8 พ.ค.64 - นายไชยา พรหมา ส.ส. หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การจัดงบประมาณของปี 2565 แสดงถึงความทรุดโทรมของประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีการลดงบประมาณลงถึง 1.85 แสนล้าน จากปี 2564 ทั้งที่ประเทศต้องการเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมาก อีกทั้งยังมีการกู้เงินเกินการลงทุนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขนาด ทีดีอาร์ไอ ยังต้องตำหนิ เพราะจะเป็นการกู้มาใช้จ่ายไม่ได้นำไปลงทุนให้เกิดดอกผล อนาคตจะหารายได้ที่ไหนมาคืน ทั้งนี้สาเหตุมาจากรัฐบาลล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจมาตลอด ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้ไม่ตรงเป้าเลยต้องมาตัดงบประมาณ ในขณะที่ประเทศทั่วโลกต่างเพิ่มเงินอัดฉีดเพื่อฟื้นเศรษฐกิจกันทั้งนั้น ประเทศจะยิ่งเสียโอกาสในการพัฒนา
ทั้งนี้ อยากขอเตือนรัฐบาลถึงการจัดทำงบประมาณปี 2565 ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรช่วงเปิดสมัยประชุมที่จะถึงนี้ว่า จะต้องตอบโจทย์ปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาของมหันตภัยโควิด ซึ่งรัฐบาลมีเวลาเตรียมตัวสำหรับการจัดทำงบประมาณปี 2565 ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องจากงบประมาณในปีที่ผ่านมา และเป็นสถานการณ์ที่ประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศตลอดจนกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนทุกระดับ
ดังนั้น การจัดทำงบประมาณของประเทศ รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหา โดยเฉพาะรายจ่ายที่ไม่มีความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น งบประมาณด้านความมั่นคง ด้านการทหาร วันนี้ผู้นำประเทศต้องเข้าใจว่า ดุลอำนาจของโลกเปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เดิมศักยภาพของดุลอำนาจอยู่ที่การสะสมอาวุธ การแสดงแสนยานุภาพของกองทัพ แต่วันนี้ ดุลอำนาจใหม่ของโลกคือ ดุลอำนาจทางด้านเศรษฐกิจและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีล้ำยุค ประเทศไหนแก้โควิดได้เร็ว นั่นหมายถึงจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศนั้นจะกลับมาโดยเร็ว
นายไชยา กล่าวต่อว่า ดังนั้น ตนอยากเห็นการจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 นำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ และการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจในกลับมาโดยเร็ว ตลอดจนการจัดหาวัคซีนให้ทันท่วงทีและหลากหลายทางเลือกสำหรับประชาชน เพื่อกระจายวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็ว ซึ่งหลายประเทศสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้แล้ว แต่พลเอกประยุทธ์ยังไม่เข้าใจ ดังนั้น ความรวดเร็วและทั่วถึงอย่างเพียงพอของวัคซีน ตลอดจนอุปกรณ์ทางด้านการแพทย์จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนกว่าเรื่องใด ๆ เพราะถ้าวัคซีนมาเร็ว นั่นหมายถึงไทยจะสามารถเปิดประเทศได้ และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเร็วเช่นกัน อีกทั้งรัฐบาลอาจจะต้องเตรียมงบประมาณในการรักษาพยาบาลประชาชนจำนวนมากที่จะติดเชื้อไวรัสและมีอาการรุนแรงซึ่งค่าใช้จ่ายจะสูงมาก ยิ่งควบคุมการระบาดได้ช้า วัคซีนมาช้า ยิ่งจะเสียค่าใช้จ่ายสูงรักษาพยาบาลเพิ่มขึ่นอีกสูงมาก
ตนจึงมีความเห็นว่า งบประมาณรายจ่ายในส่วนที่ยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้เราสามารถชะลอออกไปก่อนได้ เช่น งบประมาณทางการความมั่นคง ด้านการทหาร เมื่อประเทศมีความพร้อมด้านเศรษฐกิจและด้านงบประมาณเพียงพอเราก็ยังสามารถจัดหาได้เมื่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศฟื้นกลับมาแล้วก็ยังไม่สายเกินไป ทั้งนี้เพื่อเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในสถานการณ์ขณะนี้ ยิ่งเราแก้ปัญหาของโควิดล่าช้าเท่าไหร่ นั่นหมายถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจเรายิ่งสูงขึ้น กว่าจะฟื้นฟูได้ต้องระดมงบประมาณมหาศาล
ดังนั้น ตนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องตอบโจทย์ปัญหาของประเทศอย่างตรงจุดที่สุด และต้องรีบกระจายเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว ในส่วนของงบประมาณเดิมที่คั่งค้างต้องเร่งเบิกจ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว
การบริหารประเทศในภาวะวิกฤต พลเอกประยุทธ์จะต้องสามารถพัฒนาและคิดให้ได้ครบทุกกรอบ และต้องสามารถเรียงลำดับความสำคัญได้ อย่าทำได้แค่ทีละเรื่องเหมือนที่ผ่านมา เพราะจะแก้ปัญหาไม่ได้ และจะไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ หากรู้ตัวว่าไม่ไหวหรือรู้ตัวว่าสถานการณ์แย่ลงเรื่อยๆเกินความสามารถตนเอง ขอให้อย่าฝืน เพราะประเทศจะยิ่งเสียหาย ประชาชนจะยิ่งลำบาก
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |