“บิ๊กตู่” สั่งหน่วยงานรัฐกำหนดคุณสมบัติการสอบเข้ารับราชการให้ครอบคลุม “พฤติกรรม-จริยธรรม” ที่ถูกต้องดีงาม ย้ำให้ใช้ประเมินเพื่อขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทนด้วย เผย ครม.เคาะเกณฑ์ข้าราชการการเมืองต้องยึดมั่นสถาบันหลักของชาติ รับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่เลือกปฏิบัติ
วันที่ 13 พ.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ให้นโยบายกับทั้งส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐในหลายโอกาสในประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้จริยธรรมที่ถูกต้องดีงามอย่างเคร่งครัดนั้น ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ และคุณสมบัติในการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ หรือจัดจ้างเป็นพนักงาน พนักงานราช ลูกจ้างของราชการ หรือหน่วยงานของรัฐตามแต่กรณีให้ครอบคลุมถึงพฤติกรรมและมาตรฐานทางจริยธรรมที่ถูกต้องดีงามด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่มีความรู้ความสามารถ มีความประพฤติเหมาะสม รวมทั้งมีคุณสมบัติในการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ดี ซึ่งจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาด้านจริยธรรมในภาคราชการและสังคมไทยในภาพรวมต่อไป นอกจากนี้ ในการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือน ค่าตอบแทน หรือเพื่อต่อสัญญาให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนำหลักเกณฑ์ด้านความประพฤติและมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วยอย่างเคร่งครัด
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้จริยธรรมที่เข้มงวด โดยนอกจากข้อสั่งการการกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าปฏิบัติหน้าที่ในระบบราชการ และหน่วยงานของรัฐข้างต้นแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ ในการประพฤติปฏิบัติของข้าราชการการเมืองที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยกำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดีและรับผิดชอบต่อหน้าที่ กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมและความผาสุกของประชาชน ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งต้องดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถิติสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) การเปิดสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) เมื่อปี 2563 มีผู้สมัครเข้าสอบภาค ก. 600,000 กว่าคน ซึ่งข้าราชการทุกคนต้องสอบแผน ก. สำหรับการคัดเลือกใช้เงื่อนไขการสอบแข่งขันตามหนังสือเวียน ว.17/2556 ที่หลักการจะมีการสอบ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการสอบวัดความรู้ความสามารถทั่วไป หรือภาค ก. ซึ่งสำนักงาน ก.พ.เป็นผู้ดำเนินการ ถือเป็นการกรองชั้นที่หนึ่ง ผู้ที่ผ่านชั้นนี้ได้ทาง ก.พ.จะออกใบรับรองการผ่านวัดความรู้ความสามารถทั่วไปให้แล้วนำไปเป็นหลักฐานการสอบ เมื่อส่วนราชการมีตำแหน่งว่างจะเปิดสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งหรือภาค ข. เพราะตามสายงานของแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกันไป เมื่อผ่านภาค ข. แล้ว ยังต้องสอบแข่งขันเพื่อวัดความเหมาะสมกับตำแหน่งหรือภาค ค. โดยจะดูทัศนคติว่าสมควรรับราชการหรือไม่ ถ้าผ่านจะขึ้นบัญชีตามคะแนน โดยมีอายุ 2 ปี เพื่อรอการบรรจุ ปี 2563 มีอัตราข้าราชการตั้งใหม่ที่ส่วนราชการได้รับการจัดสรร ซึ่งยังไม่ได้บรรจุประมาณ 2 หมื่นอัตรา และมีอัตราว่างจากเกษียณอายุราชการประมาณ 8.9 พันคน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |