สงครามร้อนระหว่างจีนกับสหรัฐหลีกเลี่ยงได้หรือไม่


เพิ่มเพื่อน    

 

ภาพ : อีกมุมของเมืองเซี่ยงไฮ้

เครดิตภาพ : https://unsplash.com/photos/D7InODIWyK4

 

           ทฤษฎีสัจนิยม (Realism) ชี้เสมอว่า การเผชิญหน้าจะเกิดขึ้นเมื่อต่างคิดรักษาผลประโยชน์ของตน ความขัดแย้งเกิดเมื่อผลประโยชน์ขัดกัน เสี่ยงเกิดความรุนแรงหากเจรจาไม่สำเร็จ

            จีนย้ำว่า 2 มหาอำนาจสามารถอยู่ด้วยกันได้ ยึดหลักได้ผลประโยชน์ร่วมกัน (win-win) เคารพอธิปไตย จีนกำลังก้าวขึ้นมาอย่างสันติ ไม่คิดเป็นมหาอำนาจผู้เป็นเจ้า ไม่คิดล้มรัฐบาลสหรัฐหรือรัฐบาลประเทศใดๆ มุ่งมั่นพัฒนาประเทศด้วยสันติ หวังให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุข

            ฝ่ายสหรัฐปัจจุบันเป็นอภิมหาอำนาจ ผลประโยชน์มากมายกระจายทั่วโลก ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปัจจุบัน รัฐบาลทุกชุดมีหน้าที่ต้องรักษาผลประโยชน์อเมริกัน รวมทั้งผลประโยชน์ที่อยู่ต่างแดน

            จีนที่กำลังก้าวขึ้นมาขัดผลประโยชน์สหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง BRI ที่โครงการร่วมทุนของจีนกำลังแผ่ขยายในหลายประเทศ หลายกรณีที่ร่วมทุนกับจีนคือการเลือกไม่ร่วมทุนกับสหรัฐ หรือไม่ร่วมทุนกับพันธมิตรสหรัฐ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ชี้ชัดสภาพของการมีได้มีเสีย ตรงข้ามกับหลัก win-win

            การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI ) เป็นตัวเลขชี้วัดที่ดี ยุคโควิด-19 ต่างชาติลงทุนในสหรัฐลดลงแต่เพิ่มที่จีน United Nations Conference on Trade and Development รายงานว่า ปีที่แล้ว (2020) บริษัทต่างชาติลดลงทุนในสหรัฐ 49% เหลือ 134,000 ล้านดอลลาร์ ไปลงทุนในจีนเพิ่ม 4% เป็น 163,000 ล้านดอลลาร์

            ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลฟื้นตัวเร็ว บรรยากาศน่าลงทุนหรืออะไรก็แล้วแต่ FDI บ่งชี้ว่าจีนเป็นผู้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทั่วโลกมากขึ้นทุกที ไม่แปลกที่ขนาดเศรษฐกิจโตขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นอันดับ 2 ของโลก และยอมรับกันทั่วไปว่าจะแซงสหรัฐในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

            เศรษฐกิจที่เติบโตทันสมัยย่อมหมายถึงพลังเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อพลังอำนาจอื่นๆ มีงบประมาณมหาศาลพัฒนากองทัพ ยานอวกาศ เทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ พร้อมกับพัฒนาสังคมจีน คนจีนใช้สมาร์ทโฟนด้วยระบบเครือข่าย 5G ขนส่งระบบรางที่ทันสมัย ปกติแต่ละปีคนจีนหลายล้านคนท่องเที่ยวทั่วโลก นักศึกษาจีนคือนักศึกษาต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ปีการศึกษา 2019/20 มีมากถึง 372,542 คน คิดเป็น 34.6% ของจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด หลายคนจบปริญญาโท ปริญญาเอกที่นั่น เป็นจีนที่กำลังเจริญก้าวหน้าเหมือนประเทศพัฒนาอื่นๆ

เสือ 2 ตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้:

            นักวิชาการบางคนอธิบายว่า เสือ 2 ตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ (Thucydides Trap) ประวัติศาสตร์พิสูจน์หลักการนี้มาแล้วหลายครั้ง

            มีนาคม 2021 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ย้ำกองทัพต้องเข้มแข็งกว่านี้ ตามแผนพัฒนาฉบับใหม่ (2021-2025) กองทัพต้องพร้อมรบ พัฒนาระบบโต้กลับ ปฏิบัติการร่วมของเหล่าทัพ พัฒนากองทัพด้วยเทคโนโลยีของตนเอง โอกาสเกิดเหตุร้ายมีเสมอ ต้องอยู่ในสภาพพร้อมรบตลอดเวลา คาดเดาได้เลยว่ากองทัพจีนจะยิ่งใหญ่ก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่

            เมษายน 2021 พลเรือเอกเจมส์ สตาฟริดิส (James Stavridis) ผู้บัญชาการกองเรือสหรัฐในทะเลจีนใต้ ประเมินว่า สหรัฐกับจีนอาจทำสงครามกันในช่วงปี 2024-26 เร็วกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเคยประเมินไว้ จีนกำลังทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีไซเบอร์ อาวุธไฮเปอร์โซนิก ด้านอวกาศ และก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว (เป็นอีกปัจจัยชี้ว่าจะเกิดสงคราม) การที่จีนสร้างเรือบรรทุกเครื่องบิน มีกองเรือรบขนาดใหญ่ เป็นหลักฐานบ่งบอกว่าจีนไม่ต้องการดูแลทะเลจีนใต้เท่านั้น

            นายพลสตาฟริดิสกล่าวเสริมว่า สหรัฐไม่ต้องการทำสงครามและไม่อยากให้เกิด แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะปิดหูปิดตาไม่รับรู้ความจริงที่เกิดขึ้น สหรัฐยินดีที่สมาชิกนาโตหลายประเทศส่งเรือรบไปเอเชียแปซิฟิก เพื่อเตือนจีนว่าทะเลจีนใต้ไม่ใช่ของใครคนหนึ่งเท่านั้น

            การก้าวขึ้นมาของกองทัพจีนเป็นอีกประเด็นที่ฝ่ายสหรัฐติดตามอย่างใกล้ชิด หากพิจารณาพลังอำนาจการรบจริง จีนได้เปรียบในแง่ใกล้แผ่นดินแม่ ในขณะที่สหรัฐต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลหลายพันกิโล แต่โดยรวมแล้วสหรัฐเป็นฝ่ายได้เปรียบ โดยเฉพาะกองกำลังอาวุธนิวเคลียร์ที่จีนเทียบไม่ได้เลย

ประเด็นขัดแย้งหลัก:

            ถ้าไม่นับเรื่องการเผชิญหน้าโดยตรง ประเด็นที่อาจบานปลายมักเป็นเรื่องเก่าหลายสิบปี เช่น กรณีไต้หวัน ไม่กี่เดือนก่อนพลเรือเอกฟิล เดวิดสัน (Phil Davidson) ผู้บัญชาการ Indo­Pacific Command กล่าวต่อวุฒิสภาเป็นกังวลว่าจีนจะโจมตีไต้หวันภายในปี 2027 ประเด็นข้อพิพาทหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุที่โหมแรงเป็นครั้งๆ ถ้าคิดให้ดีจะพบว่าการเผชิญหน้าทางทหารเกิดในบริเวณที่ใกล้แผ่นดินจีน เป็นส่วนหนึ่งของจีน (ถ้ายึดว่าทะเลจีนใต้กับไต้หวันเป็นของจีน)

            สิทธิมนุษยชนเป็นอีกประเด็นน่าติดตามว่าจะถูกโหมให้รุนแรงในสมัยไบเดนหรือไม่ ชี้ความเลวร้ายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ชี้นำเศรษฐกิจ รัฐวิสาหกิจจีน (SOE) เป็นเครื่องมือของรัฐ นำสู่ข้อสรุปว่าเป็นภัยคุกคามระบอบเสรีประชาธิปไตย ประโยคต่อมาจะพยายามแยกให้เกิดขั้วเกิดฝ่าย หากจะรักษาเสรีประชาธิปไตยไว้ต้องช่วยกันต้านจีน ผู้เชี่ยวชาญนักการทูตหลายคนเอ่ยถึง “สงครามเย็นใหม่”

            มกราคม 2021 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า ผลสุดท้ายของการเผชิญหน้าแบบสงครามเย็นจะนำโลกสู่ทางตัน (“dead-end”) ไม่ควรแสดงว่าตนใหญ่ด้วยการแบ่งแยก ถ้าโลกไม่มีกฎระเบียบ (ที่มีอยู่แล้ว) เท่ากับพาโลกสู่กฎแห่งป่า (law of the jungle) มนุษยชาติจะถูกทำลาย ในอีกวาระกล่าวว่า ต้องไม่ปล่อยให้ไม่กี่ประเทศวางกฎเกณฑ์บังคับให้ประเทศอื่นๆ ต้องปฏิบัติตาม หรือปล่อยให้บางประเทศใช้ลัทธิเอกภาคีนิยม (unilateralism) ควบคุมสันติภาพโลก นานาชาติต้องปรึกษาหารือกันมากขึ้น ตัดสินใจร่วมกันและทำงานร่วมกัน โลกาภิวัตน์เรียกร้องให้ยึดมั่นพหุภาคีนิยม ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ต่างกันต่างอยู่

ความขัดแย้งทางสังคม:

            ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักมีมิตรกับศัตรูอยู่เสมอ บางครั้งการเป็นศัตรูสัมพันธ์กับศาสนาความเชื่อ บางครั้งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หรือเชื้อชาติที่ย้อนหลังได้นับร้อยนับพันปี

            ความขัดแย้งอาจจำกัดกรอบในหมู่ชนชั้นปกครอง เป็นเรื่องของการแสวงหาอำนาจของผู้ปกครอง ความทะยานอยากของผู้นำนักรบ แต่บางครั้งขยายมาสู่ระดับประชาชนคนทั่วไป คนเชื้อชาติหนึ่งเห็นด้วยกับการทำร้ายทำลายคนอีกเชื้อชาติหนึ่ง

            ประเด็นการเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติคนเอเชียในสหรัฐกำลังเป็นที่กล่าวขวัญ อันที่จริงแล้วคนจีนมีในสหรัฐมานานแล้ว คนจีนเคยเป็นแรงงานต่างด้าวสำคัญของอเมริกา และส่วนหนึ่งอยู่จนถึงปัจจุบัน บางครอบครัวอยู่หลายชั่วคนแล้ว ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่คนเหล่านี้ที่เอ่ยถึงเป็นพลเมืองอเมริกันโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่ถึงกระนั้นบ่อยครั้งพวกเขาได้รับการปฏิบัติเหมือน “คนต่างด้าวตลอดกาล” (“perpetual foreigners”)

            ด้วยกระแสต้านจีนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในสมัยรัฐบาลทรัมป์ เมื่อทรัมป์พยายามชี้ว่าจีนเป็นภัยร้าย ทำลายเศรษฐกิจ ต้นเหตุคนอเมริกันว่างงาน มักเรียกไวรัสโควิด-19 ว่า “China virus” ฯลฯ บวกกับค่านิยม White Supremacy ที่คนอเมริกันส่วนหนึ่งเห็นว่าคนผิวขาวสมควรอยู่อย่างอภิสิทธิ์ชนเหนือคนเชื้อสายอื่นๆ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ เหล่านี้ทำให้กระแสเหยียดคนเอเชียรุนแรง รัฐบาลไบเดนยอมรับว่ามีปัญหานี้

            ต้นเหตุเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติเช่นนี้มาจากชนชั้นปกครอง กลายเป็นความขัดแย้งที่ฝังลึกลงในสังคม ช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐ (นโยบายต้านจีน)

            ความขัดแย้งระหว่างประเทศเกิดขึ้นอยู่เสมอ ประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ความสำคัญคือ ทำอย่างไรจะจำกัดความขัดแย้งให้อยู่ในกรอบ ในระยะ 100 ปีโลกผ่านสงครามโลกมาแล้ว 2 ครั้ง สงครามตัวแทนอีกหลายครั้ง ยุคโลกาภิวัตน์หลายคนปฏิเสธสงคราม มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น แต่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีนทวีความรุนแรงเช่นกัน บางคนคิดถึงสงครามร้อนแล้ว ในยุคนี้ที่เทคโนโลยีก้าวหน้าดูเหมือนไม่อาจยับยั้งความขัดแย้งที่เกิดจากรัฐบาลต่อรัฐบาล แล้วขยายสู่ประชาชน สู่ประชาคมโลก

            เป็นประเด็นที่ท้าทายว่าสงครามใหญ่ระหว่าง 2 มหาอำนาจหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ได้ ประชาชนมีส่วนกำหนดอนาคตโลกมากแค่ไหน.

--------------------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"