ทึ่ง! 'ซูเปอร์โพล' ชี้คนสูงอายุเชื่อมั่นวัคซีนมากกว่าวัยรุ่น พบข่าวปลอมเป็นอุปสรรค


เพิ่มเพื่อน    

15 พ.ค.64 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง วัคซีน กับ ความต้องการของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,268 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 9 – 14 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.5 ระบุจำเป็นและต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดระดับค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 23.3 ระบุปานกลาง และร้อยละ 9.2 ระบุค่อนข้างน้อยถึงไม่เลย

ที่น่าพิจารณาคือ คนสูงอายุส่วนใหญ่กลับมีทัศนคติที่ดีต่อการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดมากกว่า คนอายุน้อย โดยพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.5 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไปและร้อยละ 64.4 ของคนอายุ 40 – 59 ปีและร้อยละ 48.5 ของคนอายุ 18 – 39 ปี เชื่อมั่นวางใจบุคลากรแพทย์ในชุมชนที่เป็น อสม. มาช่วยเรื่องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.9 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 78.6 ของคนอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 65.0 ของคนอายุ 18 – 39 ปีเชื่อมั่นวางใจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล/สถานพยาบาลใกล้ชุมชน มาฉีดวัคซีนโควิดให้

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.5 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 70.3 ของคนอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 66.4 ของคนอายุ 18 – 39 ปีเชื่อว่าถ้าได้รับวัคซีนโควิดจะช่วยลดอาการหนักเป็นเบา ในขณะที่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.9 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 69.3 ของคนอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 65.8 ของคนอายุ 18 – 39 ปีกลัวตายเพราะโควิดมากกว่า กลัวตายเพราะฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.0 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 76.6 ของคนอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 71.6 ของคนอายุ 18 – 39 ปีรู้ว่าถ้าฉีดวัคซีนโควิด ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคได้มากขึ้น 

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.3 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 74.8 ของคนอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 66.5 ของคนอายุ 18 – 39 ปีวิกฤตชาติโควิดครั้งนี้จะแก้ได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.3 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 75.8 ของคนอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 63.7 ของคนอายุ 18 – 39 ปีคนที่ติดโควิดมีโอกาสตาย มากกว่า คนที่ฉีดวัคซีนตาย ในขณะที่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.9 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 77.0 ของคนอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 65.5 ของคนอายุ 18 – 39 ปีคนที่ติดโควิดจะทรมาน มากกว่า การฉีดวัคซีน 

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.2 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 76.9 ของคนอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 69.4 ของคนอายุ 18 – 39 ปีระบุการฉีดวัคซีนจะช่วยทำให้เราเปิดประเทศได้เร็วขึ้น การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตปกติจะกลับมา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เป็นอุปสรรคการฉีดวัคซีนของคนไทย พบว่า การสร้างข่าวปลอม ข่าวเท็จ เฟกนิวส์ สร้างความกลัวในคนที่ไม่รู้จริง ร้อยละ 93.2 รองลงมาคือ การปล่อยข้อมูลผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนที่ไม่เป็นจริง ร้อยละ 93.1 การปล่อยข้อมูลทำให้คนรอยี่ห้อวัคซีน ร้อยละ 91.0 และ การใช้ประเด็นวัคซีนการเมืองปั่นกระแสสร้างความสับสนในหมู่ประชาชน ร้อยละ 90.8 ตามลำดับ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ได้ชัดเจนอย่างน่าทึ่งว่า คนสูงอายุส่วนใหญ่กลับมีทัศนคติที่ดีต่อการฉีดวัคซีนสูงกว่าคนอายุน้อย แต่ปัญหาข้อมูลข่าวสารที่ไม่ชัดเจน ได้สร้างความสับสนและความกลัวต่อการฉีดวัคซีน ทำให้คนจำนวนมากไม่กล้าฉีดวัคซีนและต้องการวัคซีนที่ดีที่สุด ผลที่ตามมาคือ การเผยแพร่บอกต่อข้อมูลข่าวสารในทางลบต่อวัคซีน ได้ลดทอนความเชื่อมั่น ทำให้ชีวิตของประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงสูงและทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศโดยรวม การได้รับวัคซีนของประชาชนจำนวนมากที่มีผลต่อการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จะเป็นทางออกให้เราสามารถเปิดและฟื้นประเทศได้เร็วขึ้น เพื่อให้เราทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติและลดความเสี่ยงต่อชีวิตของทุกคนในครอบครัว 

ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวต่อว่า ที่น่าห่วงคือคนประมาณร้อยละ 10 อาจจะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อตัวเองและผู้อื่น  เพราะเห็นถึงความจำเป็นของวัคซีนน้อยถึงไม่เห็นความจำเป็นเลย  อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของคนที่ตอบแบบสอบถามความคิดเห็นความต้องการความเชื่อมั่นวางใจของประชาชนต่อการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดออกมาสอดคล้องตรงกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์แก้วิกฤตโควิดของประเทศอย่างลงตัว ในทุกกลุ่มช่วงอายุเพราะเกินกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไปที่ระบุความต้องการจำเป็นในการฉีดวัคซีนและยังตระหนักถึงความสำคัญของวัคซีนว่าจะช่วยแก้วิกฤตชาติได้ ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุบ้างแต่สัดส่วนของคนที่เห็นถึงความจำเป็นต้องฉีดและต้องการเป็นไปตามเป้าหมายของการรณรงค์ฉีดวัคซีน

“แต่ประเด็นท้าทายอยู่ที่การบริหารจัดการวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะยังไม่สามารถตอบสนองปริมาณและความต้องการของประชาชนที่ต้องการจะฉีดวัคซีนป้องกันโควิดซึ่งมีจำนวนมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือ การนำประเด็นวัคซีนมาเล่นการเมือง ทั้งการสร้างความสับสนหวาดระแวงโกรธเกลียดกัน การสร้างความนิยมชมชอบกัน หรือเอาชนะคะคานกันทางการเมืองไม่คำนึงถึงความอยู่รอดของประเทศ จนประชาชนสับสนข้อมูล ต้องการสิ่งที่ดีกว่าจนเกิดเป็นวัคซีนทางเลือกในอนาคตที่ยังเลือนลาง อาจไม่ทันกับเวลาที่ทำให้เราต้องสูญเสียโอกาส ตามมาด้วยการสูญเสียคนที่เรารักและแม้กระทั่งตัวเองอย่างเดียวดายในภาวะโรคระบาดร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้น  ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องสร้างความชัดเจน ความเข้าใจและเชื่อมั่นให้มากขึ้น เพื่อให้ “วัคซีน” ได้ทำหน้าที่ของ มันเพื่อปกป้องเราทุกคน” ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"