รัฐฐบาลเร่งเดินหน้ายกระดับและผลักดันประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง มุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่รัฐบาลหวังจะใช้ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบไปทุกภาคส่วน แต่การก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลก็ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ การท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. ก็ยังมีแผนเดินหน้าพัฒนาโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. เปิดเผยว่า การท่าเรือฯ มีแผนจะยกระดับเป็นท่าเรือชั้นนำที่ได้มาตรฐานสากล โดยมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานให้มีมาตรฐานในระดับโลก การพัฒนาสู่การเป็นประตูการค้าหลักและศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งการพัฒนาสินทรัพย์ในเชิงธุรกิจให้มีมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาการให้บริการและยกระดับการทำงานมุ่งสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง ด้วยการนำระบบ Port Community System (PCS) หรือระบบศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ ทั้งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ทั้งภาครัฐและเอกชนมาใช้เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการรองรับโครงข่ายการเชื่อมโยงด้าน Logistics ในระดับนานาชาติ”
เร่งพัฒนาท่าเรือ
โดยการท่าเรือฯ จะเดินหน้าเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือของประเทศ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ที่การท่าเรือฯ ต้องการผลักดันให้เป็นท่าเรือน้ำลึกหลักของไทย มีเนื้อที่รวมทั้งหมด 6,340 ไร่ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอีอีซี ดังนั้นการยกระดับให้ท่าเรือแหลมฉบังกลายเป็นท่าเรือหลักของภูมิภาคและเป็นเมืองท่าแห่งอนาคต และมีส่วนสำคัญในการอำนวยความสะดวกเรื่องของการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ
"การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี ตามแผนงานโครงการอีอีซี จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 และสอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการเมืองการบินอู่ตะเภาที่จะแล้วเสร็จในปี 2568" เรือโทกมลศักดิ์กล่าว
อีกหนึ่งโครงการคือ การพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อก่อสร้างลานขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟบนพื้นที่ 600 ไร่ ให้สามารถรองรับรถไฟได้ 12 ขบวน พร้อมติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) ซึ่งจะรองรับตู้สินค้าได้ 2 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี รวมทั้งโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ) ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศ และระบบโลจิสติกส์ได้อย่างครบวงจร
สำหรับท่าเรือกรุงเทพ ได้มีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือทุ่นแรง รวมถึงกระบวนการทำงานภายในองค์กรและการให้บริการ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีโครงการปรับปรุงและพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ส่งเสริมระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) และพัฒนาระบบขนส่งและการขนถ่ายสินค้าให้มีโครงข่ายเชื่อมโยง (Logistics Chain) ภายในประเทศ ให้สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 240,000 ที.อี.ยู.ต่อปี
นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ระนอง (ท่าเรือระนอง) จังหวัดระนอง เพื่อรองรับ โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน และผลักดันให้ท่าเรือระนองเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตก ล่าสุด กทท.ได้ดำเนินการให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท กรีนเนอร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ศึกษาและสำรวจออกแบบ (Detail Design) และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาศักยภาพท่าเรือระนอง และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมนำข้อเสนอต่างๆ ของภาคประชาชนไปประกอบการดำเนินโครงการปรับปรุงท่าเรือระนองให้มีประสิทธิภาพ
เดินหน้าแหลมฉบังเฟส 3
เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นั้น ล่าสุดหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบผลประโยชน์ตอบแทนภาครัฐของโครงการฯ ค่าสัมปทานคงที่มูลค่าสุทธิที่ 29,050 ล้านบาท และให้คณะกรรมการการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศฯ กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาซองที่ 4 ผลประโยชน์ตอบแทนด้านการเงินและมีมติเห็นชอบกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จากประเทศจีน ผ่านการประเมินซองที่ 4 และได้ทำการเปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 5 ซองข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการฯ
ส่วนการพิจารณาซองที่ 5 นั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติตั้งคณะทำงานช่วยพิจารณาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และพิจารณาร่างสัญญาร่วมทุนฯ โดยมีผู้แทนของกรรมการคัดเลือกฯ จากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะทำงาน จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาร่างสัญญาฯ และสรุปเสนอต่ออัยการสูงสุดพิจารณาได้ประมาณกลางเดือน พ.ค. หลังจากนั้นจะเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป
“ตามขั้นตอน คาดว่าในส่วนของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ กทท. จะดำเนินการตามกระบวนการเสร็จภายในเดือน มิ.ย. จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กพอ. เพื่ออนุมัติการลงนาม ซึ่งในขณะนี้ได้มีการเตรียมพร้อมเรื่องการลงนามคู่ขนานไปด้วยแล้ว” เรือโทกมลศักดิ์ กล่าว
ผุดสมาร์ทพอร์ต
เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากแผนการพัฒนาท่าเรือแล้ว ทาง กทท.ยังมีแผนที่จะพัฒนาที่ดินในเชิงธุรกิจให้มีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะจะพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ตั้งอยู่กลางเมือง มีพื้นที่ 2,353 ไร่ ให้เป็น สมาร์ทพอร์ต ซึ่งในส่วนนี้มีพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีแผนที่จะพัฒนาเป็นโครงการสมาร์ทพอร์ต (Smart Port) แบบมิกซ์ยูส ประกอบด้วย ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์กลางการแพทย์ โรงแรม สปอร์ตคอมเพล็กซ์ และท่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ โดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ระยะเวลา 30-35 ปี
"ศักยภาพที่ดินปัจจุบันมีราคาประเมินประมาณ 200,000 บาทต่อตารางวา ให้การพัฒนาให้เกิดความคุ้มค่า ทำให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของกรุงเทพฯ ดังนั้นแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าเรือกรุงเทพ พื้นที่ทั้งหมด 2,353 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ 4 แปลง โดยจะเริ่มจากที่ดิน 17 ไร่ ติดอาคารสำนักงานของ กทท. ส่วนแนวทางการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารทรัพย์สินนั้นจะดำเนินการคู่ขนานกับการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ก่อน อย่างไรก็ตามพื้นที่ 17 ไร่เป็นพื้นที่ว่าง มีความพร้อมในการดำเนินการ จะมีการทบทวนผลการศึกษาให้เป็นปัจจุบัน จากนั้นจะเสนอบอร์ด กทท.ขอดำเนินการ โดยจะพัฒนาเชิงพาณิชย์แบบ Mixed use เป็น สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์แสดงสินค้า นิทรรศการ ศูนย์การประชุม พื้นที่ค้าปลีก เป็นต้น ขณะที่ประเมินมูลค่าที่ดินประมาณ 200,000 บาทต่อตารางวา" เรือโทกมลศักดิ์กล่าว
ปัดฝุ่นท่าเรือบกขนส่งสินค้า
เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวว่า กทท.มีแผนยกระดับให้มีมาตรฐานในระดับโลก นำระบบ Port Community System (PCS) มาบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมาก หรือ Big Data ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านการขนส่งทางน้ำทั้งภาครัฐและเอกชน หรือระบบศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อมาให้บริการ รวมถึงพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ซึ่งร่วมศึกษากับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ และฉะเชิงเทรา (อีอีซี) รวมถึงลงนามความร่วมมือกับกลุ่มอมตะ ที่ได้เข้าไปลงทุน Dry Port ที่ สปป.ลาว เพื่อรับสินค้าจากจีนและลาวไปยังท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เป็นการต่อยอดในการเพิ่มปริมาณตู้สินค้าอีกทาง
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของการท่าเรือฯ ในไตรมาสแรกปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณสินค้าผ่านท่า ลดลง 6.24% หรือคิดเป็น 25.762 ล้านตัน และตู้สินค้าผ่านท่า ลดลง 2.81% หรือ 2.311 ล้าน ที.อี.ยู. ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื่อว่าหลังจากที่ประเทศไทยและหลายประเทศมีวัคซีนป้องกัน ส่งผลให้ปริมาณสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่ามีทิศทางฟื้นตัว อย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่เป็นปัจจัยหลักสะท้อนการเติบโตของปริมาณสินค้า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |