สกัดข่าวปลอม - Fake News สร้างโซเชียลสีขาว
ที่ผ่านมาสังคมโซเชียลมีเดียเจอปัญหาเรื่อง ข่าวปลอม หรือ Fake News มากมายอยู่แล้ว แต่ในช่วงโควิดระบาดในประเทศไทย เห็นได้ชัดว่าข่าวปลอมเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดสังเกต ซึ่งเรื่องดังกล่าวในภาครัฐก็มี ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบ เอาผิด ชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ดูแล้วปัญหาข่าวปลอมในโซเชียลมีเดียคงจะมีออกมาอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์แต่ละช่วง
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงการตรวจสอบและปิดกั้นเฟกนิวส์ของกระทรวงต่อจากนี้ รวมถึงความเห็นเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียในประเทศไทย ซึ่ง รมว.ดีอีเอสเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานมาศึกษาเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย ส่วนเป้าหมายของการศึกษาเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ
โดยเมื่อตั้งคำถามถึงการควบคุมตรวจสอบ "เฟกนิวส์" ของกระทรวงดีอีเอส ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ ชัยวุฒิ-รมว.ดีอีเอส เปิดเผยการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงว่า มีหน้าที่ในการดำเนินการตรวจสอบ ค้นหาเฟกนิวส์ โดยติดตามการโพสต์ การเคลื่อนไหวต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย โดยเมื่อพบว่าสิ่งไหนไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย เราก็จะแจ้งเตือนประชาชน สิ่งนี้คือหน้าที่ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่ทำอยู่ และได้มอบนโยบายให้การติดตามต่อจากนี้ให้เข้มขึ้นมากขึ้น โดยเฉพาะเฟกนิวส์ที่มีผลกระทบกับประชาชน ก็ต้องรีบแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ เช่นการแถลงข่าว เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในจำนวนมาก เพื่อเตือนประชาชน แต่สิ่งที่เรายังขาดอยู่ก็คือการไปให้ความรู้กับประชาชน
...สำหรับเฟกนิวส์มีสองส่วนคือ หนึ่ง ภาครัฐก็ต้องตรวจสอบ ปิดกั้น ส่วนที่สองคือ คนที่ใช้หรือคนที่แชร์ข่าว ข้อมูลต้องระมัดระวังและมีความรู้ เช่นหากเป็นเฟกนิวส์ก็ไม่ควรไปแชร์ข่าวนั้น หรือข่าวไหนไม่เหมาะสมก็อย่าไปเชื่อ อย่าไปใช้ เรื่องเหล่านี้ก็ต้องไปสอนประชาชนด้วย สิ่งนี้คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เฟกนิวส์ลดลงได้
ลักษณะของเฟกนิวส์ที่พบในช่วงที่ผ่านมามีสองส่วนคือ หนึ่ง เกิดจากการหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ และทางการเมือง ที่มีบางคนสร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประชาชนบางส่วนอาจจะยังไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น ก็ไปช่วยกันแชร์ จนเฟกนิวส์ขยายผลออกไปกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องที่มันหวือหวา ซึ่งเฟกนิวส์ส่วนแรกคือที่เกิดจากการหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือกลุ่มการเมืองที่ใช้เฟกนิวส์เพื่อโจมตีกัน ก็อาจจะห้ามยาก เพราะฝ่ายที่ทำพยายามทำอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ พยายามดำเนินคดีและปิดกั้น ตรงไหนที่ต้องดำเนินคดี กระทรวงทำอย่างเต็มที่ โดยควบคุมได้ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ภาคประชาชน ต้องช่วยกัน อะไรที่มันเป็นเฟกนิวส์ ดูแล้วเป็นข่าวที่ไม่ดี สร้างผลกระทบต่อบ้านเมืองต่อประชาชน ก็อย่าไปแชร์ อย่าไปส่งเสริมกัน
สำหรับการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เมื่อตรวจพบเฟกนิวส์หรือว่ามีคนร้องเรียนแล้วศูนย์เข้าไปตรวจสอบ เราก็จะส่งข่าวหรือข้อความนั้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่ากรณีดังกล่าวที่ศูนย์ตรวจสอบเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เช่นเรื่องการแพทย์ เรื่องยา กรณีโควิด ก็จะสอบถามโดยตรงไปยังกระทรวงสาธารณสุข หรือเรื่องการขนส่ง ก็สอบถามไปยังกระทรวงคมนาคม ให้เขาชี้แจงว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง และเมื่อเราพบว่าเป็นเฟกนิวส์ เราก็ต้องรีบแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ เช่น แอปพลิเคชันไลน์หรือเฟซบุ๊กที่กระทรวงดิจิทัลฯ เปิดไว้ รวมถึงการแถลงข่าว จากนั้นก็เป็นเรื่องของการดำเนินคดี ถ้ามันเข้าข่ายว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็จะมีการสืบสวนว่าใครเป็นผู้ทำ แล้วก็ดำเนินคดีต่อไป
...เรื่องการดำเนินคดี เป็นเรื่องของตำรวจ (ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ-ศปอส.ตร.) บางกรณีก็เป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. หน่วยงานต่างๆ ก็เข้ามาดำเนินคดีต่อไป ส่วนหากว่าเป็นเฟกนิวส์ ที่เป็นลักษณะเรื่องทางการเมืองและเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา สามารถขอให้มีการดำเนินการปิดกั้นได้ผ่าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ เข้าไปดำเนินการ ซึ่งเฟกนิวส์หากเข้าข่ายหมิ่นประมาท ทางผู้เสียหายก็ไปแจ้งความดำเนินคดี แต่เฟกนิวส์เรื่องไหนที่คนเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องช่วยกันสอดส่อง แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ทำกันขึ้นมา โดยเราก็ต้องให้ความรู้กับประชาชนว่าเฟกนิวส์มันผิดกฎหมาย เพื่อให้เขาระมัดระวังไม่ทำกันขึ้นมา
ชัยวุฒิ-รมว.ดีอีเอส กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเกิดขึ้นของเฟกนิวส์ก็จะเกิดขึ้นตามกระแสของแต่ละช่วงเวลา อย่างช่วงนี้เป็นเรื่องของวัคซีนโควิด ที่เป็นเรื่องซึ่งประชาชนสนใจ ก็จะมีข่าวเรื่องวัคซีนเยอะ หรือบางช่วงที่เป็นช่วงมีการชุมนุมทางการเมืองมีม็อบ จะมีเรื่องม็อบเยอะ ผมว่าเฟกนิวส์มาเป็นช่วงๆ ไม่ได้มาตลอดเวลา ที่สำคัญก็คือเราต้องยอมรับความจริงว่า คนไทยมีสิทธิเสรีภาพสูง และมีระบบการสื่อสารที่ทันสมัย ผมว่าในระดับโลกคนไทยมีสิทธิและมีช่องทางการสื่อสารที่กว้างมาก ใช้อินเทอร์เน็ตกันทุกคน ทำให้การแชร์ข้อมูลต่างๆ การติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง อย่างเรื่องไหนที่อยู่ในความสนใจของประชาชน แค่ไม่นานเรื่องนั้นกระจายไปทั่วเลย
กระทรวงดิจิทัลฯ มีนโยบายที่จะเข้าไปกำกับดูแลเรื่องนี้ ที่ผมใช้คำว่า โซเชียลมีเดียสีขาว คือต้องเปลี่ยน จากที่วันนี้มันยังเทาๆ เยอะ เช่นเรื่องการซื้อของผิดกฎหมาย เรื่องลามกอนาจาร เฟกนิวส์รวมถึง Social Bullying ที่ใช้โจมตีกันทางการเมือง มันต้องหมดไปจากสังคมไทย เราต้องมาช่วยกัน เช่นต้องมีการวางเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องแก้ไข การกำกับดูแลให้เข้มข้นขึ้น และสุดท้ายคือต้องให้ความรู้กับประชาชน ให้ประชาชนปรับทัศนคติการใช้โซเชียลมีเดียให้ดีขึ้น ไม่ใช่ใช้โซเชียลมีเดียมาด่ากัน ทำร้ายกัน โจมตีประเทศไทย มาใส่ร้ายกัน แบบนี้มันไม่ควร
เรื่องโซเชียลสีขาว เราก็กำลังดูเรื่องของกฎหมายที่เรามีอยู่ บางเรื่องอาจต้องปรับแก้ไข หรืออาจจะออกกฎกระทรวงหรือออกประกาศ ออกระเบียบ เช่นไปกำกับดูแลให้การใช้โซเชียลมีเดียให้เข้มข้นขึ้น อันนี้เราก็กำลังศึกษาอยู่ แต่ยังพูดลงรายละเอียดไม่ได้ รวมถึงเรื่องการสร้างความรู้ให้กับประชาชน ปรับทัศนคติของคน แนวทางเรื่องโซเชียลสีขาวก็คือ อย่างการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการสื่อสาร หรือการขายของ ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ต้องเป็นไปโดยถูกกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ไม่ทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ยกตัวอย่างเช่น การขายของผิดกฎหมาย มันไม่ควรมีในโซเชียลมีเดีย ในสื่อออนไลน์ อย่างปัจจุบันจะพบว่าหากจะซื้อสิ่งของที่ผิดกฎหมาย ก็ซื้อได้หมด ซื้อปืน ยาเสพติด ซื้อยาที่เขาห้ามจำหน่ายกัน ก็มีขายกันหมดในออนไลน์ อย่าง บุหรี่ไฟฟ้า ก็ซื้อขายกันออนไลน์ ซึ่งความจริงมันผิดกฎหมาย อะไรที่มันผิดกฎหมายต้องเลิกได้แล้ว สิ่งที่ขายในระบบออฟไลน์ (กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นนอกเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือไม่ได้ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทาง) ก็ต้องขายในระบบออนไลน์ไม่ได้ ต้องไปทำให้ระบบนี้มันเกิดขึ้น
อย่างวันนี้เราคุมสื่อสารมวลชนเช่นหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ มีการกำกับดูแลเข้มข้น อย่างผู้ประกาศก็ต้องไปสอบใบผู้ประกาศ หรือหนังสือพิมพ์ การทำหนังสือพิมพ์ก็ต้องไปจดแจ้งเปิดหนังสือพิมพ์ แต่สื่อออนไลน์มีสักใบไหม การเป็นผู้ประกาศสื่อออนไลน์อยากด่าใครก็ด่า อยากพูดอะไรก็พูด ไม่มีการกำกับดูแลเลย สื่อออนไลน์บางแห่งมีคนดูเยอะแยะ เหมือนทีวี ดูข่าว อย่างบางช่องออนไลน์ไม่รู้ว่านับเป็นสื่อหรือไม่ แต่ก็ไม่มีใครไปกำกับ เพราะไม่ได้เป็นทีวี ไม่ใช่วิทยุ ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ แบบนี้ควรต้องกำกับดูแลได้ ทำไมสื่ออย่างหนังสือพิมพ์ยังมีการกำกับดูแล แต่สื่อออนไลน์ที่เสนอข่าวแบบหนังสือพิมพ์ไม่สามารถกำกับดูแลได้ทั้งที่มีคนติดตามเยอะกว่า
หลักคิดของผมก็พยายามให้สิ่งที่อยู่ในออนไลน์ ให้มาอยู่ในมาตรฐานเดียวกับออฟไลน์ปกติในเรื่องการกำกับดูแล ซึ่งบางทีต้องแก้กฎหมายหรือเพิ่มนิยาม อย่างวันนี้เราพูดถึงหนังสือพิมพ์ คือการพิมพ์หนังสือ แต่สื่อแบบหนังสือพิมพ์ออนไลน์ปัจจุบันก็มีเยอะ แล้วจะคุมกันอย่างไร ก็ปั่นป่วนประชาชนได้เหมือนกัน เราต้องแก้กฎหมายตามยุค อันนี้ที่ผมคิด แต่จะทำได้มากหรือน้อยแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็ต้องคิดและพยายามทำ
-มองว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบันล้าสมัย ไม่ทันกับยุคสมัยการเปลี่ยนแปลง?
ใช่ อย่างเรามีการคุมหนังสือพิมพ์ ส่วนข่าวออนไลน์ไม่มีการกำกับดูแล แต่หนังสือพิมพ์มีอะไรขึ้นมาสั่งปิดกันได้เลย คือตอนนี้สื่อออนไลน์ก็มีกฎหมายอื่นควบคุมอยู่ แต่ผมคิดว่ามันน่าจะมีอะไรที่เข้มข้นกว่านี้ ซึ่งผมก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา ซึ่งตอนนี้ก็มีแนวคิดอยู่แต่ยังไม่ตกผลึก
-สิ่งที่บอกหรือปัญหาที่พบ มันเกิดจากช่องโหว่ทางกฎหมายหรือไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย?
ช่องโหว่ทางกฎหมายก็อันหนึ่ง สองเป็นเพราะเรื่องของเทคโนโลยี เพราะบางทีก็ไม่ได้ปิดกั้นได้จริง เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันระบบสารสนเทศไม่ได้ปิดกั้นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างพวกเว็บการพนัน พอมีการสั่งปิดไป คนที่ทำก็ไปเปิดเว็บใหม่อีก มันก็ไม่ได้บล็อกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สุดท้ายอยู่ที่ประชาชน ต้องบอกประชาชนให้รับรู้ว่าอะไรที่มันไม่ถูกต้อง อะไรที่ไม่ควรทำในโลกออนไลน์ก็อย่าไปทำ ต้องมีการให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งพวกเว็บผิดกฎหมายต่างๆ ตำรวจมีการเข้าไปจับกุมดำเนินคดี แต่มันยังมีอยู่อีกเยอะ เราต้องเน้นการให้ความรู้กับประชาชน เพราะที่ผ่านมามีการปิด-บล็อกไว้ แต่ยังมีคนทำสิ่งเหล่านั้นอยู่ตลอดทุกวัน อย่างผมเองต้องเซ็นเอกสารคำสั่งปิดเว็บผิดกฎหมายเกือบทุกวัน เดือนหนึ่งเป็นร้อย พวกเว็บผิดกฎหมายอย่างการพนัน ลามกอนาจาร ทางเราก็ปิดก่อนแล้วไปแจ้งความ ตำรวจก็ไปตามจับต่อไป แต่จะจับเร็วหรือช้าก็อยู่ที่การสอบสวนของตำรวจ
-เรื่องการดำเนินการกับพวกกระทำผิดมาตรา 112 ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย?
มีการดำเนินคดีอยู่ คนที่ทำผิดมาตรา 112 โดยใครที่โพสต์หรือเผยแพร่ข้อมูล มีการพยายามปิดกั้นอยู่ โดยใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ไปดำเนินการ ส่งไปให้ศาล ทางศาลก็มีคำสั่งปิดกั้นแล้วก็ส่งไปพวกแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก, ยูทูบ ปิดกั้นคือนำเนื้อหาออกไป แต่อย่างบางกรณีที่เห็นว่าอาจเป็นการฉ้อโกง เช่นเพจปลอม พวกเพจที่โกงประชาชน สร้างความเสียหายให้บ้านเมือง เราก็ประสานไปโดยตรง เขาก็ปิดกั้นนให้เรา เช่นทำเพจปลอมว่าเป็นของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แล้วหลอกประชาชนว่าใครอยากได้เลขเด็ดให้โอนเงินมา ที่คือการหลอกลวง เรามีการประสานไปยังเฟซบุ๊ก เขาก็ปิดกั้นให้เรา เพราะลักษณะนี้เป็นการหลอกลวงประชาชน หากปล่อยให้เผยแพร่นานไปอาจมีคนโอนเงิน สร้างความเสียหาย เขารีบปิดกั้นให้ คือทุกคนมีสิทธิ์ในการทำเพจต่างๆ แต่หากทำแล้วมีเจตนาไม่ดี ทำผิดกฎหมาย ต้องมีการดำเนินคดี บังคับใช้กฎหมาย เก็บรวบรวมพยานหลักฐาน อะไรที่ผิดก็ดำเนินคดีไป
-ที่บอกว่าตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องโซเชียลมีเดีย เป็นคณะทำงานแบบไหน?
เป็นของกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อออกระเบียบ เรียกว่าคณะทำงานเพื่อกำกับดูแลการใช้โซเชียลมีเดีย รอให้เป็นรูปธรรมแล้วจะมีการแถลงข่าวอีกครั้ง
-การไปติดตามหรือทำอะไรต่างๆ เกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย เกรงไหมว่าคนบางส่วนก็มองเรื่องจะไปกระทบสิทธิของประชาชนในการใช้โซเชียลมีเดียในด้านต่างๆ จะมีเส้นแบ่งตรงนี้อย่างไร?
ก็อย่างที่ถาม คือหากเราไปกำกับดูแลมาก ไปคุมมาก มันก็เหมือนกับไปจำกัดสิทธิประชาชน ตรงนี้ผมก็เข้าใจ ถึงได้บอกว่าการจะไปออกประกาศหรือระเบียบต่างๆ หรือไปออกกฎหมายเพื่อกำกับเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ถึงต้องมีการศึกษาให้ดีก่อน และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ แล้วประชาชนเขารับได้ไหม กระบวนการตรงนี้ผมถึงยังไม่อยากพูดลงรายละเอียดมากตอนนี้ รอให้มีความชัดเจนก่อนแล้วถึงค่อยประกาศจะดีกว่า ต้องหาความพอดี กำลังศึกษากันอยู่ ต้องคุยกันให้ชัดเจนและได้ข้อสรุป จนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องถึงจะประกาศออกไป แต่เข้าใจว่าเรื่องนี้ต้องหาความพอดี จุดสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพของประชาชน กับความสงบสุขของบ้านเมือง มันต้องบาลานซ์กัน บางอย่างถ้าปล่อยมากไปบ้านเมืองก็อาจไม่สงบสุข ทำผิดกฎหมายกันเยอะแยะ บ้านเมืองวุ่นวาย ประชาชนเดือดร้อนเสียหาย แต่ถ้าคุมมากไป คนก็อาจถูกจำกัดสิทธิ ก็ต้องหาความพอดี ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่กำลังทำเรื่องนี้อยู่
-จะมีการเข้าไปดูเรื่องแพลตฟอร์มการซื้อของขายทางออนไลน์หรือไม่ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นของต่างประเทศ แล้วไม่มีการเสียภาษี เงินรั่วไหล?
ตอนนี้การทำธุรกิจออนไลน์ในเมืองไทยเปิดเสรี มีต่างชาติเข้ามาลงทุนกันเยอะ ซึ่งมันก็เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่เราก็ต้องเข้าไปกำกับดูแล อย่างน้อยก็เรื่องการ เสียภาษี เพื่อให้เข้ามาอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายประเทศไทย เพราะการขายของออนไลน์ก็ต้องเสียภาษีเหมือนคนขายสินค้าปกติ เมื่อคนขายของออนไลน์ไม่เสียภาษี ก็ทำให้ราคาสินค้าจะขายได้ถูกกว่า ก็ทำให้คนขายของปกติแข่งกับพวกขายออนไลน์ไม่ได้ ก็ต้องเข้าไปดู และปัจจุบันคนก็ไปทางออนไลน์กันเยอะ อย่างรัฐบาลก็ใช้ระบบ App เป๋าตัง ทำให้ประชาชนคุ้นเคยกับการใช้เงินผ่านระบบดิจิทัล ต่อไปการทำธุรกรรมต่างๆ ก็จะเยอะ เราก็ต้องเข้าไปกำกับดูแล ผมก็คุยกับหน่วยงานในกระทรวง ให้ไปดูเรื่องการออกประกาศ ออกระเบียบเพื่อกำกับดูแลการค้าขายของทางระบบออนไลน์ พวก E-commerce ให้ชัดเจนกว่านี้ ปัจจุบันยังไม่ค่อยมีการกำกับดูแล ก็กำลังร่างกันอยู่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ทั้งผู้ประกอบการและคนซื้อสินค้า เพื่อให้มีการคุ้มครองคนซื้อสินค้าไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกฉ้อโกงกัน การจ่ายเงิน การชำระเงินต้องไม่มีการโกงกัน โดยเฉพาะการทำให้เกิดระบบการยืนยันตัวตน ต้องทำให้เกิดระบบพิสูจน์ตัวตน การยืนยันตัวตนทางโลกออนไลน์ให้ได้
โดยหากคนที่ติดต่อกันยืนยันตัวตนได้ คนที่คิดจะทำผิดกฎหมายก็จะเกิดความเกรงกลัว เพราะสามารถรู้ตัวคนทำผิดจนมีการไปตามจับกุมได้ ก็ทำให้การหลอกลวง การฉ้อโกงในโลกออนไลน์ก็น่าจะลดลง ส่วนเรื่องภาษีก็อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งตอนนี้กรมสรรพากร กรมศุลกากร ทางกระทรวงการคลังทำอยู่แล้ว มีระบบที่เข้าไปดูเรื่องพวกนี้อยู่ เราก็ประสานงานกันอยู่ คือมีทั้งมาตรการทางภาษีและมาตรการในเรื่องการกำกับดูแล
นอกจากนี้เรื่องที่สำคัญในงานของกระทรวงดิจิทัลฯ ก็คือการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล พวกอินเทอร์เน็ต WiFi พวกเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาประเทศ ทั้งการส่งเสริมในส่วนของภาคเอกชนและภาครัฐให้ลงทุนด้านนี้เพื่อบริการประชาชน อย่างปัจจุบันเป็นยุค 5 จี ก็ต้องส่งเสริมให้เอกชนนำ 5 จีมาบริการประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ 5 จีได้ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ เข้าสู่การเป็นยุคเศรษฐกิจดิจิทัลสมัยใหม่ ซึ่งการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านนี้ต้องเน้นเรื่องความทันสมัย มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เราแข่งขันในเวทีโลกได้ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ การกระจายเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารไปถึงทุกคน ทุกภูมิภาค ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพราะอินเทอร์เน็ตตอนนี้ไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย แต่เป็นของจำเป็นในการดำเนินชีวิต ผมก็กำลังพยายามผลักดันอยู่ คือปรับให้สังคมมองอินเทอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภค ซึ่งตอนนี้ยังไม่ใช่ เพราะอินเทอร์เน็ตต้องสาธารณูปโภค เป็นสิ่งที่รัฐต้องบริการให้ประชาชนและประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เหมือนไฟฟ้า น้ำประปา
เรื่องนี้ผมกำลังศึกษาอยู่และจะประกาศเพื่อทำให้สำเร็จให้ได้ โดยการดำเนินการก็คือต้องให้รัฐบาลประกาศเป็นนโยบาย แล้วจากนั้นให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมาย งบประมาณ ให้มองว่าอินเทอร์เน็ตคือสาธารณูปโภค อย่างสถานการณ์โควิดเวลานี้ รัฐบาลมีการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ แต่จะเห็นได้ว่าไม่มีเรื่องของอินเทอร์เน็ต ทั้งที่ทุกคนใช้อินเทอร์เน็ตกันหมดทุกคน
...วันนี้ก็ถึงเวลาแล้ว และก็มีความพร้อมในการทำให้เกิดรัฐบาลดิจิทัล เช่นการติดต่อระหว่างหน่วยราชการกันเอง หรือประชาชนไปติดต่อหน่วยราชการ ต้องใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาช่วย เช่นลดการใช้กระดาษ หรือการติดต่อก็อาจไม่จำเป็นต้องไปที่หน่วยราชการแล้ว ติดต่อทางออนไลน์ได้ ซึ่งคิดว่าระบบมันมีความพร้อมแล้ว วันนี้ก็เอาเทคโนโลยีเข้ามาแล้วให้ข้าราชการปรับแนวคิดเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งตอนนี้ก็ไปได้เยอะแล้ว แต่ก็จะทำให้เข้มข้นขึ้นและกว้างขวางมากขึ้นไปถึงอีกหลายหน่วยงาน อย่างกระทรวงดิจิทัลฯ ก็ตั้งใจว่าภายในปีนี้จะทำให้เป็น E-Office การติดต่อภายในให้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช้กระดาษแล้ว ไม่ต้องมีการเซ็นแฟ้ม ก็ตั้งใจไว้ และปีหน้าก็อาจให้ไปถึงเกือบทุกกระทรวง ก็ต้องเริ่มคิดกันแล้ว เพราะหากไม่มีการส่งสัญญาณไปก็ไม่ทำกัน ก็ยังจะใช้ระบบเดิมกัน ส่วนเรื่องการที่ประชาชนจะเข้าไปติดต่อหน่วยงานราชการ ก็ต้องพยายามใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยมากขึ้น อย่างเคยคุยกับตำรวจว่า ตอนนี้แจ้งความออนไลน์ก็น่าจะทำได้แล้ว
-หลังจากเข้ารับตำแหน่งมาได้ประมาณหนึ่งเดือนกว่า เห็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องในสายงานของกระทรวงดิจิทัลฯ ฉบับใดที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและรองรับสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือไม่?
เท่าที่ดูยังไม่เห็นว่าจะต้องแก้ไขกฎหมายอะไร เพราะกฎหมายประเทศไทยมีการแก้ไขกันเยอะแล้วในช่วงที่ผ่านมา เท่าที่เห็นกฎหมายต่างๆ ยังพอไปได้อยู่ เพียงแต่พวกระเบียบ ประกาศต่างๆ ของกระทรวงอาจจะยังไม่ค่อยชัดเจน อาจต้องทำตรงนี้ก่อน แก้ประกาศ ระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงาน การกำกับดูแล การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้น ตอนนี้ดูแล้วคงยังไม่ต้องแก้ไขกฎหมายอะไร ก็ดูที่ระเบียบ ประกาศต่างๆ ก่อน แต่หากไม่ไหวจริงๆ ค่อยแก้กฎหมาย แต่เท่าที่ดูคิดว่ากฎหมายเมืองไทยมีความทันสมัยพอสมควร เพียงแต่คนที่บังคับใช้ คนของกระทรวงเรา ก็อาจต้องออกประกาศ ระเบียบต่างๆ มาให้มีความเข้มข้นขึ้น อย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เท่าที่ดูเห็นว่ายังโอเค ไม่เห็นว่ากฎหมายมีปัญหา เพียงแต่ก็อาจปรับเรื่องของการทำงาน มีการออกประกาศ ระเบียบให้มันชัดเจน ก็น่าจะไปได้
เราย้อนกลับมาถามในประเด็นเชิงการเมืองอีกครั้ง โดยตั้งคำถามว่า ช่วงหลังความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้แค่สู้กันในรัฐสภาหรือบนท้องถนน แต่สู้กันในโซเชียลมีเดีย เป็นสงครามไซเบอร์ แล้วคิดว่ารัฐบาล หน่วยงานรัฐ จะทำอย่างไร รมว.ดิจิทัลฯ" กล่าวตอบว่า จุดยืนของผม อันดับแรกก็คือการดำเนินการตามกฎหมาย ใครที่ทำผิดกฎหมาย ไปโพสต์ข้อความที่ผิดกฎหมายหรือทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง เราต้องดำเนินคดี ใช้อำนาจของเราไปดำเนินการ เรื่องที่สอง คือในฐานะเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาล ต้องช่วยชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราเข้มข้นในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง สิ่งเหล่านี้คงจะหายไป น่าจะดีขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเมืองก็จะเป็นช่วงๆ บางช่วงการเมืองก็แรง ก็เป็นระยะๆ คงไม่ได้ร้อนตลอด
ถามถึงว่า มองว่าการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยมีเสรีภาพเกินไปหรือไม่ เกินขอบเขตหรือไม่ ชัยวุฒิ-รมว.ดิจิทัลฯ ให้ความเห็นว่า จะบอกว่าเกินขอบเขตก็คงไม่ใช่ เพราะประชาชนก็มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนใช้สิทธิ์ได้เต็มที่ เพียงแต่บางเรื่องหากไปหมิ่นประมาทคนอื่น หรือทำให้บ้านเมืองเสียหาย หรือผิดกฎหมาย ก็ต้องมีการเข้าไปกำกับดูแล ทำให้มันถูกต้อง เพราะไม่อย่างนั้นบ้านเมืองก็ไปไม่ได้ แต่ถามว่าคนไทยมีสิทธิ์หรือไม่ คนไทยก็มีสิทธิ์ โดยมีสิทธิ์ไม่ได้น้อยกว่าประเทศอื่นในโลก ผมว่าสิทธิ์เราเยอะกว่าหลายประเทศในโลก เยอะมาก เพียงแต่ว่าอาจจะมีการใช้เกินสิทธิ์ คือสิทธิ์เรามีแค่นี้ แต่บางทีไปใช้เกินสิทธิ์ ไปละเมิดสิทธิ์คนอื่น เช่นไปด่าคนอื่น มันไม่ได้ อันนี้คือปัญหา เช่นไปใส่ร้ายคนอื่น แบบนี้ทำไม่ได้เพราะมันผิดกฎหมาย ต้องไปไล่ดำเนินคดีกัน จึงต้องมีการให้ความรู้กับประชาชนว่า มีสิทธิ์แต่อย่าไปละเมิดสิทธิ์คนอื่น
"การใช้โซเชียลมีเดียในประเทศไทย เนื่องจากเราเป็นประเทศที่เปิดกว้าง ไม่ได้มีการห้ามอะไร ก็มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น แต่อยากให้คำนึงถึงสิทธิ์ของคนอื่น อย่าไปกระทบกับสิทธิ์ของคนอื่น และอะไรที่เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่ถูกกฎหมาย ก็อย่าไปทำ".
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |