ผนึกพลังจัดทำ“คู่มือวัคซีนสู้โควิดฉบับประชาชน”


เพิ่มเพื่อน    

          สสส. สธ. IHPP สช. WHO UNICEF  สถาบันวัคซีนแห่งชาติหลอมรวมผลักดัน “คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน” เป็นแนวปฏิบัติ ก่อนฉีดวัคซีน 7 มิ.ย.นี้ คนไทยควรอ่านเพื่อเข้าใจข้อมูลถูกต้อง แนะเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งก่อน-หลังฉีด ลดกังวล คลายทุกปม เข้าใจอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยเสี่ยง 7 กลุ่มโรค พึงระวังไขทุกปัญหามีคำตอบแนวปฏิบัติ ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

              

          ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.) กล่าวว่า สสส.ได้จัดทำ “คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องวัคซีนด้วยข้อมูลที่ถูกต้องทางการแพทย์  และมีความรู้ที่เพียงพอในการตัดสินที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยคู่มือฉบับนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สสส.  กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) องค์การอนามัยโลก  (WHO) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ รวบรวมแหล่งข้อมูลที่ครบทุกเรื่องเกี่ยวกับวัคซีนที่ประชาชนควรได้อ่านก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อให้รู้และเข้าใจวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ทั้งก่อนและหลังฉีดวัคซีน

 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

 

          ตามแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทย จะเริ่มฉีดวัคซีนระยะที่ 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป (ผู้ที่เกิดก่อนปี  2504) และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ประกอบด้วย 1.โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งทุกชนิด 6.โรคเบาหวาน และ 7.โรคอ้วน โดยเริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิ.ย. - 31 ก.ค. 2564 ส่วนการฉีดวัคซีนระยะที่ 3 เริ่มฉีดเดือน ส.ค. 2564 ให้กับประชาชนทั่วไปช่วงอายุตั้งแต่ 18-59 ปี การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ให้กับสังคมไทย

 

 

          “ที่ผ่านมามีคำถามเกี่ยวกับวัคซีนเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างมาก ทั้งในเชิงวิชาการ วัคซีนทำงานอย่างไร เชิงทางการแพทย์ วัคซีนกับการจัดการโรคระบาด รับวัคซีนแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อ หรือแพร่เชื้ออีกหรือไม่ ก่อน  ระหว่าง หลัง การรับวัคซีนโควิดควรทำตัวอย่างไร เมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์จัดการอย่างไร ป่วยเป็นโรคอะไรบ้างที่รับวัคซีนได้ หรือกลุ่มไหนที่รับวัคซีนไม่ได้ และลงทะเบียนรับวัคซีนได้ที่ไหน คำถามเหล่านี้จะมีคำตอบในคู่มือวัคซีนสู้โควิดฯ ที่เข้าใจง่าย คลายข้อสงสัย และความวิตกกังวล ซึ่ง สสส.จัดทำในรูปแบบรูปเล่ม และแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้คนในสังคมไทยได้เข้าถึงมากที่สุด และสามารถดาวน์โหลดได้แล้วในรูปแบบดิจิทัล ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” ดร.สุปรีดา กล่าว

          ก่อนรับวัคซีนควรศึกษาข้อมูล เมื่อฉีดวัคซีนแล้วยังต้องเว้นระยะห่าง ฉีดวัคซีนแล้วยังต้องล้างมือให้บ่อย ฉีดวัคซีนเป็นการสร้างภูมิให้ร่างกาย ฉีดวัคซีนแล้วยังต้องสวมหน้ากากเพื่อเป็นการป้องกันด้วย

          นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อม ก่อน ระหว่าง  และหลังการฉีดวัคซีน มีข้อควรปฏิบัติดังนี้ 1.ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนและขั้นตอนการรับบริการให้เข้าใจ 2.สำรวจตนเองหากมีไข้สูงในวันนัดหมายฉีดวัคซีนควรแจ้งขอเลื่อนการฉีดออกไปก่อน 3.เมื่อถึงวันนัดหมาย ควรไปถึงสถานที่ฉีดก่อนเวลาอย่างน้อย 30 นาที 4.ตรวจสอบข้อมูลยืนยันตัวบุคคลลงทะเบียนผ่านไลน์ “หมอพร้อม” ในโทรศัพท์มือถือให้เรียบร้อย 5.ให้ข้อมูลสุขภาพอย่างละเอียดและถูกต้อง เช่น ประวัติการแพ้ยา วัคซีน อาหาร สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ 6.หลังได้รับวัคซีนควรเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างน้อย 30 นาที 7.เมื่อได้รับวัคซีนเข็มแรกควรเตรียมตัวสำหรับการนัดหมายฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และ  8.ทุกคนต้องสวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และล้างมือทั้งก่อน ระหว่าง หลังการฉีดวัคซีน

 

นพ.นคร เปรมศรี  

 

 

          นพ.นคร กล่าวต่อว่า สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ เกิดขึ้นได้กับการฉีดวัคซีนทุกชนิด ถือเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่เป็นสัญญาณแสดงว่า ร่างกายกำลังถูกกระตุ้นให้วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน คือ 1.อาการไม่พึงประสงค์ทั่วไป  ได้แก่ ปวด บวม มีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนใหญ่หายได้เองใน 24-28 ชั่วโมง บรรเทาได้ด้วยการกินยาลดไข้ แก้ปวด พักผ่อน ดื่มน้ำ และ 2.อาการไม่พึงประสงค์ที่ควรพบแพทย์ เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองวัคซีนมากเกินไป มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากอาจเกิดกับผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีน มักเกิดภายใน 30 นาทีหลังการฉีด  อาการที่พบ ได้แก่ ไข้สูง กินยาก็ไม่ลด หน้ามืดเป็นลม  ความดันเลือดต่ำ แน่นหน้าอก หายใจขัด รักษาให้หายได้ ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนแล้ว ถือว่าผ่านการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษ และไม่ก่อผลข้างเคียงรุนแรง  หรือพบในอัตราที่ต่ำมาก

 

 

 

          ทั้งนี้ สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อรับคู่มือวัคซีนสู้โควิดฯ ฉบับอิเล็กทรอนิกส์ หรือดาวน์โหลดได้ที่  http://ssss.network/2uq08 และติดตามข้อมูลเพิ่มได้ที่ www.thaihealth.or.th/ไทยรู้สู้โควิด.

 

 

คนไทยควรอ่านก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

 

          ช่วงที่ผ่านมามีคำถามมากมายเกี่ยวกับวัคซีนเกิดขึ้นในสังคมไทย “คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน” ได้รวบรวมข้อมูลที่ครบทุกเรื่องเกี่ยวกับวัคซีนที่ประชาชนควรได้อ่านก่อนเข้ารับการฉีด

          รู้จักวัคซีนโควิด วัคซีนทำงานอย่างไร วัคซีนต่างชนิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่างกันหรือไม่ ฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อหรือไม่ การรับรองประสิทธิภาพคุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีน  ใครควรได้รับวัคซีน ใครไม่สามารถรับวัคซีนได้ อาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน การให้บริการวัคซีน ข้อปฏิบัติก่อนการรับและหลังการรับวัคซีน คลายความสงสัยเรื่องวัคซีน

          ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ แพร่เชื้อได้ทั้งทางตรงทางอ้อม  จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ผ่านสารคัดหลั่ง เช่น  น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย หรือผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ จากทางเดินหายใจที่เกิดจากการไอ จาม การพูดคุย โดยเข้าสู่ร่างกายได้ทางเยื่อบุต่างๆ เช่น ตา จมูก ปาก

          ผู้ติดเชื้อพบได้ในทุกเพศทุกวัย ผู้ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มีอาการได้ตั้งแต่ ไม่มีอาการ อาการเล็กน้อยไม่รุนแรง จนถึงอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิต อาการที่พบบ่อยคือ มีไข้ ไอแห้งๆ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ผื่น  ท้องเสีย ตาแดง

          เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ เราอาจติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อก็ได้ ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ชนิดของเชื้อ (สายพันธุ์)  ปริมาณเชื้อ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อมีการติดเชื้อเกิดขึ้น เราอาจติดเชื้อโดยไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตก็ได้

          ทั้งนี้อาจแบ่งความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 ได้เป็น 2  กลุ่ม คือ

          1.กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คือประชาชนที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อได้มาก เช่น บุคคลที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง  บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้าในการควบคุมโรค บุคคลที่มีอาชีพที่มีโอกาสสัมผัสคนจำนวนมากหรืออยู่ในพื้นที่แออัด 

         2.กลุ่มที่มักมีอาการรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อโควิด-19  ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำอื่นๆ เหล่านี้มักมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ

          วัคซีนโควิด-19 เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่ง ในการขับเคลื่อนพาสังคมไทยออกจากวิกฤติโควิด-19 โดยวัคซีนคือสารชีววัตถุที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคโดยทำงานเสมือนเป็น “คู่ซ้อม” ให้ร่างกายได้ฝึกฝนกลไกการป้องกันโรคตามธรรมชาติ ให้ร่างกายได้รู้จักและมีความพร้อมในการต่อสู้กับเชื้อโรคจริง โดยที่วัคซีนทุกชนิดไม่สามารถก่อโรคได้ ซึ่งวัคซีนอาจผลิตมาจาก

          1.เชื้อโรคที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ หรือเชื้อโรคที่ตายแล้ว

          2.บางส่วนของเชื้อโรคหรือโปรตีนสังเคราะห์ ที่มีลักษณะคล้ายกับบางส่วนของเชื้อโรค

          3.สารพันธุกรรมบางส่วนของเชื้อโรค

          4.การตัดต่อพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคเข้าไปในไวรัสชนิดอื่น

          นอกเหนือจากสารชีววัตถุที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันแล้ว ในวัคซีนยังมีสารประกอบอื่นเพื่อเพิ่มความคงตัว หรือเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน

          วัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่ต้องฉีด 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เพียงพอและอยู่นาน โดยเว้นระยะระหว่างเข็มแตกต่างกัน ซึ่งมักเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2  สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม ในระยะเวลาห่างที่เหมาะสม จึงจะมั่นใจได้ว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันเพียงพอต่อการป้องกันโรคได้

          แม้ว่าวัคซีนจะถูกฉีดเป็นรายคน แต่ก็มีประโยชน์ปกป้องคนใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงได้อีกด้วย ในภาพรวม วัคซีนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการปัญหาโควิด-19 ทั้งช่วยลดความสูญเสียจากการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต ลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และในอนาคตอันใกล้มีความเป็นไปได้ที่จะมีข้อมูลมากที่จะแสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะช่วยลดการติดเชื้อและแพร่กระจายโรคในสังคมได้

          สำหรับวัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศไทย เป็นวัคซีนที่มีข้อมูลความปลอดภัยที่ดี อาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่เป็นอาการเฉพาะที่และหายได้เอง ปัจจุบันยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงในอัตราที่สูงกว่าวัคซีนชนิดอื่นที่ใช้อยู่ทั่วไป

          ตามหลักการควบคุมโรค วัคซีนที่สามารถป้องกันความสูญเสียทางสุขภาพ จากการติดเชื้อตั้งแต่ลดโอกาสติดเชื้อ การเจ็บป่วย การเสียชีวิตของผู้ได้รับวัคซีน และลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ได้รับวัคซีนไปยังบุคคลอื่น อย่างไรก็ตามผู้ได้รับวัคซีนยังมีโอกาสรับเชื้อ มีโอกาสป่วย และมีโอกาสแพร่เชื้อไปยังคนอื่นๆ ได้ ขณะที่ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งในสังคมที่ยังไม่สามารถรับวัคซีนได้ ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่ทุกคนไม่ว่าจะได้รับวัคซีนแล้วหรือไม่ จะยังต้องคงมาตรการป้องกันโรคโควิค-19 ต่อไป ทั้งการสวมหน้ากาก รักษาระยะห่างและหมั่นล้างมือ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่  วัณโรค ฯลฯ ได้อีกด้วย

          คนไทยทุกคนมีสิทธิ์ได้รับบริการวัคซีนโควิด-19 ตามความสมัครใจ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

          โดยมี 8 ขั้นตอนในการดูแลความปลอดภัยผู้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนดังต่อไปนี้

         1.ลงทะเบียนรับบริการ

          2.ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต

          3.คัดกรอง ซักประวัติ

          4.รอฉีดวัคซีน ซึ่งจะมีการให้ความรู้ความเข้าใจอีกครั้งก่อนรับวัคซีน

          5.รับการฉีดวัคซีน โดยเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

          6.พักรอสังเกตอาการ 30 นาที ซึ่งจะมีการจัดห้องปฐมพยาบาล โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์ช่วยชีวิตพร้อมดูแล

          7.ตรวจสอบอาการก่อนกลับบ้าน รับคำแนะนำและเอกสารให้ความรู้

          8.ติดตามข้อมูลและทำการสื่อสารผ่านไลน์ “หมอพร้อม”

 

 

สานพลังคลายทุกข์“@linefamilyเพื่อนครอบครัว”

 

           พม.-สสส.สานพลังวิถีชีวิตใหม่คลายทุกข์ พัฒนาแพลตฟอร์มสื่อสาร “@linefamilyเพื่อนครอบครัว” ให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัวแบบลับเฉพาะตลอด 24 ชั่วโมง  เผยช่วงโควิด-19 ประชาชนแห่ปรึกษากฎหมายครอบครัว พบปมปัญหาความรุนแรงในบ้านมากที่สุด ชวนแอดไลน์และบอกต่อเพื่อเป็นตัวช่วยทุกครอบครัวฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน

 

จินตนา จันทร์บำรุง

 

          จินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อปัญหาครอบครัวหลายรูปแบบ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนักวิชาการด้านครอบครัว พัฒนาแพลตฟอร์ม @linefamily และ www.เพื่อนครอบครัว http://xn--43c.com/ เพื่อช่วยแก้ปัญหาครอบครัวที่เป็นความลับเฉพาะบุคคล โดย@linefamilyเพื่อนครอบครัว คือช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ ที่จะแยกหมวดหมู่ในการสนทนาหรือรับคำปรึกษาแบบพิเศษได้แบบตัวต่อตัว ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาภายใน 24 ชั่วโมง

          จินตนากล่าวต่อว่า แพลตฟอร์มนี้มีการแบ่งบทสนทนาเป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกในการให้คำปรึกษา เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การสร้างความสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว การเลี้ยงลูกหรือการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในภาวะวิกฤติ การให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายครอบครัว และให้คำปรึกษาด้านสิทธิและสวัสดิการครอบครัว เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด การคุกคามทางเพศ การถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและอื่นๆ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพมาให้คำปรึกษา ได้แก่ นักกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยพร้อมให้คำแนะนำ
 

 

          นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานหลัก  ทั้งกรมสุขภาพจิต กรมอนามัย และศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 คอยให้ความรู้หรือคลายข้อสงสัยที่ต้องการค้นหาได้อย่างสะดวก โดยแพลตฟอร์มนี้เปิดตัวตั้งแต่วันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ตรงกับวันแห่งครอบครัว และสอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 พบว่ามีประชาชนร้อยละ 36 สอบถามเรื่องกฎหมายครอบครัว รองลงมาร้อยละ 27 ปรึกษาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เรื่องสวัสดิการสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว และสัมพันธภาพในครอบครัว ทั้งนี้ @linefamily  และ www.เพื่อนครอบครั http://xn--43c.com/ จะช่วยสร้างความอบอุ่น ช่วยให้ครอบครัวเข้มแข็งได้

 

ณัฐยา บุญภักดี

 

          ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างคนที่มีสุขภาวะ ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่เด็กๆ โดยเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพผ่านการสนับสนุนและทำงานเชิงรุก สสส.ทำงานร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในการสร้างความอบอุ่นในครอบครัว ทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง โดยในปีนี้ สสส.ได้สนับสนุนการพัฒนาและสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับครอบครัว นำไปสื่อสารให้เข้าใจง่ายในรูปแบบดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ @linefamily และ www.เพื่อนครอบครัว http://xn--43c.com/ ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น  เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้บางครอบครัวต้องเผชิญกับความเครียด กดดัน จากการว่างงาน การมีรายได้น้อยลง  รวมถึงการกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลานาน

          จุดเด่นของ Line เพื่อนครอบครัว คือ 1.ข้อมูลเชื่อถือได้ มีเมนูเข้าสู่เว็บไซต์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ สามารถเข้ามาดูเมื่อไหร่ก็ได้ 2.มีระบบเก็บข้อมูลที่คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลที่เป็นความลับ เช่น การให้คำปรึกษาจะส่งรหัส OTP ยืนยันตัวตนมาที่มือถือเพื่อให้ใช้เข้าระบบแบบส่วนตัว และ 3.การเชื่อมบริการกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว  กรมอนามัยและกรมสุขภาพจิต โดยจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญจาก  3 หน่วยงานตอบคำถามและให้ข้อแนะนำ และส่งต่อเข้ารับความช่วยเหลือ ผู้สนใจสามารถรับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สนใจได้ เพียงแค่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์หรือไลน์เพื่อนครอบครัว ยืนยันว่าทุกถ้อยคำจะถูกเก็บเป็นความลับเฉพาะบุคคล เพื่อช่วยให้เกิดความมั่นใจ เป็นส่วนตัว และกล้าเปิดใจ

          ณัฐยากล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สสส.ส่งเสริมความเข้มแข็งในครอบครัวผ่าน 3 กลยุทธ์ คือ ทำพื้นที่ต้นแบบ/พื้นที่สาธิต  เพื่อให้ชุมชนเรียนรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถลดปัญหาในครอบครัวได้ด้วยพลังของชุมชนเอง รวมถึงชักชวนผู้ประกอบการ-สถานประกอบการมาเป็นเครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว (family-friendly  workplace) จากนั้นจะถอดบทเรียนเพื่อขับเคลื่อนเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ขยายผลสู่ทุกครอบครัวในสังคมไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

          “สิ่งสำคัญเบื้องต้นที่ทำให้ครอบครัวอบอุ่นเข้มแข็งอยู่ที่การสื่อสาร เพราะการพูดคุยและเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน  จะทำให้คนในบ้านเข้าใจกันมากขึ้น ลดความตึงเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มต้นจากการจัดการอารมณ์ของตนเอง ให้ใจเย็นลง เพิ่มการรับฟัง ให้อภัยกันเพราะเป็นช่วงที่ทุกคนรู้สึกกดดันไม่ต่างกัน แต่เข้าใจว่าบางทีก็ต้องการตัวช่วย สสส.หวังว่าช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ ที่ร่วมพัฒนากับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวจะสามารถเป็นแหล่งช่วยเหลืออีกทางหนึ่งของครอบครัว อยากให้ลองใช้และช่วยกันบอกต่อ” ณัฐยากล่าว.   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"