หลังศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยจนสิ้นกระแสความแล้วว่า ร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบโดยมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญบางเรื่อง จนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ท้วงติงว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ สนช.เข้าชื่อกันยื่นคำร้องให้ศาลรธน.วินิจฉัย ซึ่งศาลก็ได้วินิจฉัยเสร็จสิ้นเมื่อ 23 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ไม่ขัดหรือแย้งกับ รธน.แต่อย่างใด
พุธที่ 30 พ.ค.นี้ก็ถึงคิวที่ศาล รธน.จะนัดลงมติร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ สนช.เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อศาล รธน.อีกหนึ่งฉบับ หลังมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ทักท้วงว่าร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่าน สนช.ออกมา อาจมีปัญหาในประเด็นทางข้อกฎหมายที่อาจขัดหรือแย้งต่อ รธน.ใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ
1.มาตรา 35 การตัดสิทธิ์เป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปเลือกตั้ง เพราะการที่ผู้ใดจะเข้ารับตำแหน่งไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นเสรีภาพ จึงกังวลว่าเป็นการเขียนเกินขอบเขตการจำกัดสิทธิตามมาตรา 95 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ
และ 2.ประเด็นเรื่องการให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยลงคะแนนแทนผู้พิการ และให้ถือเป็นการออกเสียงโดยตรงและลับ เรื่องนี้ กรธ.กังวลว่าจะขัดต่อมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ส.ส.มาจากการลงคะแนนโดยตรงและลับ
ขณะเดียวกันในวันพุธที่ 30 พ.ค. ศาล รธน.จะมีคำวินิจฉัยกรณี ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องขอให้ศาล รธน.วินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25, 26, 27 และ 45 หรือไม่ด้วย
คำร้องดังกล่าวเกิดขึ้นหลังพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยร่วมกันยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยโดยผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าคำสั่งดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25, 26, 27 และมาตรา 45 หรือไม่
อนึ่ง คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ก็คือคำสั่งที่มีการไปแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่ให้พรรคการเมืองยื่นเรื่องจดแจ้งชื่อพรรคในช่วง 1-30 มี.ค. และการให้สมาชิกพรรคการเมืองเดิมที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2550 ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคในช่วง 1-30 เม.ย.ที่ผ่านมา
หากจำกันได้ หลังเสร็จสิ้นการให้สมาชิกพรรคมายืนยันตน ปรากฏว่าเกือบทุกพรรคการเมืองยอดสมาชิกที่มายืนยันตนหายไปจากเดิมจำนวนมาก โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่หายไปร่วม 2 ล้านกว่าชื่อ
จนต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.มีสถานะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) และบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รับรองและคุ้มครองการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ประกอบมาตรา 45 อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ซึ่งขัดกับหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ได้รับรองและคุ้มครองไว้ จึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ดังนั้น พุธที่ 30 พ.ค. 9 ตุลาการศาล รธน.จะลงมติวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ขัดหรือแย้งต่อ รธน.หรือไม่
ผลจากการวินิจฉัยของศาล รธน.จะส่งผลต่อโรดแมปการเลือกตั้ง ที่จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนหรือไม่เลื่อน และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่ไปแก้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่ประกาศใช้ไปแล้วจะมีปัญหาหรือไม่ ก็ต้องรอฟังผลกัน
โดยในส่วนของร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ทาง กรธ.-สนช.ยืนกรานว่าแม้ต่อให้คำวินิจฉัยออกมาระบุว่าขัดหรือแย้ง รธน. การแก้ไขก็จะใช้เวลาไม่นาน โดยเฉพาะหากแก้ไขแค่ 1-2 มาตรา ก็สามารถพิจารณา 3 วาระรวดได้ทันที ที่ก็ใช้เวลาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ หลังศาลวินิจฉัยเสร็จ กระบวนการทั้งหมด ก็เสร็จเรียบร้อย แต่หากผลออกมาเช่นนี้จริง สนช.ก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยถึงกระบวนการออกกฎหมายของตนที่มีปัญหา แต่หากศาล รธน.วินิจฉัยว่าไม่ขัด รธน.ทุกอย่างก็เดินหน้าเข้าสู่ช่วงโรดแมป รอการเลือกตั้งต่อไป
ขณะที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่.53/2560 แม้จะเป็นการออกโดย อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ผ่าน มาตรา 44 ที่ รธน.รองรับให้อำนาจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ที่มีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ
แต่หากสุดท้าย ศาล รธน.วินิจฉัยว่าคำสั่งดังกล่าวมีปัญหา ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้อำนาจทางการเมืองและกฎหมายของหัวหน้า คสช.อย่างรุนแรงแน่นอน โดยเฉพาะเครดิตของมาตรา 44 ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของหัวหน้า คสช.มาตลอดสี่ปีกว่า
เพราะถ้าศาล รธน.วินิจฉัยว่า คำสั่งดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อ รธน. ก็อาจทำให้หลังจากนี้อาจมีหลายฝ่ายยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย สารพัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ออกโดย มาตรา 44 ที่มีมากมายนับไม่ถ้วน แม้อาจเทียบเคียงไม่ได้กับคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ก็ตาม แต่ก็คงต้องมีคนคิดและอาจทำเช่นนั้นแน่นอน ถ้าศาล รธน.วินิจฉัยคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ไว้เป็นบรรทัดฐาน
ทว่าดูเหมือนที่ผ่านมา ฝ่าย คสช.-ทีมกฎหมาย คสช.ดูจะไม่ค่อยกังวลใจนักกับเรื่องคำสั่งที่ 53/2560 เพราะมั่นใจในการใช้อำนาจดังกล่าวที่ รธน. รับรองไว้ แต่ก็มีข่าวว่าก็มีการเตรียมรับมือไว้แล้วเช่นกัน หากผลออกมาไม่เป็นบวกกับฝ่าย คสช.
ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 จะต้องสะดุดกลางทาง หรือจะได้เดินหน้าต่อไม่มีเหตุให้ชะงักงัน ศาล รธน.จะให้คำตอบพุธที่ 30 พ.ค.นี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |