ยังไม่ลด! ไทยติดเชื้อเพิ่ม 2,419 ราย ทำยอดรวมทะลุ 8 หมื่น เสียชีวิต 19 คน ยันอาการหนักพันราย ยังเอาอยู่ แต่หากมากไปกว่านี้ระบบสาธารณสุขที่มีอยู่จะตึงมาก ระดมเชิงรุกพื้นที่ กทม. เตรียมเปิด รพ.บุษราคัมสัปดาห์นี้ วางแผนกระจายฉีดวัคซีน 115 แห่งทั่วกรุง ปลัด สธ.ย้ำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัว
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 8 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,419 ราย ติดเชื้อในประเทศ 2,409 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,890 ราย จากการคัดกรองเชิงรุก 519 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 81,274 ราย ผู้ป่วยหายเพิ่ม 2,247 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยหายป่วยสะสม 51,419 ราย อยู่ระหว่างรักษา 29,473 ราย อาการหนัก 1,138 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 380 ราย
ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 19 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 11 ราย อยู่ในกทม. 7 ราย, สมุทรปราการ ปทุมธานี จังหวัดละ 2 ราย, นครสวรรค์ สมุทรสาคร กาญจนบุรี ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา นครปฐม สุรินทร์ จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเส้นเลือดสูง โดยปัจจัยเสี่ยงใกล้ชิดสมาชิกในครอบครัวที่ติดเชื้อ ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 382 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 157,530,729 ราย เสียชีวิตสะสม 3,283,727 ราย
พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า สำหรับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดวันที่ 8 พ.ค. 5 อันดับแรกคือ กทม. จำนวน 1,112 ราย, นนทบุรี 217 ราย, สมุทรปราการ 114 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 100 ราย, ปทุมธานี 93 ราย และสาเหตุส่วนใหญ่ของการติดเชื้อคือการติดเชื้อจากตลาด ชุมชน ระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงการสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน และถ้าดูจากยอดรวมผู้ติดเชื้อวันนี้ กทม.และปริมณฑลมียอดสูงถึง 1,641 ราย
ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ทั้ง 71 จังหวัด มียอดเพียง 768 ราย ทำให้หลังจากนี้ต้องมีการคัดกรองเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อค้นหาตัวเลขที่แท้จริงมาวางแผนในการป้องกันการระบาด โดยมีนโยบายเร่งด่วนสำหรับ กทม.และปริมณฑลให้ลงพื้นที่สำรวจเชิงรุก โดยพื้นที่คลัสเตอร์สำคัญที่อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังใน กทม. ที่ต้องระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยคือ ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย , ชุมชนวัดญวนคลองลำปัก เขตดุสิต, ปากคลองตลาด เขตพระนคร, ศูนย์การค้าเขตพระนคร โดยวันที่ 8 พ.ค. กทม.จะลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกในหลายพื้นที่ อาทิ สนามธูปะเตมีย์ คลองเตย อ่อนนุช สำเพ็ง จึงขอให้ประชาชนและผู้นำชุมชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือ ให้มากที่สุด
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้พูดคุยถึงการบริหารจัดการเตียงว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการเปิดโรงพยาบาลบุษราคัม ที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี รองรับผู้ป่วยสีเขียวเข้มและสีเหลือง โดยสถานที่ดังกล่าวจะต่างจากโรงพยาบาลสนาม สามารถให้การรักษาที่ยากลำบากยิ่งกว่าโรงพยาบาลสนาม จัดบุคลากรทางการแพทย์มาให้การดูแล เป็นต้น และจากข้อมูลการบริหารจัดการเตียงล่าสุด การรอเตียงในขณะนี้คลี่คลายไปมาก จะไม่เกิน 1-2 วันตามแผนที่ได้วางไว้ สำหรับผู้ป่วยสีแดงอัตราการรอเตียงคือศูนย์
และในการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. มีความเห็นที่ได้ข้อสรุปว่า ให้ทุกหน่วยงานทั้ง กทม.และปริมณฑลบูรณาการเรื่องข้อมูล เร่งรัดทำการคัดกรองเชิงรุกให้มากขึ้น เร่งระดมการตรวจ จากแผนเดิมที่จะค้นหาเชิงรุกใน กทม. 26,850 คนใน 1 สัปดาห์ ให้ระดมสรรพกำลังดึงหน่วยงานทุกภาคส่วนดำเนินการตรวจให้เสร็จภายใน 2 วัน และมีการพูดถึงการเตรียมเตียงใน กทม.และปริมณฑล ในส่วนของการติดเชื้อกว่า 1,000 ราย เตียงจะต้องเตรียมให้ได้ไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละสัปดาห์จะมีการวางแผนเตียงล่วงหน้า
ฉีดวัคซีนใน กทม.115 แห่ง
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม.ยังได้เสนอที่ประชุมในสัดส่วนของ กทม. ขอเสนอให้มีการฉีดวัคซีนผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ บุคลากรครู พนักงานเก็บขยะ กทม. การท่าอากาศยานดอนเมือง การท่าเรือฯ พนักงานการไฟฟ้าฯ การประปาฯ อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการฉีดวัคซีนหลังได้รับวัคซีนเพิ่มเติมในพื้นที่กทม.นั้น จากเดิมที่จะฉีดเฉพาะในโรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้รับวัคซีน แต่หลังจากฉีดไปแล้วในประเทศกว่าล้านโดส ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น โดย กทม.จะกระจายการฉีดไปทั้งสิ้น 115 แห่ง และเอกชน 14 แห่ง โดยจะมีโรงพยาบาลพี่เลี้ยงคอยดูแลสถานที่ฉีดแต่ละแห่งด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ผู้ป่วยยืนยันสะสมและผู้ป่วยหนักมีจำนวนเพิ่มขึ้น มีแผนรองรับอย่างไร พญ.อภิสมัยตอบว่า ในจำนวนที่อาการหนักประมาณ 1,000 ราย ระบบสาธารณสุข เตียง และบุคลากรยังสามารถรองรับได้ แต่หากมากไปกว่านี้ระบบสาธารณสุขที่มีอยู่จะตึงมากขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยหนักต้องรอเตียง ดังนั้นขอให้ติดตามรายงานในพื้นที่ พยายามลดยอดผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้ได้ เมื่อไปพื้นที่เสี่ยงขอให้กักตัว ขอให้ทุกคนรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อลดผู้ติดเชื้อใหม่ให้ได้ ทั้งนี้ ผอ.ศบค.ชุดเล็กขอความร่วมมือทุกส่วนราชการและเอกชนทำงานที่บ้าน เพื่อลดการสัมผัสและการเดินทางสาธารณะ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่าจากรายงานสถานการณ์ วันที่ 8 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,419 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,247 ราย จากต่างประเทศ 10 ราย มีผู้รักษาหายเพิ่ม 2,435 ราย และมีผู้เสียชีวิต 19 ราย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ กว่าร้อยละ 50 มาจาก กทม.และปริมณฑล ปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ กทม.ที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น ในเขตคลองเตย ราชเทวี ปทุมวัน บางกะปิ จตุจักร ดอนเมือง ลาดพร้าว ดุสิต ยานนาวา บางทองหลาง ส่วนใหญ่จากการอยู่ในชุมชนแออัดขนาดใหญ่ ส่วนปริมณฑลส่วนใหญ่พบในโรงงาน ซึ่งมีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้หากมีการติดเชื้อจะแพร่สู่คนในครอบครัวได้ง่าย จึงสั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพ ที่ 4, 5, 6 ซึ่งเป็นจังหวัดในเขตภาคกลางและโดยรอบกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังจุดเสี่ยง เข้มงวดมาตรการป้องกันควบคุมโรคในโรงงานต่างๆ นำผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษา และจำกัดวงการระบาดให้ได้โดยเร็ว
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้เข้าร่วมการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ?มีประชาชนประสานมายังสายด่วนต่างๆจำนวน 252 ราย ได้จัดการนำเข้าสู่ระบบแล้ว 133 ราย รอดำเนิน 97 ราย โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มีจิตอาสารับ-ส่งผู้ติดเชื้อใน 6 โซน กทม. จำนวน 85 ราย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาตามระดับอาการที่เหมาะสม นอกจากนี้ ขอทำความเข้าใจในประเด็นผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนัก ที่กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานรายวันว่ากลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ป่วยที่มีอาการโคม่าต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่เป็นกลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบ ปอดบวม ซึ่งต้องให้การรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิด
ยอดสะสมกทม.ใกล้ 2 หมื่น
“ขอให้ประชาชนยังเข้มมาตรการป้องกันตนเอง ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกนอกบ้าน หรือหากเป็นผู้ที่ต้องทำงานนอกบ้าน เมื่อกลับบ้านให้รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย หากเป็นไปได้ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และไม่นำตัวเองไปอยู่ในสถานที่เสี่ยง รวมถึงเคร่งครัดการปฏิบัติตามมาตรการสังคม ได้แก่ การลดกิจกรรมชุมนุมสังสรรค์ ลดการเดินทางข้ามจังหวัดที่ไม่จำเป็น เป็นต้น เพื่อป้องกันการแพร่และรับเชื้อโควิด-19” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสรุป 10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายใหม่สูงสุด โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.กรุงเทพมหานคร ติดเชื้อรายใหม่ 1,112 ราย ยอดสะสม 18,029 ราย 2.นนทบุรี ติดเชื้อรายใหม่ 217 ราย ยอดสะสม 3,249 ราย 3.สมุทรปราการ ติดเชื้อรายใหม่ 114 ราย ยอดสะสม 3,016 ราย 4.ประจวบคีรีขันธ์ ติดเชื้อรายใหม่ 100 ราย ยอดสะสม 1,267 ราย 5.ปทุมธานี ติดเชื้อรายใหม่ 93 ราย ยอดสะสม 1,192 ราย
6.สมุทรสาคร ติดเชื้อรายใหม่ 77 ราย ยอดสะสม 1,376 ราย 7.ชลบุรี ติดเชื้อรายใหม่ 72 ราย ยอดสะสม 3,200 ราย 8.ปราจีนบุรี ติดเชื้อรายใหม่ 63 ราย ยอดสะสม 284 ราย 9.ระยอง ติดเชื้อรายใหม่ 50 ราย ยอดสะสม 379 ราย 10.สุราษฎร์ธานี ติดเชื้อรายใหม่ 35 ราย ยอดสะสม 1,070 ราย
ศูนย์ข้อมูล COVID-19 นนทบุรี รายงานสรุปย่อผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 จ.นนทบุรี วันที่ 8 พฤษภาคม 2564 จำนวน 59 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ติดเชื้อภายในครอบครัว ตลาดสด และสถานที่ทำงาน เพศหญิง 29 ราย เพศชาย 30 ราย มีอาการ 36 ราย (61%) ไม่มีอาการ 23 ราย (39%) ความสัมพันธ์ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน 59 ราย
ขณะที่ นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อจำนวน 114 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 82 ราย อำเภอเมืองสมุทรปราการ จำนวน 40 ราย, อำเภอพระประแดงจำนวน 11 ราย, อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จำนวน 2 ราย, อำเภอบางพลี จำนวน 23 ราย, อำเภอบางบ่อจำนวน 2 ราย, อำเภอบางเสาธง จำนวน 4 ราย, โรงพยาบาลเอกชนรับมารักษาต่อในสมุทรปราการจำนวน 32 ราย เสียชีวิต 2 ราย 1.ชายชาวจีน อายุุุ 46 ปี มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ประวัติเสียงสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 2.หญิงไทยอายุุุ 81 ปี มีโรคประจำตัวเป็นผู้ป่วยติดเตียง ประวัติเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน
คนไทยเปิดประตูให้โควิด
ขณะป่วยอยู่ที่ กทม.ทั้ง 2 ราย ผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนจนถึงปัจจุบัน จำนวน 3,016 ราย ในพื้นที่ 2,082 ราย นอกพื้นที่ 934 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ จำนวน 486 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 391 ราย รักษาใน Hospitel ราชภัฏธนบุรีสมุทรปราการ จำนวน 606 ราย การคัดกรองเฝ้าระวังในคลินิก ARI และในชุมชน จำนวน 104,374 ราย พบผู้ติดเชื้อจำนวน 2,082 ราย
ศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 ระยอง โดยนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของจังหวัดระยอง ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 19 ราย ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.-8 พ.ค. จำนวน 643 ราย เสียชีวิต 3 ราย รักษาหายแล้ว 391 ราย ค้นหาเชิงรุก 22,242 ราย
นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ลงนามในคำสั่งจังหวัดสมุทรสาคร ที่ 1151/2564 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 55) หลังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สมุทรสาครรายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในสถานประกอบการ พบว่าบริษัท รุ่งเจริญผล จำกัด มีพนักงาน ติดเชื้อโควิดจำนวน 39 ราย จากพนักงานทั้งหมด 69 ราย คิดเป็นอัตราร้อยละ 56.52 ในขณะที่ผู้ไม่พบเชื้อยังคงเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่มีโอกาสติดเชื้อได้ ประกอบกับสถานประกอบการแห่งนี้เป็นสถานที่กระจายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไปยังสถานประกอบการแห่งอื่นๆ ซึ่งหากยังคงปล่อยให้ดำเนินกิจการต่อไป อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไปยังสถานที่อื่นๆ ในวงกว้าง จนยากต่อการควบคุมโรค
นายวีระศักดิ์ยังโพสต์เฟซบุ๊กว่า ช่วงนี้ได้รับข้อมูลทั้งจากประชาชนและภาคเอกชนว่ามีแรงงานต่างชาติหลบหนีเข้าเมืองจำนวนมาก โดยจากการเข้าจับกุมแรงงานต่างชาติในจังหวัดหนึ่ง ระบุว่า สมุทรสาครและกรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญของกลุ่มนี้ ซึ่งนั่นก็อาจทำให้เราเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอีกครั้ง
"สิ่งหนึ่งที่ผมไม่สบายใจเลยท่ามกลางวิกฤติเช่นนี้ คนไทยด้วยกันเองกลับเปิดประตูบ้าน ลักลอบทำเรื่องผิดกฎหมายเพราะหวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นตัวเงิน โดยไม่คิดเลยว่ามันจะกระทบกลายเป็นปัญหาใหญ่ ทำลายสวัสดิภาพและสร้างปัญหาปากท้องของคนบ้านเดียวกัน ทั้งที่รู้ว่าทุกคนกำลังย่ำแย่เต็มที" ผู้ว่าฯสมุทรสาครระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |