12 พ.ค.64- นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อระบบการศึกษาทำให้ผู้เรียนขาดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พบข้อมูลน่าสนใจว่าในปี 2563 จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยวัยแรงงาน (กลุ่มอายุ 15 - 59 ปี) ซึ่งเป็นกำลังแรงงานสำคัญปัจจุบัน เท่ากับ 9.86 ปี หรือมีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ยังห่างจากค่าเป้าหมายถึง 2.64 ปี จากเป้าหมายในปี 2579 ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ อยู่ที่ 12.5 ปี หรือมีการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างต่ำ ซึ่งแนวโน้มจะถึงค่าเป้าหมายได้ยาก เนื่องจากต้องเพิ่มโดยเฉลี่ยปีละ 0.15 ปี จึงเป็นเรื่องน่าวิตกต่อภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กนักเรียน เนื่องจากการปิดภาคเรียนที่นานขึ้น และยังมีข้อจำกัดของการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัลต่าง ๆ ช่วงรอยต่อของการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 มีผลทำให้ผู้จบการศึกษาหางานทำยากขึ้น และยังขาดโอกาสสั่งสมประสบการณ์ทำงานและรายได้ ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
นายอำนาจ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลยังพบว่าวัยแรงงานจำแนกตามภูมิภาคในปี 2563 โดยเฉลี่ยแต่ละภาคมีการศึกษาระดับ ม.ต้น หรือมีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกภูมิภาค สำหรับกรุงเทพ ฯมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยสูงที่สุด 11.76 ปี รองลงมาเป็นภาคกลาง 10.08 ปี ภาคใต้ 9.63 ปี ภาคเหนือ 9.18 ปี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9.02 ปี ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามจังหวัดมีข้อค้นพบ 53 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 68.83 ที่มีการศึกษาในระดับ ม.ต้น และมี 24 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 31.17 ที่มีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาปีการศึกษาเฉลี่ยรายจังหวัด พบว่าวัยแรงงานที่อาศัยในจังหวัดนนทบุรี มีปีการศึกษาเฉลี่ยสูงที่สุดเท่ากับ 11.80 ปี และน้อยที่สุด จ.แม่ฮ่องสอน 7.20 ปี โดยจากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนภาพที่ชัดเจน ว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันกลุ่มวัยแรงงานอายุ 15-39 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายต่อยอดการพัฒนาประเทศอนาคต โดย สกศ. สังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาให้มีความสอดคล้องความต้องการและความจำเป็นของสถานศึกษาแต่ละขนาดที่มีความแตกต่างกัน เสนอปรับหลักสูตรการเรียนการสอนแบบข้ามสาขาวิชาเพื่อพัฒนาให้เด็กมีทักษะรองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษ ที่ 21 รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับการจัดการเรียนการสอนแบบ Non-Degree ริเริ่มการใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และระบบธนาคารหน่วยกิต (เครดิตแบงก์) ที่มีการกำหนดผลลัพธ์ของการเรียนรู้ เน้นสมรรถนะที่จำเป็นในตลาดงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสในยุคหลังโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร ดิจิทัล หุ่นยนต์ และการแพทย์ครบวงจร
“แม้ว่าผลการศึกษาจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยวัยแรงงานไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 0.1 ปี แต่ สกศ. มองว่าโควิด-19 คือตัวเร่งความท้าทายที่มีอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นหากจะให้บรรลุตามแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี ในปี2579 อยู่ที่ 12.5 ปี จำเป็นต้องเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบและหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สนับสนุนการพัฒนาทักษะ ปรับทักษะ และสร้างทักษะใหม่ให้กับวัยแรงงานให้มีความรู้และสามารถเรียนต่อได้สูงขึ้นอีก”เลขาฯ สกศ. กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |