“ปากน้ำ-เมืองนนท์” ตัวเลขติดโควิดยังพุ่งปรี๊ด โดยเฉพาะคลัสเตอร์ตลาดเมืองนนท์ “พ่อเมืองปทุมฯ” ไอเดียบรรเจิด จับมือ สสจ.จังหวัดหักเงินเดือนซื้อประกันล่อใจให้ฉีดวัคซีน หลายจังหวัดเริ่มรณรงค์หลังยอดจองต่ำ “บุรีรัมย์” นำร่องให้คนอายุ 18 ปีสมัครใจลงชื่อฉีดได้ “นครพนม” ผวาคลัสเตอร์รถตู้ติดยกคัน
เมื่อวันพุธที่ 12 พฤษภาคม ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาจัดส่งเครื่องมือแพทย์พระราชทานจากกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 และโรคระบาดต่างๆ ได้แก่ เครื่อง Oxygen high flow จำนวน 10 เครื่องให้ รพ.สมุทรปราการ
ขณะเดียวกัน โปรดเกล้าฯ ให้สภากาชาดไทยเปิด “ครัวพระราชทาน อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย” มอบอาหารพระราชทานให้แก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ 1,500 ชุด และอำเภอคูเมือง จำนวน 2,000 ชุด รวมจำนวน 3,500 ชุด ที่โดมสวนรมย์บุรี 200 ปี เทศบาลเมืองบุรีรัมย์
สำหรับสถานการณ์โควิดนั้น นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เผยว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 110 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึงปัจจุบัน 3,420 ราย ในพื้นที่ 2,370 ราย และนอกพื้นที่ 1,050 ราย ส่วนข้อมูลจำนวนเตียงผู้ป่วยนั้น โรงพยาบาลรัฐสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวนเตียง 276 เตียง คงเหลือ 28 เตียง, โรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่นๆ 214 เตียง คงเหลือ 24 เตียง, โรงพยาบาลเอกชน 1,056 เตียง คงเหลือ 149 เตียง, Hospitel โรงพยาบาลเอกชน 6 แห่ง จำนวน 1,303 เตียง คงเหลือ 691 เตียง และโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการจำนวน 944 เตียง คงเหลือ 440 เตียง
ส่วนที่ จ.นนทบุรี ศูนย์ปฏิบัติการ COVID-19 พบผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 รายใหม่ 67 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ติดมาจากภายในตลาดสดและภายในครอบครัว โดยเชื่อมโยงผู้ป่วยจากตลาดเทศบาลนครนนทบุรีและสมบัติตลาดสด 10 ราย และคลินิก The Boss 2 ราย
ด้านเพจเฟซบุ๊กสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปทุมธานี โพสต์ภาพระบุข้อความว่า ประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 คุ้มครองสูงสุด 1,000,000 บาท โดยนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าฯ ปทุมธานี จับมือ นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี หักเงินเดือนคนละครึ่งเดือน ซื้อประกันคุ้มครองสร้างความมั่นใจ คนอายุ 60 ปีขึ้นไป, 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยนายชัยวัฒน์ระบุว่า กลุ่มเป้าหมายมีประมาณ 300,000 คน แต่มีคนลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน 30,000 คน ผ่านหมอพร้อม จึงปรับกลยุทธ์ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รพ.สต.รับลงทะเบียนได้เลย
นพ.สุรินทร์กล่าวว่า จ.ปทุมธานีมีจำนวนประชากรมาก จึงต้องรณรงค์ให้คนมาฉีดวัคซีนให้เพิ่มขึ้นต่อไป โดยนอกจากให้ อสม.เคาะประตูบ้านเชิญช่วยให้คนมาฉีดวัคซีน ก็ร่วมถึงบริจาคเงินเดือนคนละครึ่งเพื่อซื้อประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 คุ้มครองสูงสุด 1,000,000 บาทให้
จันทบุรีห้ามออกจากบ้านยามวิกาล!
ส่วนนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้ออกประกาศเรื่องมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี หลังพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง โดยได้ขอความร่วมมือชาวจังหวัดจันทบุรี ไม่ใช่การประกาศเคอร์ฟิว แต่ให้งดออกจากเคหสถานในเวลา 22.00-04.00 น. เบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 13-31 พ.ค.นี้ รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนชาวจันทบุรีลงทะเบียนเพื่อจองวัคซีนด้วย
สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ที่ จ.นครพนม หลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนมได้แถลงว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย ทำให้รวมยอดสะสมอยู่ที่ 124 ราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายล่าสุด เป็นชายอายุ 21 ปี ทำงานช่างไฟฟ้าอยู่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง โดยหัวหน้างานติดเชื้อโควิดช่วงปลายเดือน เม.ย. แต่เจ้าตัวไม่ยอมเข้ารับการตรวจค้นหาเชื้อตามกระบวนการ ยังไปทำงานตามปกติ กระทั่งวันที่ 5 พ.ค. เริ่มมีอาการไข้ และสงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด หากไปตรวจใน จ.นนทบุรีอาจไม่มีเตียงว่าง จึงตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนา อ.ศรีสงครามด้วยรถตู้โดยสารเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ซึ่งทำให้ผู้โดยสารทั้งหมดในรถมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะผู้ป่วยระหว่างโดยสารมา แม้จะนั่งที่เบาะหลังสุด แต่ไม่สวมแมสก์ตลอดเวลา ขณะที่ทั้งรถมีเพียงลูกชายคนขับเท่านั้นที่สวมแมสก์ นอกนั้นไม่มีใครสวมแม้แต่คนเดียว จึงมีโอกาสติดเชื้อโควิดทั้งรถตู้
ขณะที่ จ.บุรีรัมย์นั้น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ได้ออกประกาศเรื่องการป้องกันระบาดใหม่ของโรคโควิด-19 โดยให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่มีภูมิลำเนาหรือบุคคลที่มาปฏิบัติงานในจังหวัดบุรีรัมย์ และหรือพักอาศัยในจังหวัดบุรีรัมย์ให้ทำการประเมินตนเอง และแสดงความจำนงต่อการรับวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยมีช่องทางติดต่อประกอบด้วย 1.อสม.ในชุมชน หมู่บ้าน ที่ท่านพักอาศัย 2.ผ่านระบบออนไลน์ QR code BURIRAM IC หรือ 3.แสดงความจำนงผ่านศูนย์ประสานงานรับบริการวัคซีนโควิด-19 ในโรงพยาบาลหรือ รพ.สต.ใกล้บ้าน
ขณะเดียวกัน นายปิยะ ปิจนำ นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ได้นำทีมชุดปฏิบัติการ EOC อ.เมืองบุรีรัมย์ และคณะลงพื้นที่ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดสถานีขนส่งผู้โดยสาร (บขส.) จ.บุรีรัมย์ และร้านค้าบริเวณโดยรอบ หลังพบคลัสเตอร์ร้านกาแฟแห่งหนึ่งใน บขส.มีผู้ติดเชื้อโควิด 3 ราย ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่ รพ.บุรีรัมย์
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เป็นประธานในพิธีมอบทุนการศึกษาของสมาคมตำรวจสาขาบุรีรัมย์ แก่บุตร-ธิดาข้าราชการตำรวจในสังกัด ภ.จว.บุรีรัมย์ 29 ทุน ก่อนให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลเรื่องการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เน้นย้ำเรื่องการดูแลตามแนวชายแดน เพราะกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้หารือกับผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ทราบว่าประเทศเพื่อนบ้านบ่อนกาสิโนยังไม่ได้ปิด จึงเชื่อว่ายังมีคนไทยบางคนลักลอบเข้าไปเล่นการพนันอยู่ ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองต้องบูรณาการกำลังร่วมกันบังคับใช้กฎหมาย การสืบสวนขยายผลเอาผิดกลุ่มผู้ร่วมขบวนการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว
“ไม่ต้องพูดถึงฉีดเพื่อชาติ ผมฉีดเพื่อตัวผมและครอบครัวผม ซึ่งผมก็ไปฉีดมาแล้ว ก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไร มีเพียงไขมันในเลือดสูงเท่านั้นเอง ก็บอกหมอไป หมอก็ฉีดก็ดูอาการไป และมีนัดฉีดเข็มที่ 2 ในวันที่ 17 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งเอาเป็นว่าเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่ต้องบอกตำรวจว่าเรามีโอกาสได้ฉีดวัคซีนแล้วถือเป็นสิ่งที่ดีมาก และมีประโยชน์อย่างไร”พล.ต.ท.ภาณุรัตน์กล่าวถึงเรื่องฉีดวัคซีน
ส่วน จ.นครราชสีมา หลังเกิดการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์โรงงานกุนเชียงเจ้าสัว อ.ชุมพวงนั้น ล่าสุดได้พิจารณาปิดหมู่บ้านบ้านหนองว้า ม.2 และบ้านหนองว้าบูรพา ม.20 ต.โนนรัง อ.ชุมพวง เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-25 พ.ค.2564 เนื่องจากมีการนำเชื้อโควิด-19 จากคลัสเตอร์โรงงานผลิตกุนเชียงเจ้าสัว ไปติดเครือญาติพี่น้องถึง 9 ราย ส่วนภาพรวมของจังหวัดนั้น พบผู้ป่วยรายใหม่ 14 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 776 ราย รักษาหาย 433 ราย และยังรักษา 338 ราย เสียชีวิต 5 ราย
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวันจะมีจำนวนที่ลดลง แต่มาตรการต่างๆ ในการสั่งปิดสถานที่เสี่ยงหรือมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดในวันที่ 16 พ.ค.64 นี้ การจะผ่อนปรนมาตรการนั้นต้องประเมินแบบวันต่อวัน ซึ่งหากสถานการณ์ดีขึ้นก็จะผ่อนปรนแต่หากสถานกลับแย่ไปกว่าเดิม ก็จำเป็นจะต้องขยายเวลาออกไปอีก ดังนั้นการฉีดวัคซีนถือเป็นสิ่งที่สำคัญ จึงต้องประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์ โดยขณะมีผู้ลงทะเบียนประมาณ 51,698 ราย แม้จะเพิ่มขึ้น แต่คิดเป็น 6.04% จากยอดจำนวน 860,000 รายเท่านั้น
ผวา“ภูเก็ตแซนด์บ็อก”เลื่อน
ส่วนที่ทำการศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน (สำนักงานพรรคชาติพัฒนา) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกฯ เปิดโครงการ “อาสาสมัครสู้ภัยโควิด-19” มอบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่หน่วยงานและสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย-กู้ชีพให้ รพ.ต่างๆ
ที่ รพ.ขอนแก่น พญ.นาตญา มิลล์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น พร้อมด้วยแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ได้ร่วมกันให้กำลังใจกับทีมบุคลากรการแพทย์ 19 คนที่มีกำหนดเดินทางไปร่วมปฏิบัติภารกิจที่ รพ.สนาม เมืองทองธานี ตามการประสานงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ขอรับการสนับสนุน
รพ.หนองคาย จ.หนองคาย ได้มีประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยงของจังหวัดหนองคาย เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 2 โดยมีผู้มารับบริการกันตั้งแต่เช้า และทยอยเดินทางมากันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน โดยไม่พบผู้รับบริการมีอาการผิดปกติรุนแรงหรือผลข้างเคียงจากวัคซีนแต่อย่างใด ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ในจังหวัดนั้น ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ติดต่อกัน 4 วันแล้ว ยอดผู้ป่วยสะสม 69 ราย
ที่ รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก ยังคงมีการฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้เสี่ยง ซึ่งในรอบแรกมียอดต้องฉีด 30,000 ราย แต่มีผู้มาลงทะเบียนขอฉีดวัคซีน 16,477 คน และวันนี้ได้มีการฉีด 1,150 คน
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช ระบุว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นจำนวน 20 คน ซึ่งอยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์แม่ค้าขายไก่ที่ติดทั้งบ้าน 11 คน และกลุ่ม อบต.ท่าเรือ ที่มีการตรวจค้นหาเชิงรุกเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ส่วนการณรงค์การฉีดวัคซีนนั้น จังหวัดตั้งเป้าฉีดให้ได้ 1 ล้านคน หรือ 70% ของประชากร 1.6 ล้านคน โดยต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น เพราะผู้ที่ได้รับวัคซีนหากติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงจากวัคซีน แค่ 0.0004% และเสี่ยงตายลดลง 5,500 เท่า แต่ถ้าไม่ฉีดแล้วเกิดป่วยติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสตายจากโควิดคิดเป็น 2.2% หรือป่วย 100 คน มีโอกาสเสียชีวิต 2.2 คน
ด้าน จ.ภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยอมรับว่า การติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดมาจากการมั่วสุมในแหล่งอบายมุขเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากถึงวันที่ 15 พ.ค.ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่เลขสองหลัก อาจทำให้วันที่ 1 ก.ค.ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกอาจไม่สามารถทำได้
นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดได้รับจัดสรรวัคซีน 2 แสนโดสเป็นล็อตแรก จากนั้นปลายเดือน พ.ค.ถึงต้น มิ.ย.เป็นล็อตสองของวัคซีนซิโนแวคเข็มที่สอง และแอสตร้าเซนเนก้าแก่กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ที่มี 7 โรคเรื้อรังอีก 1 แสน 4 หมื่นโดส ซึ่งตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้เสร็จก่อนสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มิ.ย. ในจำนวน 4.6 แสนคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยววันที่ 1 ก.ค.นี้
ส่วนที่ จ.สงขลา มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงออกลาดตระเวนคุมเข้มแนวชายแดนไทย-มาเลเซียตลอด 24 ชั่วโมงป้องกันการลักลอบข้ามแดนของแรงงานต่างด้าว ขณะเดียวกัน รพ.สงขลาเปิดจุดคัดกรองกลุ่มเสี่ยงตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |