ปัญหาการทำงานเป็นไซโลแยกส่วนกันนั้นมีมาช้านานในสังคมไทยและสังคมโลก มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เองที่เมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมใหญ่ ก็จะมีการแบ่งแยกหน้าที่กันทำงาน เช่น ช่างไม้ พ่อครัวทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ต่อมาเมื่อสังคมใหญ่ขึ้นอีก ก็มีความจำเป็นต้องเกิดเป็น “รัฐบาล” ขึ้นมาดูแลการอยู่รวมกันของคน (“รัฐ”)
“คน” ในอีกความหมาย คือแปลว่า “ทำให้ยุ่ง ปั่นป่วน” เช่น คนน้ำตาลให้ละลาย คนให้เข้ากัน แท้จริงแล้ว คือ ทำให้ส่วนผสมต่าง ๆ ปั่นป่วน ยุ่งเหยิง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นความบังเอิญพ้องรูปหรือเหตุใดเมื่อคน (มนุษย์) มาอยู่รวมกันมาก ๆ ก็เกิดเรื่องยุ่ง เรื่องปั่นป่วน เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ความยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดแคลนที่อยู่อาศัย ตกงาน ขยะ น้ำเสีย โรคติดต่อ และ อาชญากรรม และปัญหามักเป็นทวีคูณกับจำนวนคน เนื่องจากคน 1 คน จะมีปฏิสัมพันธ์กับปัญหาในหลายด้านเสมอดังที่ยกตัวอย่าง
ในขณะที่อีกฝั่งคือ รัฐบาล ซึ่งต้องทำหน้าที่ดูแลคนในรัฐให้อยู่เย็นเป็นปกติสุข กลับไม่มีงบประมาณ หรือ กำลังบุคลากรเพิ่มเป็นทวีคูณได้เร็วเหมือนปัญหาที่เกิด เช่นนี้ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายสาธารณะโดยตรงไหนที่ยังยึดติดกระบวนการและระเบียบให้มาเป็นวิธีคิดแบบดิจิทัล มิเช่นนั้นจะเข้าสู่สภาวะล้มละลายทางการจัดการ (คือ ปัญหาล้นพ้นตัว)
วิธีคิดแบบดิจิทัล ที่ว่าก็คือ “นโยบายสาธารณะเรื่องข้อมูลดิจิทัล”คือปรับสมองจากเดิมที่คิดอยู่ในกรอบแบบแอนะล็อกมาเป็นแบบดิจิทัล ทั้งนี้คำว่า “ดิจิทัล” คนมักคิดว่าคือการลงทุนซื้อหรือใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยหวังว่าจะทำงานเร็วขึ้น สะดวกขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ความจริงกลับเป็นเพียงสาระส่วนน้อยเท่านั้น คำว่า “ดิจิทัล” (ในศตวรรษที่ 21) ต้องคิดรวมไปถึงการปรับปรุงกระบวนการ ยืดหยุ่นการทำงาน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางไม่ปล่อยให้เป็นการทำงานแบบปลายเปิด โดยให้คำนึงถึงการตรวจสอบควบคุมคุณภาพด้วยกระบวนการที่เป็นอิสระและอยู่นอกวัฏจักรงาน สุดท้ายจึงค่อยมาตบท้ายว่าจะลงทุนเทคโนโลยีอะไรตรงไหนเพื่อให้องคาพยพทั้งหมดทำงานได้ไฉไล
“ข้อมูลดิจิทัล” คือหัวใจที่แท้จริง เพราะการลงทุนทั้งด้านซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสาร อันที่จริงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลนั้นเองระบบไอทีทุกอย่างจะเดินไปได้ก็เพราะการไหลของข้อมูล ผลการทำงานจะมีประสิทธิภาพถูกต้องแม่นยำก็ขึ้นกับคุณภาพของข้อมูล การกำจัดไซโลก็แก้ได้ด้วยการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล จะโปร่งใสได้ก็ด้วยการเปิดเผยข้อมูล อ่านถึงตรงนี้ จะเริ่มมีคำถามว่า แล้วรัฐบาลวางนโยบายสาธารณะไว้อย่างไรในเรื่อง “ข้อมูลดิจิทัล”
นโยบายสาธารณะที่ถาวรที่สุดอย่างหนึ่งก็คือกฎหมาย และ กฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงสุดรองจากรัฐธรรมนูญ ก็คือ พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับข้อมูลดิจิทัลมีมากมายและคงกล่าวถึงไม่หมด แต่ในที่นี้ขอยกกฎหมายมา 2 ฉบับเพราะเห็นว่าค่อนข้างใหม่และเป็นคุณโดยตรงช่วยทุเลาการทำงานเป็นไซโลและขับเคลื่อนการทำงานแบบดิจิทัล ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้น
1. พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562
หลัก ๆ พระราชบัญญัติฉบับนี้ส่งเสริมให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงระบบหลังบ้าน (การบริหารงาน) และหน้าบ้าน (การบริการภาครัฐ) ประเด็นสำคัญที่สุดเรื่องข้อมูลดิจิทัลระบุอยู่ในมาตรา 12 และ 13 คือ กำหนดให้ “หน่วยงานรัฐต้องจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ”ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ แปลง่าย ๆ ว่า ให้ภาครัฐทั้งหมดต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการควบคุมดูแลคุณภาพข้อมูลดิจิทัล ต้องดูเรื่องข้อมูลให้ถูกต้อง เป็นระบบชัดเจน ตรวจสอบย้อนกลับได้ มีสเป็คอธิบายข้อมูลให้คนอื่นเอาไปใช้งานต่อได้ สามารถแลกเปลี่ยนและเปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเชื่อมโยงใช้งานร่วมกันได้ทั้งภายในและระหว่างหน่วยงาน
หากหน่วยงานรัฐใช้มาตรา 12 และ 13 มาอ้างเพื่อขอใช้งานเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน เพื่อพัฒนาปรังปรุงระบบต่าง ๆ หรือ เพื่อของบประมาณ กฏหมายนี้ย่อมจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ค้ำยันได้โดยไม่ต้องลงนาม MoU รอนโยบายหรือ รอคำสั่งจากผู้บริหาร หรือ รอตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา ทั้งนี้เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฏหมาย
ดังนั้นต่อไปนี้ เวลาทำจดหมายขอเชื่อมต่อข้อมูล ทำโครงการด้านไอที เขียนแผนงานองค์กร หรือ ตั้งคำของบประมาณ สามารถใช้กฎหมาย 2 มาตราหลักนี้ มาเป็นข้ออ้างได้เลย และเมื่อพบเจอกฎหมายอื่นที่เป็นอุปสรรค หรือ ไม่ชัดเจน ให้ถือหลักเลือกกฎหมายที่อ้างแล้วทำงานได้ กฎหมายที่ใหม่กว่ามาเป็นใหญ่กว่า อย่าเลือกกฏหมายที่อ้างแล้วงานไม่เดิน
2. พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
ข้อกังวลสำคัญเรื่องหนึ่งของข้อมูลในยุคนี้ คือ “ข้อมูลส่วนบุคคล” ซึ่งเมื่อกฏหมายฉบับนี้ออกมา ก็เป็นที่กังวลของทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะมีบทลงโทษต่อหน่วยงานทั้งทางอาญาและปกครองในกรณีละเมิดข้อมูล แถมยังอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject) ที่ถูกละเมิดอีกด้วย
โดยพื้นฐานแล้ว หน่วยงานรัฐเกือบทั้งหมดหลีกไม่พ้นที่จะต้องเก็บรวบรวม ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (ในที่นี้คือข้อมูลของประชาชน) เพื่อทำงานตามภารกิจ ตามกฎหมายกำหนด ตามข้อสั่งการรัฐบาล หรือ ตามนโยบายเฉพาะสถานการณ์ต่าง ๆ (เช่น การเยียวยาโควิด-19) ซึ่งเมื่อมีข้อมูลเกิดขึ้นย่อมเกิดสถานการณ์ตามมาว่าข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้สามารถเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนแบ่งปันระหว่างหน่วยงานได้หรือไม่ จะถือเป็นการใช้งานผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ และจะมีความยุ่งยากที่ต้องไปขอความยินยอมจาก Data Subject ก่อนหรือไม่ และ ใครต้องเป็นผู้รับภาระการติดต่อ Data Subject เหล่านั้น ที่สำคัญคือ ถ้ามีอะไรผิดพลาดไป ตัวผู้ปฏิบัติ (ข้าราชการ ลูกจ้าง หรือ พนักงานของรัฐ) จะต้องรับโทษตามกฏหมายหรือไม่
คำตอบของข้อกังวลต่าง ๆ อยู่ในมาตรา 24 25 26 และ 80 ของกฎหมายฉบับนี้ กล่าวโดยสรุปก็คือ หน่วยงานรัฐเมื่อจะเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล หรือ จะเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อทำงานตามภารกิจ หรือ ตามข้อบังคับในกฎหมายที่ตนดูแล หรือ ตามอำนาจรัฐที่มี สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องขอความยินยอมจาก Data Subject ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติก็ไม่ถือว่าละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหากเป็นการทำงานตามหน้าที่ เช่น นี้จึงกล่าวได้นโยบายสาธารณะเรื่องข้อมูลดิจิทัล ที่มีอยู่ในกฎหมาย ส่งเสริมให้ภาครัฐทำงานได้ไม่ผิดไปจากเจตนารมณ์ตามยุคดิจิทัล
สิ่งที่อยากจะส่งท้าย คือ หน่วยงานรัฐเองที่ถืออำนาจ ถือกฎหมาย จำต้องปรับตัวปรับทัศนคติในการทำงาน เจ้าหน้าที่รัฐเอง (ตลอดจนผู้มีอำนาจทางการเมือง) ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ก็คือประชาชน ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราเมื่อปฏิบัติหน้าที่ หยิบนโยบายสาธารณะที่แฝงอยู่ในกฎหมายมาใช้ให้ถูกจังหวะถูกงาน สมกับรัฐบาลดิจิทัลยุคขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
ดร. มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม
ผู้อํานวยการฝ่ายเดตาโซลูชั่นส์ภาครัฐ สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |