ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการพูดถึงพืชชนิดหนึ่งที่เดิมเคยถูกตีตราว่าเป็นสารเสพติด นั่นก็คือ "กัญชงและกัญชา" แต่เมื่อยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดความก้าวหน้าของทุกวงการในประเทศไทย โดยเฉพาะวงการการแพทย์ที่เทคโนโลยีสามารถยืนยันได้แล้วว่ากัญชงและกัญชามีประโยชน์ หากมีการใช้งานอย่างถูกวิธีและอยู่ในการควบคุมของผู้เชี่ยวชาญ
ด้วยเหตุนี้สังคมไทยจึงเกิดกระแสการใช้พืชชนิดดังกล่าวต่างๆ มากมาย และล่าสุดที่ได้รับการตอบรับและพูดถึงอย่างมากคือ การนำใบสดไปใส่ในอาหาร หรือชงเป็นเครื่องดื่ม และสามารถทำชื่อเสียงและรายได้ให้กับร้านนั้นๆ เพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมเริ่มอยากลองลิ้มชิมดูว่าจะเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกต่อร่างกายอย่างไร
แต่การนำกัญชงหรือกัญชามาใส่ในอาหารนั้นก็ต้องอยู่ในการควบคุมเช่นเดียวกัน นอกจากนี้จะต้องรับตัวกัญชามาจากฟาร์ม สวน หรือร้านค้าที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่ดูแลเท่านั้น ไม่งั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ที่จากข้อจำกัดของพืชชนิดดังกล่าว จึงต้องมีกลุ่มที่เข้ามาดูแลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเป็นแรงหลักในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้น
ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ให้การรับรองการจัดตั้งสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทยขึ้น โดยจุดประสงค์หลักๆ ก็เพื่อช่วยให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสมาชิกและสาธารณะ รวมทั้งช่วยประสานความร่วมมือระหว่างองค์กร หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในเชิงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม จนนำไปสู่ความมั่นคงของผู้ประกอบการกัญชงในประเทศไทยอย่างแท้จริง
โดยสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงแห่งประเทศไทย เป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมชั้นนำจากหลายธุรกิจ เพื่อให้สมาคมเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในการช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนกลุ่มสมาชิกให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างราบรื่น โดยยึดหลักการพัฒนาเกษตรกรและบุคลากร ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรม และเริ่มต้นสร้างภาคต้นน้ำ หรือเกษตรกรผู้ปลูกให้เป็นรากแก้วที่แข็งแรงให้ได้ จึงจะขับเคลื่อนส่วนอื่นๆ ให้แข็งแรงตามไปอย่างยั่งยืน
โดยทิศทางในการขับเคลื่อนสมาคมระยะแรกนั้น ทางสมาคมจะเป็นศูนย์กลางข้อมูลให้กับผู้สนใจในการขออนุญาตปลูก และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกัญชง และเริ่มรวบรวมสายพันธุ์กัญชง ทำการผลิตเมล็ดพันธุ์รับรองสำหรับส่งเสริมการปลูกของเกษตรกร เพื่อลดปัญหาการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ที่มีราคาสูง การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ หรือต้นพันธุ์ที่เหมาะกับแต่ละอุตสาหกรรม และยกระดับภาคการเกษตรของพืชกัญชงให้มีคุณภาพที่ดี โดยในระยะต่อไปจะเป็นการขับเคลื่อนการกำหนดคุณภาพ และมาตรฐานราคากลางในการซื้อขาย การควบคุมมาตรฐานกัญชงในระดับอุตสาหกรรมต่อไป
ซึ่งนายวีระชัย ณ นคร ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมฯ ได้ออกมากล่าวว่า ตอนนี้สมาคมฯ มีองค์ประกอบพร้อมที่จะดำเนินการ ประกอบด้วยผู้มีประสบการณ์ปลูกกัญชงและกัญชาทางการแพทย์ ผู้นำในอุตสาหกรรมหลายสาขา และยังพบว่าสามารถนำพืชกัญชงไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ตั้งแต่การนำเส้นใยไฟเบอร์ไปใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ การใช้สารสกัดสำคัญ CBD ในอุตสาหกรรมยารักษาโรค เครื่องสำอาง อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องดื่ม อาหารสัตว์ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเมื่อกระแสสังคมเริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลเองก็จะต้องออกมาตรการควบคุมและดูแลอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะมาตรฐานสารสกัดจากกัญชงที่จัดทำโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยออกมาตรฐานในชุดของกัญชงซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 6 มาตรฐาน ได้แก่ 1.น้ำมันเมล็ดกัญชง 2.สารสกัดจากกัญชงที่มี CBD รวมไม่น้อยกว่า 30% โดยมวล 3.สารสกัดจากกัญชงที่มี CBD รวมไม่น้อยกว่า 80% โดยมวล 4.เปลือกกัญชง และ 5.แกนกัญชง ส่วนอีกมาตรฐานหนึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ คือ เส้นใยกัญชง คาดว่าจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้
เชื่อว่าจากการตั้งสมาคมดูแลพืชชนิดนี้ขึ้นมาในประเทศไทย จะเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้กัญชงและกัญชงสามารถขึ้นเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อีกชนิดหนึ่ง.
ณัฐวัฒน์ หาญกล้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |