“บิ๊กตู่” สั่ง คสช.จับตาพรรคอนาคตใหม่จ้องแก้ รธน.-นิรโทษกรรม สอนมวยทำอะไรให้ใช้สติปัญญาใคร่ครวญ อย่าเอากฎหมายเป็นอุปสรรค "วิษณุ" เตือน "ธนาธร" ระวังคำพูดฉีกทิ้ง รธน.รุนแรงไป "มัลลิกา" ดักคอสืบทอดนิรโทษฯ เหมาเข่งนำพรรคสู่ความขัดแย้ง กกต.แจงเสนอนโยบายอุดมการณ์พรรคได้ ขึ้นอยู่กับ ปชช.จะสนับสนุนหรือไม่ สะพัด! "ยิ่งลักษณ์" ได้วีซ่าพำนักในอังกฤษ 10 ปี อยู่ได้ครั้งละ 6 เดือน
ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 28 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. กรณีแกนนำพรรคอนาคตใหม่ประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 และพร้อมนิรโทษกรรมคดีการเมืองในยุค คสช.ว่า ตนมองทุกพรรค ซึ่งเป็นเรื่องของคสช.ที่จะติดตามอีกทีว่าการดำเนินการใดๆ ก็ตาม เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ มีข้อบังคับอะไรต่างๆ อยู่หรือไม่
"ฉะนั้นจะทำอะไรขอให้ใช้สติปัญญาใคร่ครวญ อย่าเอากฎหมายว่าเป็นอุปสรรค เพราะกฎหมายมีไว้ให้เกิดความเป็นธรรม และทุกพรรคก็ไม่ได้ออกมาพูดจาให้ใครเสียหาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการประชุมพรรค การจัดหาสมาชิกพรรค อะไรก็ว่ากันไป แต่การที่จะมาติติงให้ร้ายอะไรต่างๆ มันสมควรหรือไม่ ก็ต้องไปดูในประเด็นข้อกฎหมาย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวถึงความคืบหน้าการเชิญพรรคการเมืองมาหารือเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งในเดือน มิ.ย.นี้ว่า วันนี้ต้องรอ เพราะกฎหมายลูกยังอยู่ในกระบวนการ พ.ร.ป.ส.ส.กำลังรอศาลรัฐธรรมนูญแจ้งผลการพิจารณา และต้องมีขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อกฎหมายออกมาเมื่อไหร่ ก็จะพิจารณากำหนดการที่จะพูดคุยหารือกับบรรดาพรรคการเมือง ซึ่งต้องรอลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ ก่อน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขอให้ใจเย็นๆ ยังเป็นไปตามกำหนดอยู่
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้หลายคนถามเรื่องการที่จะพบนักการเมืองในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ตนเห็นว่าถ้าพบเพื่อจะกำหนดวันเลือกตั้งก็ไม่ต้องพบหรอก ก็กำหนดได้เลย แต่วันนี้จะต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าเราจะเดินหน้ากันอย่างไร จะเคลื่อนไหวกันได้อย่างไร ไม่ได้หมายความว่าจะให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ หลายคนมองว่าต้องการให้พรรคใหม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ตนเห็นว่าพรรคเก่าได้เปรียบอยู่แล้ว เพราะเป็นพรรคมานานแล้ว พรรคใหม่จะเสียเปรียบหรือไม่ ตนไม่รู้ ไม่ได้ไปสนใจตรงนั้น ถ้าเราเริ่มต้นอะไรต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานชัดเจนขึ้นมันก็น่าจะเข้าใจ ส่วนเรื่องสมาชิกพรรคอะไรต่างๆ ก็ไปว่ากันมา สมัครวันนี้ไม่ได้ ยังได้สมาชิกน้อยก็ไปหาสมัครวันหน้า ให้เวลาสมัครตั้งนาน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มาสร้างคะแนนนิยมกันมากกว่า
"ผมถึงบอกว่าใครจะว่าผมขึ้นผมลง ผมไม่ได้ขึ้นผมไม่ได้ลง ผมทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุด ตราบใดที่ผมยังมีหน้าที่อยู่ตรงนี้ ผมก็ทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ฉีกทิ้ง รธน.รุนแรงไป
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประกาศหากมีอำนาจจะนิรโทษกรรมคนที่โดนคดีทางการเมืองในยุค คสช. ว่า ไม่น่าจะผิดอะไร เพราะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ ไม่ถึงขั้นประกาศนโยบายพรรค เพราะนโยบายพรรคต้องผ่านที่ประชุมพรรคเสียก่อน ส่วนแนวคิดดังกล่าวจะทำได้จริงหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ยังไม่รู้รายละเอียดว่าจะเสนออะไร ส่วนที่ประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เขายังไม่ได้บอกว่าจะแก้อะไร และคิดว่าคงไม่เป็นปัญหาอะไร ถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่จะพูดอย่างนั้น คนอื่นพูดเยอะแยะ ส่วนจะแก้ได้หรือไม่ได้ถือเป็นอีกเรื่อง
“คำพูดที่ว่า ฉีกทิ้ง ขีดเส้นใต้ไว้หน่อย เพราะรุนแรง และจะทำให้เป็นปัญหาได้ ในยามนี้อย่าไปพูดอะไรให้มันเป็นปัญหา พยายามพูดให้อยู่ในร่องในรอยดีที่สุด ใครพูดอะไรทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง” นายวิษณุ กล่าวกรณีพูดถึงขั้นจะฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามถึงการนัดหมายพรรคการเมืองพูดคุยในเดือน มิ.ย. นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ทราบ ส่วนที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นเงื่อนไขจะเข้าร่วมต่อเมื่อมีการถ่ายทอดสดนั้น ตนไม่มีความเห็น และไม่ทราบว่ามีการเชิญพรรคอนาคตใหม่ด้วยหรือไม่ เพราะแม่น้ำทั้ง 5 สายเป็นผู้กำหนด ก่อนหน้านี้ คสช.เคยพูดว่าหากจำเป็นพรรคการเมืองอยากจะพบก่อนที่กฎหมายลูกจะประกาศใช้ทั้งหมดก็ยินดี แต่เมื่อทำท่าไม่ยินดียินร้าย ไม่อยากพบ เงื่อนไขมาก ต้องถ่ายทอดสดบ้าง ต้องมาทุกพรรคบ้าง ต้องกำหนดวันอะไรได้บ้าง คสช.ก็ต้องคิดใหม่ว่าจะทำ ทำไม
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ชูนโยบายนิรโทษกรรมให้กลุ่มคนที่ต้องคดีการเมืองในยุค คสช.ว่า ทำได้หรือไม่ เป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะเป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ มาถามตนไม่ได้หรอกว่าผิดหรือถูก ตอบไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่กับนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มีเรื่องอะไรต้องกังวล เมื่อถามว่าการประกาศนโยบายพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้งจะมีความผิดหรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า ไปถามทาง กกต.ดู กกต.ต้องพิจารณา เมื่อถามว่าดูแววแล้วนายธนาธรสามารถที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตอบไม่ได้หรอก เป็นเรื่องของประชาชน
ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ถือว่าเป็นช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง แต่การที่พรรคการเมืองจะหาเสียงหรือนำเสนอนโยบายต่างๆ เป็นเรื่องทางการเมืองที่สามารถทำได้อยู่แล้ว เข้าใจว่าเป็นช่องทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ได้เขียนช่องทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้อยู่แล้ว และหากจะนำเสนอเป็นแนวนโยบายหรืออุดมการณ์ของพรรคการเมือง ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ถ้าเป็นการเสนอแก้โดยใช้ระบบของกฎหมาย ก็คงอยู่ในกรอบ ซึ่งทำได้อยู่แล้ว และสามารถนำเสนอต่อประชาชนได้ ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะสนับสนุนหรือไม่ ซึ่งต้องรอดูในการเลือกตั้ง
สืบทอดนิรโทษฯ เหมาเข่ง
ขณะที่นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า ที่สุดก็กลับเข้าสู่ครรลองเดิมคือชูนโยบายเข้ามาลบล้างความผิดให้กับพรรคพวกตนเอง กลายเป็นการสืบทอดเจตนานิรโทษกรรมเหมาเข่ง ดั่งทายาทอสูร เมื่อติดตามข่าวดู นึกว่าจะมีอะไรตื่นเต้น แต่กลับก้าวไม่พ้นความขัดแย้ง ชูการนิรโทษกรรมล้างคดีให้กับพรรคพวกก็แสดงว่าจะนำพาพรรคการเมืองไปสู่ความขัดแย้งและแบ่งแยกประชาชน เพราะรู้อยู่แล้วว่าการออกกฎหมายล้างความผิดมีวิกฤติเกิดขึ้นก่อนหน้านี้
นางมัลลิการะบุว่า การชูเรื่องฉีกรัฐธรรมนูญ ขณะที่ตนวางตัวเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ แสดงว่าไม่ได้อ่านเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เห็นความสำคัญของคนรุ่นใหม่ด้วยการเล็งเห็นสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้น ลองถามผู้ปกครองและเยาวชนไทยที่ด้อยโอกาส 4.3 ล้านคน ซึ่งเป็นเป้าหมายและมีความหวังกับอนาคตก่อนไหม คิดจะเป็นนักประชาธิปไตยตามที่กล่าวอ้าง ทำไมประกาศฉีกรัฐธรรมนูญโดยที่ไม่คิดจะถามประชาชนเสียงส่วนใหญ่ที่ผ่านประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาว่าไหม
ทางด้านนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษากลุ่ม นปช. กล่าวถึงคนที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับประกาศคำสั่ง คสช.ว่า ควรจะยกเลิกได้หมดเลย ยกเลิกประกาศคำสั่งเตรียมเส้นทางเข้าสู่การเลือกตั้งได้แล้ว จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย รวมทั้ง คสช.เอง เป็นเรื่องไร้สาระและเหลวไหลในสายตาคนทั้งโลก น่าอายที่ดำเนินคดีกับคนอยากเลือกตั้ง คนอยากเลือกตั้งเป็นอาชญากรได้อย่างไร การดำเนินคดีต่างๆ ซึ่งเขาใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศแล้วไปดำเนินคดีเขา เป็นเรื่องที่น่าขายหน้าเป็นอย่างยิ่ง
“เราเห็นด้วยว่าพรรคการเมืองทั้งหลายขณะนี้ควรจะออกมาพูดได้เลยว่าเมื่อคุณได้รับเลือกตั้ง คุณจะเห็นคดีเหล่านี้ที่จะถูกดำเนินอย่างไร คุณจะออกมาเป็นนโยบายเลยว่าคุณยกเลิก นิรโทษกรรมพวกคดีที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพทั้งหมด ถ้า คสช.ฉลาด คสช.ก็ควรจะยกเลิกเองได้แล้ว เพราะยังไงเสียประกาศคำสั่งเหล่านี้มันใช้ไม่ได้แล้วในสายตาชาวโลก” นางธิดากล่าว
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ผู้ต้องหาคดีชุมนุมทางการเมือง พร้อมด้วยนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ในฐานะทนายความกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เดินทางมายื่นอุทธรณ์คำสั่งฝากขังของศาล กรณีที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังและศาลอนุญาตให้ฝากขังในคดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุมต่อต้าน คสช. เนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปี คสช.
โดยนายนรินท์พงศ์กล่าวว่า มายื่นอุทธรณ์คำสั่งฝากขังที่เราคิดว่าขัดต่อกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน เชื่อว่ากระบวนการฝากขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้ศาลอุทธรณ์เห็นรายละเอียดการดำเนินการกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นเรื่องขัดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายธรรมดาหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ปูได้วีซ่าอังกฤษ 10 ปี
ด้าน น.ส.ณัฏฐากล่าวว่า ในคำสั่งฝากขังมีข้อความบางช่วงตอนที่บอกว่าผู้ต้องหาน่าจะกระทำผิดจริง มีปัญหาและตั้งคำถามได้ และเหตุผลของพนักงานสอบสวนที่ขอคัดค้านการฝากขัง การสอบพยานและรอผลพิมพ์ลายนิ้วมือ หากเรามีอิสรภาพก็ยังทำได้อยู่ ไม่จำเป็นต้องเอาเราไปขัง หลักในการฝากขังจำกัดเสรีภาพตามกฎหมายต้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น คืออิสรภาพเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน เช่น การหลบหนี ซึ่งคดีนี้เรามอบตัวเองเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ทั้งที่ยังไม่มีหมายจับ การยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ซึ่งเราไม่ใช่อาชญากร คดีนี้เป็นคดีการเมือง จึงผิดตั้งแต่ขั้นพนักงานสอบสวนแล้วที่พยายามฝากขังเป็นการกลั่นแกล้ง
แหล่งข่าวใกล้ชิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ขณะนี้อดีตนายกรัฐมนตรีที่ลี้ภัยในต่างแดนเพราะคดีจำนำข้าว กำลังอยู่ระหว่างการพำนักในประเทศอังกฤษ พร้อมนายทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย โดยการเยือนล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ใช้หนังสือเดินทางของประเทศหนึ่งในทวีปยุโรป พร้อมวีซ่าเข้าพำนักในอังกฤษเป็นระยะเวลา 10 ปี
"วีซ่านี้ทำให้เข้า-ออกอังกฤษได้ตลอด อยู่ได้ครั้งละไม่เกิน 6 เดือน" แหล่งข่าวกล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกจากประเทศไทยก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดอ่านคำพิพากษาคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ครั้งแรกเมื่อ 25 ส.ค.2560 ท่ามกลางกระแสข่าวขอลี้ภัยที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งแหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยกับบีบีซีไทยเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้วว่า ประเทศอังกฤษถือเป็น "ชัยภูมิ" ที่เหมาะสมที่สุดที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไปปักหลักใช้ชีวิต
น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ทางกระทรวงได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุด ในเรื่องการติดตามตัวอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์มารับโทษ ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการยกเลิกพาสปอร์ตของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปหมดแล้ว
"ความคืบหน้านั้นก็ไม่สามารถจะเปิดเผยได้ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |