‘ซิโนแวค’มาอีก5แสนโดส ‘ปูพรม’ฉีดแล้วกว่า2ล้าน


เพิ่มเพื่อน    

 

"ซิโนแวค" ถึงไทยแล้วอีก 5 แสนโดส ยอดรวม 4.5 ล้านโดส ขณะที่โฆษกรัฐบาลเผยยอดฉีดวัคซีนโควิด  มากกว่า 2 ล้านโดสแล้ว "อนุทิน" โปรยยาหอมเร่งปูพรมฉีดที่ภูเก็ต ตั้งเป้าจังหวัดนำร่องเปิดท่องเที่ยว อดีตเลขาฯ พรรคเพื่อไทยตีกินทั้งขึ้นทั้งล่อง เผยฉีด "ซิโนแวค" มาแล้ว ตอนนี้เชื่้อวัคซีนแต่ไม่เชื่้อผู้นำ

    เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ องค์การเภสัชกรรม (GPO) รับมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวคจำนวน 5 แสนโดสจากประเทศจีน และเมื่อรวมวัคซีนซิโนแวคอีกจำนวน 5 แสนโดส ซึ่งกรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุขได้รับบริจาคของประเทศจีนที่ได้เข้ามาวันที่ 14 พ.ค.2564 จะทำให้ปัจจุบันมีวัคซีนซิโนแวคเข้ามาแล้วรวมทั้งสิ้น 4 ล้าน 5 แสนโดส และในปลายเดือนพฤษภาคมนี้จะเข้ามาเพิ่มอีก 1 ล้าน 5 แสนโดส
         นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า สำหรับการรับมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวคจากประเทศจีนในครั้งนี้ เพิ่มอีกจำนวน 5 แสนโดส จำนวน 14 พาเลท ที่มีการบรรจุภายในตู้ควบคุมอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส ตลอดการขนส่งเพื่อรักษาคุณภาพ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคของไทย ไปแล้วคือ
     วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ล็อตแรก จำนวน 2 แสนโดส, วันที่ 22 มีนาคม จำนวน 8 แสนโดส, วันที่ 10 เมษายน จำนวน 1 ล้านโดส, วันที่ 24 เมษายน จำนวน 5 แสนโดส, วันที่ 6 พฤษภาคม จำนวน 1 ล้านโดส, วันที่ 14 พฤษภาคม เป็นวัคซีนที่ทางประเทศจีนบริจาค จำนวน 5 แสนโดส, 15 พ.ค. จำนวน 5 แสนโดส รวมเข้ามาแล้ว 4 ล้าน 5 แสนโดส และในปลายเดือนพฤษภาคมนี้จะเข้ามาอีกจำนวน 1 ล้าน 5 แสนโดส รวมเป็นทั้งสิ้น 6 ล้านโดส
    องค์การเภสัชกรรมจะทำการจัดหาวัคซีนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยวัคซีนทุกล็อตที่รับเข้ามาจะมีการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส ตลอดเวลาการจัดส่งและจัดเก็บ โดยวัคซีนทำการจัดเก็บยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นคลังที่มีคุณภาพ มาตรฐาน จากนั้นองค์การฯ จะตรวจรับและส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อทำการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และเอกสารต่างๆ เมื่อผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอนแล้ว จะส่งให้กรมควบคุมโรคตรวจรับวัคซีนและกระจายไปยังหน่วยบริการและสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามแผนที่ทางกรมควบคุมโรคกำหนดต่อไป
    ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตั้งแต่ประเทศไทยได้เริ่มทำการฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนแล้วมากกว่า 2,124,732 โดส ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว มีจำนวน 1,416,732 ราย แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 869,860 ราย ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 411,706 ราย และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และบุคคลที่มีโรคประจำตัว 134,866 ราย สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ (ได้รับวัคซีน 2 เข็ม) มีจำนวน 708,300 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 435,092 ราย ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 232,362 ราย และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปและบุคคลที่มีโรคประจำตัว 40,846 ราย
    ทั้งนี้ หากคิดเป็นจำนวนโดสที่เข้ามาในประเทศไทยและได้รับการจัดสรรแล้ว บุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วจำนวน 1,304,952 โดส คิดเป็นร้อยละ 61.42 ของจำนวนโดสทั้งหมดที่เข้ามา ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 644,068 โดส คิดเป็นร้อยละ 30.31 ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและบุคคลที่มีโรคประจำตัวได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 175,712 โดส คิดเป็นร้อยละ 8.27 ซึ่งจนถึงวันนี้พบผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน ที่ได้รับการยืนยันจากคณะผู้เชี่ยวชาญแล้วเพียง 14ราย ซึ่งทุกรายอาการหายเป็นปกติแล้ว และยังไม่พบผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุจากวัคซีนแต่อย่างใด
    นายอนุชากล่าวว่า ตั้งแต่วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกที่เข้าถึงไทยเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 นั้น ปัจจุบันได้มีการจัดสรรวัคซีนไปแล้ว 2,454,496 โดส ขณะที่วัคซีนซิโนแวคจะทยอยเข้ามาอีกในเดือน พ.ค.2564 นี้ โดยได้เข้ามาแล้วเมื่อวันที่ 6 พ.ค. จำนวน 1 ล้านโดส วันที่ 14 พ.ค. มาถึงไทยแล้ว 5 แสนโดส วันที่ 15 พ.ค. อีก 5 แสนโดส และก่อนสิ้นเดือน พ.ค. อีก 1.5 ล้านโดส รวมเดือน พ.ค.นี้ จะมีวัคซีน Sinovac เข้ามาทั้งสิ้น 3.5 ล้านโดส ซึ่งพร้อมจะกระจายไปทั้ง 77 จังหวัด
    ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับประชาชนทุกคน จึงได้มีการปรับเพิ่มการจัดหาวัคซีนจาก 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดส ส่วนรูปแบบการกระจายวัคซีนนั้น จะดำเนินการผ่าน 3 รูปแบบ คือ 1.การนัดผ่านไลน์หรือแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” 2.นัดเป็นกลุ่ม เช่น อสม. หรือผ่านทางองค์กรภาครัฐและเอกชนที่จะรวบรวมสมาชิก และ 3.การ Walk-In โดยสัดส่วนการจัดสรรทั้ง 3 รูปแบบนี้ จะปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเห็นสมควร ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งจะต้องพิจารณาทั้งประเด็นของปริมาณวัคซีนและสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะรูปแบบการ Walk-in จะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2564 นี้เป็นต้นไป
    “ขอเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านระบบหมอพร้อม ผ่านองค์กรต่างๆ ที่จะนำบุคลากรมาฉีดเป็นกลุ่ม และระบบ Walk-In ที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายนนี้ และขอให้ประชาชนแต่ละจังหวัดติดตามการประกาศของจังหวัดในรายละเอียดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะยึดแนวนโยบายของที่รัฐบาลกำหนด” นายอนุชากล่าว
    ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่งมอบวัคซีน จำนวน 1 แสนโดสแก่จังหวัดภูเก็ต และร่วมประชุมวางแผนการจัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 11 ณ ห้องประชุม ราชพฤกษ์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
    นายอนุทินกล่าวภายหลังการประชุม ว่าการฉีดลักษณะปูพรมจะเริ่มตั้งแต่ มิ.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งภูเก็ตไม่ต้องกังวล นำร่องวัคซีน 2 แสนโดส วันนี้มาอีก 2 แสนโดส เดือนหน้าวัคซีนแอสตร้าฯ จะส่งมาจำนวนมาก ภูเก็ตจะเป็นจังหวัดที่ปลอดภัยจังหวัดแรกตามนโยบายเปิดเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นจังหวัดนำร่อง เปิดท่องเที่ยวไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้เน้นย้ำทุกเรื่องของวัคซีนคือ ฉีดให้เร็ว แต่ไม่ฉีดให้แรง และฉีดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
    สำหรับแผนการกระจายวัคซีนภูเก็ตที่ได้รับส่งมอบให้โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จำนวน 35,000 โดส, โรงพยาบาลถลาง จำนวน 8,760 โดส, โรงพยาบาลป่าตอง จำนวน 3,760 โดส, โรงพยาบาลฉลอง จำนวน 2,520 โดส รวมทั้งหมดจำนวน 50,040 โดส จากนั้นในวันที่ 16 พ.ค.64  โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตจะมอบวัคซีนในจำนวนดังกล่าวนี้อีกครั้ง เพื่อนำไปฉีดตามจุดต่างๆ ทั้ง 6 จุดในจังหวัดภูเก็ตต่อไป
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้ไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่าจากที่ได้มีการสื่อสารข้อมูลของบุคคลบางกลุ่มที่พยายามนำเสนอเพื่อให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดในการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 จึงเป็นเรื่องที่ดีที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในเรื่องนี้ และขณะนี้หลายภาคส่วนก็ช่วยกันประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.ของพรรคที่ได้ฉีดวัคซีนแล้วก็มีการช่วยสื่อสารหลายช่องทาง
         นายราเมศกล่าวต่อว่า นอกจากการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว การป้องกันการสื่อสารที่เป็นการบิดเบือนก็ควรจะต้องมีการเฝ้าติดตามเพื่อจัดการกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด แน่นอนว่าหากไม่ดำเนินการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ก็จะเกิดปัญหาความเชื่อถือ ความร่วมมือ ความเชื่อมั่น ในการบริหารจัดการควบคุมโรคได้ อยากให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นหลักที่ทำหน้าที่ ได้ทำงานเชิงรุกเพิ่มขึ้นในทุกช่องทางเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น นำไปสู่การเข้าถึงการใช้วัคซีนที่มีความปลอดภัยและให้คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้นต่อไป
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลพยายามจัดโปรแกรมฉีดวัคซีนแบบปูพรมบรรดากลุ่มเสี่ยง ไฟเขียวให้แต่ละจังหวัดบริหารจัดการฉีดวัคซีนแบบวอล์กอินทั่วประเทศว่า ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายออกมาเตือนแล้วว่าต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ฉีดให้ได้มากที่สุด แต่รัฐบาลก็ไม่ได้เร่งฉีด ครั้นจวนตัวถูกกดดันด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่ง ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูง จึงเพิ่งมาเริ่มดำเนินการ ประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ในขณะที่เครดิตความเชื่อมั่นของรัฐบาลแทบไม่เหลือ การสื่อสารมีปัญหา ประชาชนตื่นตระหนก หวาดผวาผลข้างเคียง จนเกิดคำถาม ระหว่างกลัวติดโควิดกับกลัวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน อย่างไหนน่ากลัวมากกว่ากัน
    น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพฯ อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว เป็นวัคซีนของซิโนแวค โชคดีที่หลังฉีดไม่มีผลข้างเคียงใดๆ เกิดขึ้น เชื่อว่านาทีนี้คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจำนวนมากคงอดคิดไม่ได้ว่าเมื่อถึงคิวที่ตัวเองไปฉีดวัคซีนจะมีอันตรายหรือผลข้างเคียงตามที่สื่อมวลชนประโคมข่าวอยู่ทุกวันหรือไม่
    "ผมไม่โทษใครทั้งสิ้น เพราะข่าวสารต่างๆ ที่หลั่งไหลออกมา ย่อมทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไม่กล้าไปฉีดวัคซีน แต่ในฐานะของฝ่ายบริหารที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ผมคงต้องกล่าวโทษผู้นำประเทศ ที่ท่านแทบไม่เคยออกมาพูด หรือทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจและมั่นใจในเรื่องนี้เลย ผมเองก็ถามตัวเองอยู่หลายครั้งว่าผมไม่เชื่อมั่นในวัคซีน หรือไม่เชื่อมั่นในตัวผู้นำประเทศกันแน่" น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"