“โควิด” ทุบเชื่อมั่น


เพิ่มเพื่อน    

 

           “โควิด-19” ไม่เพียงส่งผลกระทบในด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ในด้านเศรษฐกิจก็เสียหายไม่แพ้กัน เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลได้ใช้มาตรการเด็ดขาดอย่าง “ล็อกดาวน์” ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักชัดเจน สร้างความเสียหายในหลายมิติ ทั้งความเสียหายแก่ภาคธุรกิจไปจนถึงภาคครัวเรือน

                แม้ว่าหลังจากนั้นรัฐบาลจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการควบคุมการแพร่ระบาด สะท้อนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนรัฐบาลค่อยๆ คลายมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง กลไกทางเศรษฐกิจค่อยๆ กลับมาเริ่มเดินได้อีกครั้ง แต่ก็ต้องมาสะดุดลงเมื่อเจอการระบาดระลอกที่ 2 เมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา และแม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้ใช้ “ยาแรง” ในการควบคุมการแพร่ระบาด หันมาใช้การแก้ปัญหาเป็นจุดๆ แต่ผลกระทบ ความเสียหายของภาคธุรกิจที่เกิดจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงแรกก็ยังไม่ได้ดีขึ้นมากนัก และมาเจอการระบาดระลอกที่ 2 ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเสียหาย

                และล่าสุดกับการระบาดของ “โควิด-19 ระลอกที่ 3” ที่รอบนี้ต้องยอมรับว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ แต่ในมิติของเศรษฐกิจยังมีหลายฝ่ายที่มองว่า การระบาดรอบนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและรายได้ของประชาชนมากเหมือนรอบแรก แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ ยังมีภาคธุรกิจจำนวนมาก ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 รอบแรก หลายอย่างยังไม่ดีขึ้น ก็ต้องมาถูกซ้ำเติมอีกในรอบนี้

                อย่างเช่น “ภาคครัวเรือน” โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่มองว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่เริ่มต้นขึ้นในเดือน เม.ย.2564 ส่งผลกระทบให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือน เม.ย.2564 ปรับตัวลดลงอย่างมาก มาอยู่ที่ระดับ 37 จาก 40.4 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งมีนัยต่อความเปราะบางของกำลังซื้อครัวเรือนจากจังหวะเวลาเกิดการระบาดหนัก

                ขณะที่มาตรการเยียวยาเพิ่มเติมของรัฐบาลยังไม่ออกมา รวมถึงราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มอย่างมาก โดยสะท้อนจากดัชนีที่ปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะมุมมองต่อการมีรายได้และงานทำ รวมถึงค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ไม่รวมภาระหนี้ ความกังวลที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางของดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นในรอบ 8 ปี ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนในระยะข้างหน้า

                “ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับมุมมองต่อรายได้และการจ้างงานหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่ค่อนข้างรุนแรง แม้ว่าจะไม่มีมาตรการควบคุมการระบาดที่รุนแรง แต่ครัวเรือนส่วนมากมีรายได้ที่ลดลง ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของครัวเรือน อีกทั้งระดับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ยังสะท้อนถึงค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่การเร่งจัดหาและกระจายวัคซีน มาตรการบรรเทาผลกระทบเพิ่มเติมจากภาครัฐ ยังมีความจำเป็นเพื่อประคับประคองภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ”

                ขณะที่ “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ระบุว่า ปัจจัยลบสำคัญที่ฉุดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ลดลงมาจากความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ในไทย ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีมาตรการควบคุมแบบเข้มข้น ทั้งขอความร่วมมืองดออกจากบ้าน ปิดสถานที่ กำหนดเวลาเปิด-ปิดห้าง ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ทำให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบ เสถียรภาพด้านการเมืองลดน้อยลง การฉีดวัคซีนให้ประชาชนล่าช้า ส่งผลให้คนรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ขาดแรงกระตุ้น แม้รัฐจะมีโครงการกระตุ้นออกมาก็ตาม ซึ่งหลายๆ ปัจจัยเสี่ยงทำให้คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ระดับ 0.0-1.5%

                ด้าน “สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)” กระทรวงพาณิชย์ ก็ยอมรับว่า ทุกครั้งที่มีการระบาดของโควิด-19 ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ และต้องเข้าใจถึงความกังวลที่เกิดขึ้น แต่การระบาดในระลอกที่ 3 นี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงน้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา น่าจะมาจากการที่ยังมีหวังเรื่องวัคซีนที่รัฐทยอยดำเนินการ และสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากเครื่องชี้ต่างๆ ก่อนหน้านี้ รวมถึงมาตรการรัฐที่ออกมาต่อเนื่อง น่าจะช่วยให้ประชาชนบางส่วนยังเชื่อมั่น.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"