“หมอทวีศิลป์” แจงผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 1,919 ราย ยอดสะสมใกล้ 87,000 คน เสียชีวิตอีก 31 ราย ตั้งแต่อายุ 34-94 ปี “ศปก.ศบค.” ชี้ กทม.-ปทุมธานี-นนทบุรี ยังต้องคุมอย่างเข้มข้น “บิ๊กตู่” ร่ายยาววัคซีน ยันทำให้เป็นวาะแห่งชาติ ลั่นฉีดดีกว่าไม่ฉีด ครม.-ส.ส.ถูกจิ้มมาแล้วไม่มีใครป่วย “สาธิต”ปลุกสังคมช่วยกระตุ้นผู้สูงอายุ-ผู้ป่วย 7 กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีน หลังเปิดให้ลงทะเบียนมีมาลงชื่อแค่ 10%
เมื่อวันอังคารที่ 11 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ว่าพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1,919 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,902 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 17 ราย ทำให้ไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 86,924 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 1,829 ราย หายป่วยแล้วสะสม 57,037 ราย กำลังรักษาอยู่ 29,435 ราย อาการหนัก 1,207 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 390 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 31 ราย เสียชีวิตสะสม 452 ราย ส่วนการฉีดวัคซีน มีการฉีดแล้ว 1,898,454 โดส แบ่งออกเป็นเข็มแรก 1,365,992 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 532,462 ราย
สำหรับข้อมูลผู้เสียชีวิตรายใหม่ 31 ราย พบในกรุงเทพมหานคร 17 ราย, นนทบุรี, สุพรรณบุรี, ชลบุรี และนครศรีธรรมราช จังหวัดละ 2 ราย ส่วนนครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, ลำปาง, เชียงใหม่ และพิจิตร จังหวัดละ 1 ราย เป็นเพศชาย 15 ราย และหญิง 16 ราย อายุเฉลี่ย 34-94 ปี โดยมีโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยง อาทิ โรคความดันสูง, เบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง, ไตเรื้อรัง, โรคหัวใจ, โรคอ้วน, หลอดเลือดสมอง, ไทรอยด์, โรคปอดเรื้อรัง, โรคตับ และแพ้ภูมิตัวเอง ส่วนกลุ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการติเชื้อเป็นคนในครอบครัว เพื่อน ไปในสถานที่แออัด สัมผัสผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันมาก่อน อาชีพเสี่ยงโดยเฉพาะทำงานในสถานบันเทิง
“เป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี หรือผู้ที่มีสุขภาพเป็นปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนก่อน ก็ขอให้ท่านรับทราบข้อมูลชุดนี้ และเชื่อว่าวัคซีนที่ท่านได้รับ จะลดความรุนแรงของโรคลงได้อย่างชัดเจน จากที่ป่วยมากก็ป่วยน้อย ลดอัตราการเสียชีวิต เป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วทั่วโลก ขอยืนยันว่าวัคซีนคือทางออกของเรา” นพ.ทวีศิลป์ระบุ
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ในกลุ่มผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศ 17 รายนั้น พบว่าเดินทางมาจากอินเดีย 11 ราย เป็นคนสัญชาติไทยทั้งหมด ตรวจพบเชื้อแต่ไม่มีอาการ โดยมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และขอย้ำว่า คนไทยมีสิทธิเข้าประเทศ แต่เราไม่ได้ให้ชาวต่างชาติเข้ามาในตอนนี้ การติดเชื้อเจอตั้งแต่วันแรก Day 0 จำนวน 5 ราย พอเข้า ASQ วันที่ 1 เจออีก 6 ราย นี่คือระบบการดูแลคนในสถานที่กักกันในไทย เราทำกันมาตลอด และเป็นระบบที่เรายืนยันว่าปลอดภัย
กทม.-ปริมณฑลคุมเข้มข้น
นพ.ทวีศิลป์ยังตอบคำถามถึงกรณีแอสตร้าเซนเนก้า ยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 ของสยามไบโอไซเอนซ์ มีประสิทธิภาพและจะส่งมอบเร็วๆ นี้ จะส่งมอบเมื่อไหร่ และฉีดได้ทันตามกำหนดการที่วางไว้หรือไม่ว่า ตอนนี้การผลิตและการตรวจสอบคุณภาพเป็นไปตามแผนด้วยดี ส่วนวันเวลาที่จะฉีดจะเร็วกว่าแผนหรือไม่ไม่อาจสรุปได้ แต่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกระทรวงสาธาณสุข (สธ.) สยามไบโอไซเอนซ์ รวมถึงนายกรัฐมนตรีได้ติดตามเร่งรัด แต่ต้องทำทุกอย่างด้วยมาตรฐานระดับโลก เพื่อประชาชน ถึงแม้จะเป็นการได้มาซึ่งเกิดขึ้นจากความมั่นใจของระดับโลกมาแล้ว แต่เราก็ไม่ละทิ้งแต่ละขั้นตอนที่เราต้องทำเพื่อมาตรฐานของคนไทย
“ผมไม่อยากให้ท่านต้องไปเปรียบเทียบกับใคร เรียนด้วยความเข้าใจว่าเราต้องทำให้มาตรฐานของเราสูงที่สุดเท่าที่เราทำได้ เพื่อดูแลประชาชนอย่างดี ทั้งก่อนฉีด ระหว่างที่ฉีด และหลังฉีด อยากให้ท่านเข้าใจ และร่วมมือกับพวกเราในการที่จะทำงานกันต่อไป” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ขณะเดียวกัน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) และประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มการแพร่ระบาดไม่ลดลง บางแห่งคงตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม., นนทบุรี และปทุมธานี ยังถือเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น หรือพื้นที่แดงเข้ม และยังพบว่าแนวโน้มพบผู้ป่วยอาการหนักคือปอดอักเสบ และผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในชุมชนแออัด โรงงาน สถานประกอบการ และตลาด โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อคือการทำกิจกรรมรวมกลุ่มกันทั้งในสถานประกอบการ ในที่ทำงานและในครอบครัว จึงขอให้ ศบค. ช่วยประชาสัมพันธ์เพื่อเน้นย้ำให้ประชาชนและทุกภาคส่วนงดทำกิจกรรมรวมกลุ่ม งดรับประทานอาหารร่วมกันในกลุ่มเพื่อน และที่ยังต้องถือเป็นมาตรการเข้มข้นคือ ขอให้ทุกหน่วยงานยังคง ทำงานที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีเดินทางเข้าไทยทางอากาศ ได้มีมาตรการสำหรับคนต่างชาติที่มาจากอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาล โดยชะลอชั่วคราวการออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย หรือ certificate of entry (COE) ทำให้คนต่างชาติยังไม่สามารถเข้ามาในไทยได้ แต่กรณีคนไทยที่กลับจากประเทศดังกล่าวจะได้เข้าสู่ระบบการกักตัวใน SQ ตามมาตรการที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งเรื่องที่น่าห่วงในช่วงนี้คือบริเวณพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจมีการลักลอบข้ามชายแดนโดยผิดกฎหมายและอาจนำเชื้อสายพันธุ์อื่นเข้ามาในไทยได้ โดยข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ผลการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองและการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยผิดกฎหมาย เฉพาะเดือน พ.ค. มีการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายถึง 1,218 คน
ทั้งนี้ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธานมอบเงินช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 24 ราย
สั่งเน้นตรวจเชิงรุก
พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า ได้สั่งการเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังเข้าป้องกันการลุกลามอย่างเต็มที่ โดยยุทธวิธีสำคัญในการเอาชนะศึกครั้งนี้คือ การระดมตรวจเชิงรุกให้ได้มากที่สุด โดยตั้งแต่ 1 พ.ค.ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เรามีการตรวจไปแล้วมากกว่า 70,000 ราย ในชุมชนที่มีความเสี่ยง เฉลี่ย 7,000 รายต่อวัน ดังนั้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจเห็นยอดผู้ติดเชื้อต่อวันเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการตรวจเชิงรุกแบบปูพรมของเรา ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันช่วงนี้อาจมีขึ้นมีลงอยู่บ้าง แต่ทางทีมแพทย์เชื่อมั่นว่าด้วยวิธีนี้ จะทำให้เราควบคุมสถานการณ์ได้ในไม่ช้า และยอดผู้ติดเชื้อจากในพื้นที่จะค่อยๆ ลดลง ซึ่งล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ เริ่มทรงตัว ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี แต่เราก็ยังไม่นิ่งนอนใจ จะดำเนินการตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงต่อไปให้มากและเร็วที่สุด และในขณะเดียวกันก็เร่งระดมฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนให้มากที่สุด เพื่อตัดวงจรสะเก็ดไฟที่ปะทุอยู่ในเวลานี้
“ถึงวันนี้ได้ฉีดวัคซีนในพื้นที่คลองเตยไปแล้วมากกว่า 13,000 คน หรือเกือบ 30% ของเป้าหมายที่จะฉีดให้ได้อย่างน้อย 50,000 คน และพื้นที่ปทุมวันที่อยู่ใกล้เคียงได้ฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 50% ของเป้าหมาย 14,000 คน โดยเฉลี่ยแล้วทั้งสองเขตฉีดได้มากกว่าวันละ 2,000 คน โดยผลการดำเนินการจากคลัสเตอร์คลองเตย จะใช้เป็นแนวทางในการจัดการกับการแพร่ระบาดในพื้นที่เขตอื่นๆ ของ กทม.และปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัดด้วย วันนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการใช้แซนด์บ็อกที่เราร่างขึ้นมาแล้วดำเนินการในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง หรือพื้นที่สีแดง วันหน้าหากเกิดการแพร่ระบาดต่อไปอีก เราจะใช้แนวทางนี้ปฏิบัติต่อไป”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อไปว่า ยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลค่ารักษาพยาบาล ออกค่าใช้จ่ายให้ประชาชนทุกคนตามสิทธิตั้งแต่การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การรับวัคซีน การชดเชยกรณีได้รับผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนและการรักษาพยาบาล ส่วนในกรณีของโรงพยาบาลเอกชน รัฐจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายไปที่ รพ.เอกชนเพิ่ม 25% ทุกรายการ หากมีประกันส่วนบุคคล ให้โรงพยาบาลเรียกเก็บประกันส่วนบุคคลก่อน ที่เหลือให้เรียกเก็บกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยห้ามโรงพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย ส่วนกรณีเกิดความเสียหายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บ เจ็บป่วยต่อเนื่อง เสียอวัยวะ พิการ ทุพพลภาพถาวร หรือเสียชีวิต สามารถยื่นขอรับเงินเยียวยาได้จาก สปสช. และยังมีค่าประกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเสียสละเสี่ยงภัย ทำงานอย่างหนักแสนสาหัสในขณะนี้
“ตรงนี้ผมขอความกรุณาอย่าไปฟังข่าวที่ไม่ใช่ออกจากรัฐบาล เดี๋ยวจะสับสนอลหม่านไปหมด รัฐบาลดูแลทั้งหมด ทั้งประชาชน ทั้งเจ้าหน้าที่ บุคลากรด่านหน้าทั้งหมด ดูแลทั้งหมด รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย แต่ที่สำคัญที่สุด ผมต้องขอร้องให้ทุกคนระมัดระวังตนเองที่สุด เรายังไม่พ้นจากการแพร่ระบาดในระลอกนี้ ขอให้ป้องกันตนเองให้เต็มที่” นายกฯ ระบุ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า นอกจากการควบคุมสถานการณ์ ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าแล้ว สิ่งที่ตนเองและรัฐบาลพยายามคิดวางแผนทุกวัน คือการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะการปิดสถานที่ต่างๆ โดยได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ติดตามดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และประเมินสถานการณ์วันต่อวัน หากจังหวัดใด โดยเฉพาะจังหวัดโซนสีแดงที่มีการปิดสถานที่และข้อจำกัดต่างๆ มีสถานการณ์ที่ควบคุมได้ดีขึ้นแล้ว ก็ให้พิจารณาผ่อนคลายเงื่อนไขต่อไป เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้กลับไปสู่การทำมาค้าขาย การเดินทางท่องเที่ยวได้เช่นเดิม ซึ่งตนเองจะพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพื่อรักษาสมดุล ทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจที่ต้องเดินควบคู่กันไปด้วย
ลั่นฉีดดีกว่าไม่ฉีด
นายกฯ ยังกล่าวถึงเรื่องวัคซีนว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าเดือน พ.ค.ได้เพิ่มอีก 3.5 ล้านโดส และได้ความร่วมมือจากภาคเอกชนในการเพิ่มศักยภาพในการฉีดได้อีกมาก ขอย้ำว่ารัฐสามารถจัดหาวัคซีนให้กับประชากรในประเทศได้ทุกคนแน่นอน และจะไม่หยุดจัดหาและสำรองใช้เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน ซึ่งในที่ประชุม ครม.ตนเองได้เสนอให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอย่างครบวงจร ทั้งการจัดหา การกระจาย ไปจนถึงการฉีดด้วย เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศไทยของเรา สิ่งที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเป็นจริงไปไม่ได้เลย หากคนไทยไม่มาเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนมาเข้ารับการฉีดวัคซีนกันให้มากที่สุด ประเทศไทยจึงจะเดินหน้าต่อไปได้
“ผมขอยืนยันว่าวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้าทุกชนิด มีการตรวจสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัยโดยได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว และปัจจุบันมีใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก มีคนฉีดไปแล้วหลายสิบล้านคน รวมทั้งผู้นำประเทศทั่วโลก สามารถป้องกันการป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ และป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 100% ส่วนโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงนั้น มีน้อยมากหากเปรียบเทียบกันแล้ว กับโอกาสในการติดโควิด และเสียชีวิตจากโควิดนั้นมีสูงกว่าการฉีดแล้วเกิดผลข้างเคียงหลายพันเท่า ฉีดดีกว่าไม่ฉีด ซึ่งผมเองรวมทั้ง ครม. ส.ส.รัฐบาล และฝ่ายค้านต่างก็ฉีดวัคซีนโควิดกันไปแล้วโดยไม่มีผลข้างเคียงใดๆ”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ล่าสุดจากการเปิดลงทะเบียนยืนยันและนัดหมายการฉีดวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อมและช่องทางต่างๆ สำหรับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1.6 ล้านคน สูงสุดคือ กทม. มากกว่า 5 แสนคน ตามมาด้วยลำปาง ซึ่งมียอดมากกว่า 2 แสนคน ซึ่งหากนับตามสัดส่วนประชากร ก็ต้องถือว่าลำปาง ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนสูงที่สุดในประเทศ นับว่ามีความตื่นตัวในพื้นที่อย่างดีเยี่ยม ต้องขอขอบคุณ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายกฯ ยกการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ ล่าสุด เพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้าได้โพสต์คลิปวิดีโอความยาว 48 วินาที ช่วงต้นเป็นภาพประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเชิญชวนคนไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า “ในช่วงที่เราต้องต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 นี้ ผมขอฝากไปถึงพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน เมื่อวัคซีนมาถึงท่านแล้ว ร่วมมือกันไปฉีดวัคซีนกัน เพื่อตัวท่าน ครอบครัวท่าน คนที่ท่านรัก เพื่อสังคมและประเทศไทยของเรา และทุกคนจะได้กลับมามีชีวิตที่ปกติโดยเร็ว ประเทศกลับมาเข้มแข็งและเดินหน้าต่อไป” และจบด้วยข้อความ #ฉีดวัคซีนวาระแห่งชาติ #ประเทศไทยต้องชนะ
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า สธ., กระทรวงมหาดไทย, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), สภาอุตสาหกรรมฯ, สภาหอการค้าฯ และภาคเอกชน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่ผ่านมาเห็นชอบเพิ่มประชากรวัยแรงงานระบบประกันสังคม 16 ล้านคนแรงงาน เป็นกลุ่มเป้าหมายรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยมีสํานักงานประกันสังคม และจังหวัดจะเป็นผู้รวบรวมจำนวนและรายชื่อที่จะรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อส่งให้ สธ. ขณะเดียวกันก็เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มเสี่ยง ผู้สัมผัสเสี่ยง และประชาชนทุกๆ คนให้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วที่สุด โดยข้อมูลล่าสุดได้มีการฉีดสะสมแล้ว 1,809,894 โดส โดยในพื้นที่ กทม.การฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสม 315,504 โดส
ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พร้อมคณะ แถลงความคืบหน้าการลงทะเบียนจองวัคซีนโควิด-19 ผ่านหมอพร้อม ว่ากลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.7 ล้านคน และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง จำนวน 4.3 ล้านคน รวม 16 ล้านคนนั้น มีการลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนมีเพียง 1.7 ล้านคน หรือ 10% ของจำนวนคนทั้งหมด จึงขอกระตุ้นคนไทยทั้งประเทศว่า ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ ขอให้คนไทยทุกคนช่วยผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังพา 2 กลุ่มนี้ เข้าถึงระบบหมอพร้อมให้เร็วและมากที่สุด
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 กล่าวว่า ประโยชน์จากวัคซีนโดยตรงคือ ลดอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิตได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคจนต้องเข้าไอซียู ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลพบว่า ปัจจัยเสี่ยงมีโรคประจำตัว 86% และอายุมัธยฐานอยู่ที่ 65 ปี นี่ก็เป็นเหตุผลที่ควรให้วัคซีนกลุ่มนี้ก่อน โดยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 ป้องกันการป่วยได้ถึง 76% และยังลดความเสี่ยงการเสียชีวิตได้ถึง 80% จึงต้องเร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด แม้วัคซีนจะมีผลข้างเคียง แต่เมื่อเทียบกันแล้วผลข้างเคียงน้อยมาก ประโยชน์มากกว่า
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาระดับกระทรวง สธ.กล่าวตอบข้อถามของวัคซีน 16 ล้านโดส ถ้าเหลือจะปรับให้กับกลุ่มอื่นๆ อย่างไรว่า ขอเวลาให้กลุ่มผู้สูงอายุและ 7 โรคเสี่ยงก่อนในการเข้าถึงก่อน ไม่เช่นนั้นจะทิ้งพวกเขาไว้ทีหลัง จึงขอเวลาในการที่ทางต่างจังหวัดกำลังทยอยข้อมูลเข้ามา แต่หากเวลาผ่านไปและวัคซีนยังเหลือ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาไว้แล้ว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวในการเสวนาเรื่องผ่าวัคซีนโควิด-19 กับ 3 สถาบันการแพทย์ ว่าอยากให้ประชาชนหันมาฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค เนื่องจากพบผู้ป่วยเฉลี่ย 1,000 คนต่อวัน และผู้ป่วยหนักก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยโควิด ใน 3 สถาบัน พบเฉลี่ยที่ละ 150-200 คน แต่ภาพรวมประเทศพบผู้ป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจ 400 คน และ 25% มีแนวโน้มรุนแรง ในจำนวน 1 ใน 4 มีโอกาสเสียชีวิต
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ระบุว่า โควิดรอบนี้จากสายพันธุ์อังกฤษรุนแรงมากขึ้น อัตราการติดเชื้อป่วยเพิ่มขึ้น 15 เท่า และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเสียชีวิตทุกวัน และจากจำนวนผู้ป่วยหนัก 400 คน ในจำนวน 80-100 คน มีโอกาสเสียชีวิต จากเดิมอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.2-0.3% แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 0.6-1%
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวผ่านรายการ NBT รวมใจสู้ภัยโควิด-19@ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ในวันที่ 14 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางมาเปิด รพ.บุศราคัม หรือ รพ.สนามที่เมืองทองธานี เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลือง ที่มีลักษณะอาการเป็นโควิดระยะปานกลาง โดยเฟสแรกจะเปิดรองรับผู้ป่วยจำนวน 1,092 เตียง จากที่รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5,000 เตียง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |