สสส.หนุนพลังเด็กสร้างสรรค์เป็นจิตอาสาเพื่อสังคมช่วงโควิด


เพิ่มเพื่อน    

 เผยผลสำรวจโควิด-19 ในอีกมุมหนึ่งทำคนไทยตกงานกว่า 6 ล้านคน ใช้ทักษะที่มีทำอาชีพอื่นไม่ได้ พบเส้นทางตีบตัน คาดเด็กจบใหม่เตะฝุ่นกว่า 1.3 ล้านคน ขาดโอกาสพัฒนาศักยภาพ สสส.ผุดโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตสร้างเสริมสุขภาวะ 100 โครงการในพื้นที่ควบคุม 20 จังหวัด เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เน้นพัฒนา 3 ทักษะ เสริมความรอบรู้สุขภาพ-การเงิน-สังคม ความมั่นคงทางอาหาร สร้างอาชีพในชุมชน ศึกษากรณีตัวอย่างพลังเด็กสร้างสรรค์เป็นจิตอาสาเพื่อสังคมส่วนรวม นราธิวาส/กระบี่...

เข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ละระลอกสร้างผลกระทบโดยตรงกับวัยแรงงานอย่างรุนแรง เพราะเศรษฐกิจหยุดชะงัก กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชน

จากการสำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากวิกฤติโควิด-19 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Thailand) ปี 2563 พบว่า ประชาชนกลุ่มอายุ 15-24 ปี โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะเรียนจบ มีแนวโน้มที่จะว่างงาน เนื่องจากภาคเอกชนชะลอการจ้างงาน จึงทำให้ลดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพหรือทักษะในการประกอบอาชีพจากการไม่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานร้อยละ 14 หรือกว่า 1.3 ล้านคน และวัยทำงานที่เป็นคนว่างงานร้อยละ 17.9 หรือกว่า 6 ล้านคน ที่สำคัญยังพบว่าแรงงานทั้งในและนอกระบบส่วนมากยังไม่มีแผนการออม ทำให้ไม่มีเงินใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน

ด้วยสถานะของแรงงานในระบบ ทำให้แรงงานส่วนใหญ่กลายเป็นบุคคลที่มีทักษะเชิงเดี่ยว ไม่สามารถปรับตัวเพื่อประกอบอาชีพอื่นได้ในทันที จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงมีแนวโน้มที่จะมีคนว่างงานและคนที่มีรายได้น้อยลงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง เพราะขาดรายได้ ขาดความรู้ในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง

เข็มเพชรกล่าวต่อว่า สสส.ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงริเริ่มโครงการ “ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ” โดยมีเป้าหมายสนับสนุนทุนให้ประชาชนที่สนใจ 100 โครงการ โครงการละ 50,000-100,000 บาท ภายใต้ประเด็นการทำงาน 3 ด้าน คือ 1.ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และทักษะด้านการเงิน เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตวิถีใหม่ในสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนค่าใช้จ่ายและการออม การลงทุน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมใช้พลังกลุ่มแก้ปัญหา เพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง

2.ส่งเสริมให้คนในชุมชนพัฒนาแหล่งอาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และ 3.ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพ-รายได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ เกิดกิจกรรมสุขอนามัยในย่านชุมชน เช่นตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหาร โดยมีพื้นที่เป้าหมายเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด เมื่อช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และพื้นที่ควบคุมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อีก 14 จังหวัด โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่วันนี้ถึงเดือนมกราคม 2565

ผอ.สำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. กล่าวว่า “สสส.หวังเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสในการอยู่รอด มุ่งสานพลังระดับพื้นที่ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยนวัตกรรมกลไกที่ทันต่อสถานการณ์ รวดเร็วและคล่องตัว โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเสนอโครงการเข้ามาขอสนับสนุนทุนผ่านหน่วยจัดการ (Node) 5 หน่วยจัดการครอบคลุมทุกภูมิภาค ขณะนี้มีประชาชนสนใจเสนอโครงการแล้วกว่า 100 โครงการ ซึ่ง สสส.จะพิจารณากลั่นกรองโครงการที่มีคุณสมบัติและความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการ โดยหน่วยจัดการจะเป็นพี่เลี้ยงจัดกระบวนการเสริมทักษะพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้รับทุนที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามและติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “สร้างสรรค์โอกาส” http://www.facebook.com/Section6TH

ใน www.facebook.com/Section6TH จะได้พบโอกาสเข้าสู่องค์ความรู้แนวคิดพลิกชุมชน สร้างสรรค์สุขภาวะที่ดี สำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สสส.เปิดพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ “เรื่องเล่าสำนัก 6 มีแนวคิดในการสนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็กสำหรับภาคีรายย่อย เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคล ชุมชน องค์กรทั่วไปที่สนใจริเริ่มทำโครงการที่สร้างสรรค์ตรงกับความต้องการและปัญหาของพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาทักษะ วิธีคิดและเพิ่มขีดความสามารถแก่ภาคีเครือข่ายในการทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดพื้นที่สื่อสารสร้างสรรค์เรื่องเล่าสำนัก 6 นำข้อมูลเรื่องเล่าจากภาคีเครือข่าย นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจ มองเห็นโอกาสต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนของตัวเองต่อไป

 

  

 

“ตู้ปันสุข” เป็นพลังความคิดสร้างสรรค์เพื่อชุมชน รวมพลังเด็ก เยาวชน จ.กระบี่ สู้ภัยโควิด-19

ในช่วงสถานการณ์ปัญหาโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเด็กจำเป็นต้องมีการปรับตัวและวิถีการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่ ที่หลายคนกำลังคุ้นเคยกับคำว่า New Normal ในความปกติรูปแบบใหม่

            กลุ่มละครมาหยา สโมสรลูกปูดำ หน่วยจัดการด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ จ.กระบี่ ได้ร่วมกับกลุ่มเด็กในพื้นที่ของ จ.กระบี่ ออกแบบกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์” และกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพสำหรับเด็กและเยาวนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้รูปแบบ “เด็กกระบี่ปันสุข ด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ในชุมชน สู้ภัยโควิด-19” ด้วยพลังความคิดเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ส่งผลให้วิถีชีวิตของเด็กในกระบี่ได้ก้าวออกจากสภาวะที่ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

            ปริวัตร กิจนิตย์ชีว์ ผู้จัดการโครงการพลังพลเมืองเด็กสร้างสุข กิจกรรมสร้างสรรค์ (หนุก-คิดส์) หรือ Young Citizen Active Play เป็นกิจกรรมภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส.ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านเด็กและเยาวชน ในการจัดกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์และกิจกรรมในช่วงวันหยุด พร้อมกระจายโอกาสการทำกิจกรรมสร้างสรรค์เสริมสร้างสุขภาพสู่กลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ จ.กระบี่

            จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 กลุ่มเด็กและเยาวชนใน จ.กระบี่จึงมีไอเดียในการสร้างสรรค์ที่อยากทำประโยชน์ต่อสังคม นอกเหนือจากการอยู่บ้าน ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัยที่ต้องดูแลตนเองแล้ว ยังมีไอเดียที่สร้างสรรค์จากฝีมือกลุ่มเยาวชนผ่านการผลิตคลิปสั้นการรณรงค์อยู่บ้าน การล้างมือ รวมถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ในชุมชนเพื่อสู้ภัยโควิด-19 การเปิดร้านฝากของออนไลน์ผ่านหน้าแฟนเพจของสโมสรลูกปูดำ รวมถึงการระดมส่งของ-อาหารผ่านการสร้างตู้ปันสุขในชุมชน โดยการรวมกลุ่มเพื่อนๆ จิตอาสามาสร้างสรรค์ตู้ที่ไม่ได้ใช้แล้ว มาสร้างสรรค์และแบ่งปันการจัดกิจกรรมในครั้งนี้

            เด็กและเยาวชนกลุ่มลูกชาวเกาะ พื้นที่บ้านเกาะกลาง ต.คลองประสงค์ อ.เมือง จ.กระบี่ ชักชวนเพื่อนๆ มาเป็นอาสาสมัครในการระดมสั่งของกิน ของใช้ และอุปกรณ์ที่จำเป็นแจกจ่ายผ่าน “ตู้ปันสุข” ที่สร้างสรรค์ผ่านจินตนาการ นำตู้เก่ามาสร้างสรรค์ร่วมกัน พร้อมสอนวิธีการดูแลตนเองในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งผลการดำเนินกิจกรรมได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่ พร้อมด้วยชาวบ้านที่มีจิตอาสามาร่วมแบ่งปันความสุขท่ามกลางวิกฤติในครั้งนี้

            กลุ่มต้นกล้าพันธุ์แกร่ง รร.ศาสนูปถัมภ์มูลนิธิ พื้นที่บ้านบ่อน้ำร้อน ต.ห้วยน้ำขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ทำหน้ากาก Face Shield พร้อมกับผลิตสื่อคลิปสั้นเผยแพร่ทางออนไลน์และนำไปแจกให้กับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ อสม.ในชุมชน และชาวบ้านที่มีความจำเป็นและต้องการใช้เพื่อป้องกันตนเอง พร้อมลงพื้นที่นำไปแจกให้กับเพื่อนๆ เด็กในชุมชน รวมทั้งขอสิทธิ์ในการดูแลตนเอง การเล่นในบ้าน สอนการล้างมือที่ถูกต้อง

            ปัญหาวิกฤติโควิด-19 เป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องเผชิญหน้า แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งพลังเด็กๆ จากกลุ่มคนเล็กๆ ที่ต้องการสร้างสรรค์และสร้างประโยชน์ต่อสังคมด้วยความตั้งใจ และความมุ่งมั่นในการดำเนินกิจกรรมในชุมชนให้พร้อมสู้โควิด-19 จากเด็กและเยาวชนในพื้นที่ จ.กระบี่

 

 

ชุมชนบ้านบาลา เพิ่มมูลค่าขยะเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส

            “คนสร้างสุข” The Happiness Action Networks ปัญหาสำคัญที่จำเป็นต้องแก้ไข ชุมชนวางแผนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ยาเสพติด คนว่างงาน ไข้เลือดออก หญิงตั้งครรภ์มีภาวะซีด ชาวชุมชนบ้านบาลาลงมติว่าปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาแรกที่ต้องแก้ไข เนื่องจากที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ประชาชนในหมู่บ้านและนักท่องเที่ยวเที่ยวป่าเพื่อส่องดูนก เล่นน้ำตก ทิ้งขยะตามแนวทางในหมู่บ้านจนถึงป่าเขา ประชาชนในหมู่บ้านมีพฤติกรรมทิ้งขยะไม่เป็นที่ในชุมชน ประกอบกับหน่วยงาน อบต.ยังไม่ได้วางระบบการจัดการขยะในหมู่บ้าน และชุมชนได้วางถังขยะในชุมชน แต่เนื่องจากมีสัตว์เลี้ยง แพะ แมว ไก่ ชอบคุ้ยเขี่ยเศษอาหารกระจัดกระจาย

ขยะส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติก แก้วพลาสติก หลอดดูด ถุงขนม ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ถุงน้ำยารีดผ้า ขวด แก้ว ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เมื่อฝนตกน้ำท่วมบ้านที่อยู่ริมคลอง ขยะก็จะไหลลงไปในลำคลองของหมู่บ้าน ทำให้น้ำในลำคลองเริ่มเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น และปลาเริ่มตาย ขยะพลาสติกและขวดมีน้ำขังกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หากไม่มีการจัดการขยะที่ดีมีระบบแล้ว จะส่งผลให้ลำคลองเน่าเสีย มีผลกระทบต่อคนในชุมชนและบ้านใกล้เรือนเคียงที่อยู่ปลายน้ำด้วย การขาดการจัดระบบ การจัดการจากท้องถิ่น ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มีผลต่อสุขภาพคนในหมู่บ้าน พบว่าปริมาณขยะตามบ้านเรือนและตามไหล่ทางของถนนที่นักท่องเที่ยว ป่าและน้ำตกทิ้งในชุมชนบ้านบาลา หมู่ที่ 5 ต.โละจูด มีแนวโน้มปริมาณขยะเพิ่มขึ้นวันละ 600 กก.

เยาวชนจูเนียร์ต้านภัยยาเสพติด รวมตัวกันเป็นเยาวชนจูเนียร์ญาลันนันบารุบ้านบาลา เยาวชนจูเนียร์ทำหน้าที่เป็นตาสับปะรดของหมู่บ้าน คอยสอดส่อง ทำกิจกรรมจิตอาสาสร้างสำนึกที่ดีมีความรับผิดชอบ จัดการขยะที่ตนเองก่อขึ้น ผู้ใหญ่บ้านได้นำลูกบ้านทำความสะอาด เก็บขยะในลำคลอง และทำกิจกรรมประกวดหมู่บ้านสะอาดปลอดลูกน้ำยุงลาย พบว่าขยะลดน้อยลงเหลือวันละ 400 กก.

หากได้รับการจัดการที่ดีจะทำให้ชุมชนสะอาด ไม่มีคนป่วยเป็นไข้เลือดออก อีกทั้งชุมชนบ้านบาลาเป็นแหล่งชุมชนต้นน้ำ มีแหล่งปลายน้ำมากมายหลายหมู่บ้าน จำเป็นต้องมีการจัดการ ดำเนินการให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดการขยะ จัดการสุขภาพ พัฒนาเป็นสวัสดิการจากกองทุนธนาคารขยะ ทางชุมชนได้เห็นความสำคัญจึงได้เสนอโครงการชุมชนบ้านบาลาเพิ่มมูลค่าขยะ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นมา เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ตามคำขวัญ “อุดมพันธุ์ไม้ แหล่งศึกษาธรรมชาติ สัตว์ป่าหลากหลาย ถิ่นนกเงือก น้ำตกพระราชทาน ประชาอยู่พอเพียง”

 

 

เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก

องค์ความรู้ใหม่ในโลกปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่แตกต่างคือ การสร้างทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ หรือ Executive Funtions (EF) หมายถึงการทำให้การทำงานของสมองส่วนหน้าที่ทำให้ “คิดเป็น ทำงานเป็น เรียนรู้เป็น แก้ไขปัญหาเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็น และหาความสุขเป็น” ทักษะเหล่านี้ต้องผ่านการฝึกฝน ทำเป็นประจำซ้ำๆ จนสามารถนำออกมาใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว

สมองของคนเราก็ต้องมีการฝึกฝน พัฒนา ทำให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสร้างให้มีเหตุผล มีความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ กำกับและควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ โดยเฉพาะโลกในยุคนี้มีสิ่งเร้ามากมายอยู่รอบตัว ทำให้เด็กและเยาวชนที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์ สร้างปัญหาขึ้นกับตัวเองอย่างมากมาย การติดสารเสพติด ทะเลาะวิวาท ท้องไม่พร้อม เป็นปัญหาจากขาดความยับยั้งชั่งใจ

“EF เป็นต้นกำเนิดของการสร้างวินัยเชิงบวก การเริ่มต้นปลูกฝังนิสัยอะไรกับเด็กก็ตาม ต่อไปจะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวหรือเป็นกมลสันดาน การปลูกฝัง EF จะทำให้เด็กมีนิสัยดีหรือสันดานสร้างสรรค์ เด็กๆเรียนรู้จากการเลียนแบบผู้ใหญ่ จึงต้องเป็นต้นแบบที่ดีถึงทำให้เด็กสะท้อนพฤติกรรมดีๆ กลับมาได้”

พฤติกรรมเด็กที่มี EF ดี มีความจำดี มีสมาธิจดจ่อ ทำงานต่อเนื่องจนสำเร็จ วางแผนงานได้อย่างเป็นระบบ ทำงานเสร็จได้ทันเวลา สามารถติดตามงานได้มากกว่าหนึ่งอย่างได้ในเวลาเดียวกัน นำสิ่งที่เคยเรียนรู้มาก่อนมาอภิปรายได้อย่างมีความหมาย สามารถเปลี่ยนความคิด เมื่อเงื่อนไขหรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รู้จักการประเมินตัวเอง นำจุดบกพร่องมาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น รู้สึกยับยั้งควบคุมตนเองไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รู้จักการรอคอย ทำหรือพูดในเวลาที่เหมาะสม รู้จักช่วยเหลือหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อมีความจำเป็น.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"