เป็นที่ทราบกันดีว่า ในการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ดีดีการบินไทยคนใหม่ ได้ผ่านกระบวนการสรรหามาร่วม 1 ปีครึ่ง หลังจากนายจรัมพร โชติกเสถียร พ้นวาระตั้งแต่เดือน ก.พ.2560 ทั้งนี้ เนื่องจากติดปัญหาอุปสรรคหลายประการ นับจากการเปิดรับสมัครครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย.2559 เนื่องจากไม่มีผู้สนใจรายใหม่ยื่นใบสมัครเพิ่มเติม ที่ผ่านมาจึงได้ขยายเวลาการรับสมัครออกไปเรื่อยๆ
ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปจะพบว่า การปิดสรรหาดีดีรอบแรกมีผู้สมัครเป็น 9 คน แต่ภาคเอกชนที่เข้ามาสมัครหลายรายเข้าข่ายไม่ผ่านคุณสมบัติ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการมีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร จึงมีผู้ผ่านคุณสมบัติ 4 ราย แต่สุดท้ายก็ล้มการสรรหาเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2560 โดยอ้างว่า ในสถานการณ์แบบนี้คนที่จะเข้ามาเป็นเบอร์ 1 การบินไทย จะต้องเข้ามาดูภาพรวมการบริหารจัดการเรื่องการเงิน แก้ปัญหาเร่งด่วน จึงเปิดรับสมัครใหม่รอบ 2 เมื่อวันที่ 1 ส.ค.-15 ก.ย.2560 พร้อมปรับลดคุณสมบัติบางอย่าง และขยายเวลามาถึงเดือน มี.ค. ร่วม 6 ครั้ง
เหตุเนื่องจากผู้สมัครรายเดิมร่วม 5 ราย อาทิ นายดนุช บุนนาค ที่ปรึกษาผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), นายวิสิฐ ตันติสุนทร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังไม่เป็นที่พอใจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งมีนายสมชัย สัจจพงษ์ เป็นประธานและบอร์ดการบินไทย
แต่ล่าสุดหลังจากวันที่ 19 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 7/2561 โดยมี พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง รักษาการประธานกรรมการบริษัทฯ เป็นประธานการประชุม ซึ่งในการประชุมดังกล่าวคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติเห็นชอบผลการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งผู้ผ่านการสรรหาคือ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม
ซึ่งขบวนการหลังจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เจรจาในเรื่องเงื่อนไขการจ้าง และผลตอบแทน ก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาต่อไป
สำหรับ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ได้ออกมาเปิดใจว่า ในฐานะนักการเงินที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ จะต้องนำประสบการณ์และความสามารถ รวมถึงบทเรียนจาก ธพส.เข้าแก้ปัญหาภายในการบินไทย ซึ่งการได้รับคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งดีดีการบินไทยครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องไม่คาดคิด และตนเพิ่งทราบเรื่องไม่กี่วันนี้เอง ซึ่งมองว่าภารกิจที่ตนจะต้องรับผิดชอบนั้นคงคล้ายกับการเข้ามารับภารกิจดูแล ธพส.ในช่วงแรกตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งขณะนั้นเจอปัญหาขาดทุนสะสมมากแต่สามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ในเวลาต่อมา
เป็นที่แน่นอนว่า หลังจากได้รับเลือกในตำแหน่งดีดีการบินไทยนั้น ก็อาจจะมีผู้ที่ไม่หวังดี ซึ่งก็มีทั้งคนรักและคนเกลียด จึงมีบางฝ่ายพยายามขุดคุ้ยประวัติด้านลบและข้อผิดพลาดในการทำงานของตน ก็ได้ชี้แจงว่า ที่ผ่านตนมีประสบการณ์บริหารองค์กรมาหลายแห่ง ทั้งกิจการค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ กิจการด้านสื่อสารมวลชน รวมถึงการเข้ามาดำรงตำแหน่งใน ธพส. ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างเต็มที่ไม่มีเรื่องเสียหาย โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวโยงกับการเมืองหรือนักการเมืองนั้น
ยืนยันได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใดในการเข้ามารับตำแหน่งดีดีการบินไทยในครั้งนี้ อีกทั้งที่ผ่านมาการบินไทยเจอปัญหาและกระแสข่าวด้านลบมาเยอะแล้ว จึงต้องการให้ประชาชนในสังคมเข้าใจและเอาใจช่วยให้องค์กรรัฐวิสาหกิจแห่งนี้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง
ก็ต้องมาลุ้นกันว่า หลังจากที่ดีดีคนใหม่เข้ามาบริหารงานกิจการของบริษัท การบินไทยฯ จะช่วยให้บริษัทผ่านพ้นวิกฤติขาดทุนต่อเนื่อง รวมถึงเดินหน้าแผนฟื้นฟูได้ตามแผนหรือไม่ ถือว่าการสรรหาดีดีครั้งนี้ใช้เวลายาวนาน จึงทำให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้ถูกจับตามอง หากการทำงานไม่เข้าตากรรมการภายในเวลา 3 เดือน ก็จะได้ข้อสรุปว่าดีดีคนใหม่จะได้ไปต่อหรือไม่ ดังนั้น การเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวก็ถือว่าไม่ง่ายเลยทีเดียว.
กัลยา ยืนยง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |