ชาวประมงพื้นบ้านเมืองตรังเฮ! แห่ออกจับ "แมงกะพรุนหัวโล้น” นับแสนตัวกลางทะเล หลังเข้าสู่มรสุมฝั่งตะวันตก ที่ใน 1 ปีจะมีครั้งเดียว สร้างรายได้ให้หลักพันถึงหลักหมื่นบาท ในช่วงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดหนัก
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หมู่ 9 บ้านปากคลอง ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง ชาวประมงชายฝั่งได้แล่นเรือออกไปกลางทะเล เพื่อทำการเก็บแมงกะพรุนหัวโล้นที่ลอยอยู่เหนือน้ำกลางทะเลนับแสนๆ ตัวหน้ามรสุมด้วยเครื่องมือเพียงอันเดียว ลักษณะคล้ายกับคราดถากหญ้า โดยนำเอาใส่ไว้ในเรือหางยาวจนเต็มลำ แล้วแล่นกลับมายังชายฝั่ง ซึ่งมีพ่อค้ารับซื้ออยู่ในพื้นที่ประมาณ 3 เจ้า โดยเป็นทั้งคนในพื้นที่และพ่อค้าจากต่างจังหวัดสตูล, กระบี่ และสุราษฎร์ธานี สามารถสร้างรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้านต่อลำวันละ 5,000-10,000 บาท รวมทั้งพ่อค้าที่รับซื้อก็สามารถสร้างรายได้หลักแสนบาทต่อการนำไปขายหนึ่งครั้ง ส่งผลทำให้เงินแพร่สะพัดในชุมชนกว่าแสนบาทต่อวัน
นายเกษม บุญญา อายุ 52 ปี หรือผู้ใหญ่เขียว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านปากคลอง ต.บ่อหิน ซึ่งเป็นหนึ่งในพ่อค้าที่รับซื้อ กล่าวว่า ดีใจกับการประมงพื้นบ้านในการประกอบอาชีพครั้งนี้ได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส หลังจากโควิด-19 ได้รับผลกระทบทำให้ต้องเปลี่ยนวิถีจากการประกอบอาชีพทั่วไป เป็นการประกอบอาชีพจับแมงกะพรุน ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงมรสุมจากฝั่งตะวันตกใน 1 ปีจะเข้ามาในชายฝั่งครั้งหนึ่ง ปีนี้อาจจะเข้ามาเยอะ ทำให้แมงกะพรุนเข้ามาสร้างรายได้ให้กับชาวประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะคนชายฝั่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้พอสมควร "แมงกะพรุนที่จะมาได้นั้นเป็นแมงกะพรุนหัวโล้น เป็นแมงกะพรุนที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ในทางการวิจัย เป็นอาหารที่สามารถกระตุ้นเลือดลมและสามารถสร้างภูมิต้านทานได้" นายเกษมกล่าว
ผู้ใหญ่เขียวกล่าวว่า แมงกะพรุนหัวโล้นที่รับซื้อเราจะนำส่งให้ตลาดทั่วไปทั้งไทยและต่างประเทศ แต่ตอนนี้ติดช่วงโควิดเราต้องรอตลาดเปิดขายต่างประเทศก่อน สำหรับรายได้ก็จะขึ้นกับขนาดเรืออย่างน้อยอยู่ที่วันละกว่าพันบาท หรือหากเรือมีขนาดใหญ่ก็จะตกอยู่ประมาณ 4,000-5,000 บาท บางครั้งก็ถึงหลักหมื่นบาทบาทต่อลำ ซึ่งเป็นรายได้ของเรือประมงที่ได้ อย่างไรก็ตาม ราคาก็จะขึ้นอยู่กับตลาด หากกลางตลาดเปิดกว้าง ราคาก็จะสูง แต่ถ้าตลาดปิดช่วงนี้ราคาก็จะต่ำลง
"ช่วงนี้ราคารับซื้ออยู่ตัวละ 4-8 บาท ปีนี้และปีที่แล้วเราก็ประสบปัญหาโควิด-19 เหมือนกัน โดยปีที่แล้วเราจะแก้ปัญหาด้วยการทำตลาดที่ค่อยเป็นค่อยไป มีการพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการแมงกะพรุนในการซื้อขาย สามารถแลกเปลี่ยนกันก็อยู่กันได้ ส่วนใหญ่แล้วทางประเทศจีนจะมีความต้องการเยอะแมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่มีเลือดร้อน หากใครมีเลือดอุ่นก็สามารถสร้างภูมิต้านทานสูง คนจีนจะนำมาทำเป็นยา ส่วนคนไทยจะนำมาเป็นประกอบอาหาร เช่น ยำเย็นตาโฟหรือเป็นเมนูกับแกล้ม โดยตอนนี้เริ่มเป็นที่นิยม" ผู้ใหญ่เขียวกล่าว
ทั้งนี้ ขั้นตอนการทำแมงกะพรุนหลังจากจับมาแล้ว สิ่งแรกเราต้องเอามาแล่ก่อน และนำมาผสมกับน้ำซึ่งมีส่วนผสมเป็นโซดา สารส้ม เกลือ สามารถสุกได้ตามธรรมชาติของมัน และนำมาล้างขัดแยกผ่านอีก 3-4 ขั้นตอน รายได้ตอนนี้ก็ดีขึ้นเพราะเป็นช่วงมรสุมเข้ามา ถือเป็นโอกาสดีของชุมชน โดยเฉพาะชายฝั่งแต่ละชายฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ พังงา รวมถึงภูเก็ต อาจจะมีผลกระทบจากโควิด แต่มีรายได้จากการประมงเพิ่มขึ้น
นายทวี ศรีใหม่พัทลุง อายุ 54 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ปกติทำอาชีพประมงอยู่แล้ว สำหรับแมงกะพรุนนั้นเป็นรายได้เสริมที่ชาวประมงสามารถหาได้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้ราคาอาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะตลาดปิดเพราะโควิด แต่เราก็ต้องทำ หากจะหางานทำข้างนอกก็คงไม่ค่อยจะมี ยิ่งเป็นช่วงโควิดด้วย การลงทะเลถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ปกติหากทำการประมงรายได้ต่อเดือนหากเฉลี่ยออกมานั้นก็น้อย เพราะบางช่วงติดกับช่วงลมแรง ส่วนการทำแมงกะพรุนนั้นก็ไม่ได้ขึ้นทุกวัน ช่วงไหนที่ลมดี น้ำดี มันก็ขึ้นมาก หากลมและน้ำไม่ดีมันก็ไม่ขึ้นหรือขึ้นน้อย สำหรับรายได้ก็ตกอยู่ที่หลักพันไปถึงหลักหมื่นบาทต่อลำ แต่หากลำไหนต้องแบ่งกับลูกน้องด้วยก็ตกอยู่วันละ 500-600 บาทต่อคนหลังจากที่แบ่งกันแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดลำเรือ โดยออกวันละเที่ยว เพราะต้องเฉลี่ยให้กับเรือลำอื่นๆ ด้วย
"วันนี้เรามีเรือประมงอยู่ที่ 40 ลำในพื้นที่ รวมถึงหมู่บ้านใกล้เคียงที่ไม่มีงานทำ ทุกคนที่เคยวิ่งเรือทัวร์นักท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบเพราะช่วงโควิด เมื่อถึงฤดูแมงกะพรุนก็หันกลับมาทำแมงกะพรุน รายได้อาจจะไม่คงที่ แต่ก็พอกินพออยู่บ้าง" ชาวประมงพื้นบ้านรายนี้ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |