรถยนต์สาธารณะ พนักงานเก็บค่าโดยสารสาธารณะ จากบริษัทขนส่งต่างๆ มีประมาณ 7,000 คน รวมถึงจะฉีดวัคซีนให้กับพนักงานเก็บขน เก็บกวาดจากสำนักงานเขต คนขับแท็กซี่ วินจักรยานยนต์ พนักงานขนส่งอาหารต่างๆ ผู้มีอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก เป็นต้น
นอกจากนี้ เนื่องจากใกล้เปิดภาคเรียนเป้าหมายต่อไปคือบุคลากรครู ไม่ใช่เฉพาะครูในสังกัด กทม.เท่านั้น แต่เป็นบุคลากรครูในกรุงเทพฯ ทั้งหมดจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีประมาณ 170,000 คน ที่ต้องได้รับการ ฉีดวัคซีน ส่วนกลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่นๆ จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับวัคซีนในลำดับถัดมา ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรร โดย กทม.จะประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทราบเป็นระยะตามปริมาณวัคซีนที่ได้รับ เพื่อให้ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด สำหรับการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลช่วงระยะทดสอบระบบ ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.64 จากสถานที่ 3 แห่งประกอบด้วย เซ็นทรัลลาดพร้าว เดอะมอลล์ บางกะปิ และสามย่านมิตรทาวน์ ข้อมูล ณ วันที่ 16 พ.ค.64 เวลา 10.00 น. มียอดรวมผู้ฉีดวัคซีนแล้ว 4,533 คน ส่วนยอดผู้รับวัคซีนพื้นที่ กทม. รวมทั้งหมดมี 438,529 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน  188,358 ราย และครบ 2 เข็ม 125,072 ราย และคาดว่าเมื่อ กทม.ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาลแล้วตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป จะสามารถให้บริการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้กว่า 1 ล้านคนต่อเดือน
นางมาศวัลย์ ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม. เปิดเผยถึงกรณีมีข่าวพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชนวัดดวงแข ใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง เขตปทุมวัน จำนวน 6 ราย เกรงจะมีผู้ติดเชื้ออีก และกลายเป็นการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์ ว่า สำนักงานเขตปทุมวันได้ประสานศูนย์เอราวัณ กทม. เพื่อนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้ง 6 ราย เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา และไม่มีผู้ที่กักตัวในบริเวณดังกล่าว
สปสช.เตรียม100ล้านเยียวยา
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลและสธ.ให้ความสำคัญกับบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และมีนโยบายฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นกลุ่มแรกมาโดยตลอด ข้อมูล ณ ปัจจุบัน ได้ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มดังกล่าวไปแล้วมากกว่า 1.1 ล้านโดส จากวัคซีนที่จัดสรรไป 2.5 ล้านโดส หรือประมาณร้อยละ 45 เนื่องจาก อสม.ทั่วประเทศมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน จึงมีคนที่ยังรอฉีดวัคซีนอีกเป็นจำนวนมาก สธ.ได้เร่งจัดหาวัคซีนมาเพิ่มเติม ซึ่งเพียงพอสำหรับ อสม.ทุกคน เชิญชวนให้ อสม.ไปรับการฉีดวัคซีน พร้อมออกเคาะประตูรณรงค์เชิญชวนคนในชุมชน ผู้นำชุมชน ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกช่องทางที่สะดวก ส่วนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์นั้น ฉีดวัคซีนเข็มแรก 687,909 คน ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว 409,019 คน กลุ่มเจ้าหน้าที่อื่นๆ และ อสม. เข็มแรก 203,213 คน ครบ 2 เข็ม 82,068 คน ยังคงทยอยมารับการฉีดต่อเนื่อง ขอให้มั่นใจว่าบุคลากรทางการแพทย์และ อสม.ทุกคนที่มีความสมัครใจจะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแน่นอน
นพ.จเด็จ ธรรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ สปสช. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 5) เรียบร้อยแล้ว โดยในกรณีการเยียวยาผลกระทบหลังฉีดวัคซีนได้เตรียมงบประมาณไว้ 100.32 ล้านบาท สำหรับจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีน และให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5  เม.ย.2564 เป็นต้นไป
พ.ต.อ.หญิงศิริกุล กฤตพิทยบูรณ์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า ร.ต.ท.ปราโมทย์ ทัศนีย์ไตรเทพ รองสารวัตรกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเข้ารับการรักษาตัวจากการติดเชื้อโควิดที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2564 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ ตร.ขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของข้าราชการตำรวจผู้เสียชีวิต โดยสั่งการให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการให้ความช่วยเหลือครอบครัวอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องของสวัสดิการต่างๆ
จากกรณี น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า “บิดาและมารดาติดเชื้อโควิดจากตนที่ได้รับเชื้อมาจากในเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจง ในกรณีของ น.ส.ปนัสยา กรมราชทัณฑ์ได้รับตัว น.ส.ปนัสยา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 โดยควบคุมภายในห้องกักโรคของแดนแรกรับ และได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยการ SWAB ครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ผลไม่พบการติดเชื้อ และทำการตรวจหาเชื้อครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ผลไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน จนกระทั่งวันที่ 26 เมษายน 2564 ได้อนุญาตให้ น.ส.ปนัสยาลงจากห้องกักโรค (บนอาคารเรือนนอน) ลงมาอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังอื่นภายในแดนแรกรับ จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ภายหลังจาก น.ส.ปนัสยา ปล่อยตัวไป ไม่พบผู้ต้องขังแดนนี้ติดเชื้อ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงผู้ต้องขังที่นอนห้องเดียวกันและใช้ชีวิตใกล้ชิดกับ น.ส.ปนัสยา ตั้งแต่พ้นจากห้องกักโรค จำนวน 4 คน ก็ไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน กรมราชทัณฑ์ ไม่ได้มีนโยบายหรือสั่งการให้ปิดบังข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในเรือนจำและทัณฑสถานแต่อย่างใด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"