ธปท.ช่วยลูกหนี้รายย่อยเฟส3เปิดช่องผ่อนไม่ไหวคืนรถได้


เพิ่มเพื่อน    


14 พ.ค. 2564 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการทางการเงิน ผ่านสมาคมและชมรมต่าง ๆ รวม 8 แห่ง ในการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยยกระดับมาตรการเดิมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งมุ่งเน้นช่วยลดภาระหนี้ในระยะยาว มีทางเลือก มีความยืดหยุ่น และมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง การระบาดระลอกใหม่ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรงขึ้น โดยจากการประเมินของสถาบันการเงิน พบว่า ลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเดิมยังคงต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่องและมีลูกหนี้ใหม่ที่ต้องการรับความช่วยเหลือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความเปราะบางที่สะสมมาตั้งแต่การระบาดของโควิด -19 ในระลอกแรก จำเป็นจะต้องช่วยเหลือในเรื่องภาระหนี้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน

โดยจากข้อมูล พบว่า ในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. 2564 มียอดขอรับความช่วยเหลือจากลูกหนี้รายย่อยแล้ว 1 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท และมียอดค้างชำระเกิน 1 วัน อยู่ที่ 10% ของพอร์ตลูกหนี้รายย่อย ถือเป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3

“ยอมรับว่าปัจจุบันภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เชื่อมั่นว่าการดูแลลูกหนี้เชิงรุก การปรับโครงสร้างหนี้ และหากเหตุการณ์โควิด-19 ควบคุมได้ และมีการเปิดกิจกรรรมเศรษฐกิจ ลูกหนี้มีศักยภาพจะผ่านพ้นไปได้ ส่วนภาพรวมแม้ว่าหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่กังวลใจ ณ ขณะนี้ เพราะได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้นจึงอยากสนับสนุนในกลุ่มลูกหนี้ที่มีศักยภาพให้ทยอยชำระหนี้ต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าจะมีมาตรการพักเงินต้น จ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ก็เป็นเพียงการชะลอเท่านั้น แต่ดอกเบี้ยจะเดินหลังครบกำหนดมาตรการ จึงอยากให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพชำระหนี้ต่อเนื่องไป เป็นการช่วยไม่ก่อให้เกิดภาระหนี้เพิ่มเติมในระยะยาวกับลูกหนี้รายย่อย” นายรณดล กล่าว

นางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับธุรกิจสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันมีลูกหนี้รายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการในการให้ความช่วยเหลือเดิม ประมาณ 1.9 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 3.7 ล้านล้านบาท ซึ่งประเมินว่าจะยังมีลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือต่อ หรือลูกหนี้ที่เดิมไม่เคยขอความช่วยเหลืออาจเข้ามาขอความช่วยเหลือ เนื่องจากมาตรการเดิมจะครบกำหนดในวันที่ 30 มิ.ย. นี้

โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3จะครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท ดังนี้ 1. บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (Revolving & Installment Loan) โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น โดยหากขยายระยะเวลาเกิน 48 งวด ให้ทบทวนอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม2. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยจะเพิ่มทางเลือกการพักชำระค่างวด และสำหรับลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ หากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล เพื่อลดการฟ้องร้องและผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้ เช่น ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ หรือลดค่างวด

3. สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยช่วงที่พักบนค่างวดที่พักชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้ โดยห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสัญญาเดิม และ 4.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน จะเพิ่มทางเลือกด้วยการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน พักค่างวด และกรณีหมดมาตรการช่วยเหลือให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (step up) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

“ลูกหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล สามารถรวมหนี้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยให้ลงมาอยู่ในระดับดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระให้ลูกหนี้ได้ โดยการรวมหนี้ที่สะดวกที่สุด คือการรวมหนี้ภายในสถาบันการเงินเดียวกัน หรือบริษัทลูกของสถาบันการเงิน ยังไม่สามารถรวมหนี้ข้ามผู้ประกอบธุรกิจได้ ยังเป็นประเด็นที่พิจารณาอยู่ โดยปัจจุบันมีลูกหนี้ที่ดำเนินการรวมหนี้ดังกล่าวแล้ว ประมาณ 2-3 พันราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 4 พันล้านบาท” นางวิเรขา กล่าว

โดยลูกหนี้ที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 นั้น ต้องไม่เป็นลูกหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน ก่อนวันที่ 1 มี.ค. 2563สามารถแจ้งความประสงค์รับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.- 31 ธ.ค.2564 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน โดย ธปท. ขอให้ผู้ให้บริการทางการเงินให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสถานะของลูกหนี้ตามมาตรการที่กำหนด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามนโยบายของผู้ให้บริการทางการเงิน

ส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกำลังจะสิ้นสุดระยะเวลาในเดือน มิ.ย. 2564 นั้น ขณะนี้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดำเนินการต่อไป แต่มองว่าการพักชำระหนี้เอสเอ็มอี เป็นปลายเหตุ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด โดยตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ธปท. ได้ย้ำกับสถาบันการเงินทั้งหมดว่าการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ เพราะการปรับโครงสร้างหนี้ คือการเอากระแสรายรับของลูกหนี้มาดูให้สอดรับกับการชำระหนี้ระยะยาว แต่การพักหนี้เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว เมื่อมาตรการจบปัญหาก็ยังมีอยู่ โดยปัจจุบันมีลูกหนี้เอสเอ็มอีส่วนน้อยมากที่ไม่สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องการพิสูจน์กระแสเงินสด


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"