ส่องแผนเอกชนร่วมรัฐ ฟอร์มทีมลุยฉีดวัคซีนสู้โควิด


เพิ่มเพื่อน    

 

โควิดระลอก 3 ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยอยู่นี้ ถือว่ามีความรุนแรงและกระจายตัวเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วไม่ยิ่งกว่าการระบาดระยะแรก ซึ่งปัจจุบันภาครัฐหรือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอง จำเป็นที่จะต้องออกมาตรการที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่สามารถที่จะล็อคดาวน์หรือปิดกั้นกิจกรรมทางสังคมได้เหมือนครั้งก่อน ๆ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้นรุนแรงและยังไม่สามารถเยียวยาได้ทั้งหมดด้วย

ซึ่งกับเหตุการณ์ครั้งนี้เองทุกกลุ่ม จำเป็นต้องมีการวางแผนและดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยผ่านการวิเคราะห์และไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี แต่ใช่ว่าวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นั้นจะหาทางออกไม่ได้ เพราะปัจจุบันที่ความหวังของคนทั้งโลกก็คือความสำเร็จของวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด ที่ล่าสุดได้ถูกนำออกมาใช้อย่างเป็นทางการแล้ว และกำลังกระจายให้กับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่เข้ามาช่วงวิกฤติและเพียงพอที่จะเยียวยาพิษร้ายที่เกิดขึ้นได้บ้างในอนาคตอันใกล้นี้

โดยสิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือระบบการจัดการที่ดี โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ ช่วยบรรเทาความรุนแรงของการแพร่ระบาด และการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าในการฟื้นฟูประเทศได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้การทำงานที่เกิดจากความร่วมมือกันในสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด... 

 

ข้อเสนอแนะของเอกชนถึงมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด 

ก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) โดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.ได้ออกมาเปิดเผยว่าการฉีควัคซีนให้รวดเร็วและครอบคลุมจะช่วยป้องกันและลดจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศได้ แต่การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนยังคงประสบปัญหาคอขวดด้วยกัน 4 ประการ ได้แก่ 1. จำนวนวัคซีนที่ไม่พอเพียงต่อจำนวนประชากรในประเทศ 2. การฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างล่าช้าเนื่องจากบุคคลากรที่สามารถฉีดได้ไม่พอเพียง (บุคคลากร และสถานที่) ปัจจุบันมีเพียงแพทย์และพยาบาลเท่านั้นที่สามารถฉีดวัคซีนได้  3. ปัญหาเรื่องการกระจายวัคซีน และ4. การสร้างความเชื่อมั่นหลังการฉีดวัคซีน 

และจากข้อสรุปของการประชุมครั้งนั้น ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อภาครัฐ แบ่งเป็น 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.เสนอให้ภาครัฐเปิดกว้างให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนได้ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ 2.ให้ภาครัฐเร่งผลิตบุคคลากรที่สามารถดูแลการฉีดวัคซีนได้เฉพาะกิจ และเพิ่มสถานที่ในการบริการการฉีดวัคซีน โดยส.อ.ท.จะเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีพื้นที่สำหรับจัดเป็นจุดฉีดวัคซีนเพิ่มเติม  

3.เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาแผนการกระจายวัคซีนเพื่อช่วยภาครัฐในการวางแผนการกระจายวัคซีนให้อย่างรวมเร็วและมีประสิทธิภาพ และ 4.เสนอให้จัดทำแพลตฟอร์มวัคซีนพาสปอร์ตเพื่อใช้สำหรับการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประเทศ 

ขณะเดียวกันในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ก็ได้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล โดยได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะแก้ไขปัญหาการกระจายและฉีดวัคซีน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในเรื่องโลจิสติกส์ การขนส่งและสถานที่ในการฉีด เช่น ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร นิคมอุตสาหกรรม ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น   

2.คณะสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ โดยประสานข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน 3.คณะสนับสนุนระบบอำนวยความสะดวกระบบงานต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการฉีด จนถึงการออกใบรับรอง และการจัดทำระบบ Vaccine Passport เพื่อใช้แสดงในการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ 4.คณะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ที่ผ่านมาได้รวบรวมความต้องการภาคเอกชนในการซื้อวัคซีนเพื่อเร่งการฉีดให้เร็วขึ้น โดยมีผู้ซื้อแสดงความจำนงมาแล้วกว่า 5 ล้านโดส และขอให้ อย. ผ่อนคลายระเบียบเพื่อให้มีการซื้อวัคซีนได้มากขึ้น 

 

ตั้งทีมช่วยรัฐบาลจัดการวัคซีน 

จากข้อเสนอต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ล่าสุดรัฐบาลได้ยินดีให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมทำงานเป็นทีมประเทศไทยด้วยกัน และสั่งการตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 คณะ คือ 1. ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีนระยะแรก โดยเตรียมพื้นที่นำร่องเสนอกรุงเทพมหานคร 66 แห่ง ผ่านการคัดเลือก 14 แห่ง แบ่งเป็น 5 โซน คือ  

กรุงเทพฯ เหนือ 2 จุด กรุงเทพฯ ใต้ 4 จุด กรุงเทพฯ ตะวันออก 3 จุด กรุงธนเหนือ 2 จุด และกรุงธนใต้ 3 จุด ซึ่งมีทั้งศูนย์การค้า สำนักงาน และสถานีบริการน้ำมัน รองรับประชาชนได้ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วให้บริการได้วันละ 20,500 คน ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมการให้บริการของกรุงเทพมหานคร 

2.ทีมการสื่อสาร ซึ่งจะสนับสนุนการสื่อสารของภาครัฐเพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนฉีดวัคซีน ซึ่งเน้นความสำคัญการฉีดวัคซีน และอัพเดทข้อมูลที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลภาครัฐ โดยตั้งทีมคณะทำงาน 20 บริษัท ระดมทรัพยากรและช่องทางสื่อสาร เช่น ไลน์ , กูเกิ้ล , เฟซบุ๊ค , วีจีไอ และซีพี เพื่อสื่อสารทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 

3.ทีมเทคโนโลยีและระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียนและลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ ในศูนย์ปฏิบัติการของภาคเอกชน โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนหารือโซลูชั่นที่ควรจะเป็น เพื่อลดขั้นตอนระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพหลังจากการสำรวจพื้นที่ศึกษา “หมอพร้อม” เบื้องต้น และทำความเข้าใจขั้นตอนการฉีดวัคซีนได้เสนอแนวทางการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ 

 และ4.ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยสำรวจความต้องการภาคเอกชนผ่านทางการทำแบบสอบถาม โดยให้บริษัทเอกชนแสดงความประสงค์ในการได้วัคซีน ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง 

แผนงานต่อไป...ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ทางหอการค้าไทยมีแนวทางที่จะสนับสนุนทำงานร่วมกับรัฐบาล ภายใต้นโยบาย Connect the dots ที่จะไปหาแนวทางในการเชื่อมโยงกับจุดต่าง ๆ เพื่อมาทำงานร่วมกัน ทั้งในส่วนของหอการค้าไทย ภาคเอกชนและส.อ.ท. ตลอดจนสมาคมธนาคารไทย โดยแนวทางของหอการค้าฯ มีแนวทางหลัก คือการเร่งรัดในการหาวัคซีนให้มีจำนวนมากที่สุด และสามารถที่จะกระจายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนคนไทยได้อย่างทั่วถึงมากที่สุด โดยนอกเหนือจากนี้คือการสนับสนุนเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย 

โดยมีแผนจะใช้ดิจิทัล แพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อและแหล่งเงินทุน โดยภาคเอกชนและสถาบันการเงินรวมทั้งคู่ค้า จะมีการจัดระบบในการเชื่อมโยงเพื่อทำให้การกู้และการปล่อยเงินกู้ให้กับเอสเอ็มอีของธนาคาร ได้เกิดผลอย่างเต็มที่ โดยเริ่มคลัสเตอร์แรกคือกลุ่มค้าปลีก และจะมีการขยายผลไปสู่กลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนประกอบยานยนต์และไฟฟ้า ขณะเดียวกันจะมีการผลักดันเร่งรัดแก้ไขกฎระเบียบหรือกฎหมายต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้สะดวกยิ่งขึ้น  

ด้านนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีของสมาคมค้าปลีกว่า ขณะนี้ได้เริ่มต้นทำแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมา โดยมีข้อมูลลูกค้าประมาณ 6,000 ราย ซึ่งทางธนาคารพาณิชย์กำลังเร่งพิจารณาอยู่ คาดว่ามี 3,000 รายที่รอการอนุมัติภายในสัปดาห์นี้ และอีก 1,000 ราย จะอนุมัติภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเป็นตัวอย่าง หากแซนด์บ็อกซ์นี้ประสบความสำเร็จจะกระจายไปยังธุรกิจอื่น ๆ และธนาคารพาณิชย์อีกด้วยโดยจากการสุ่มทำตัวอย่างในเฟสแรกพบว่าประมาณ 70% จะเป็นเอสเอ็มอีซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยได้รับการเข้าถึงสินเชื่อ ทั้งนี้ มีเป้าหมายว่าในช่วง 99 วันแรกจะดำเนินการให้ได้ถึง 1 แสนราย  

            นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากเอกชน โดยรวมที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดการทำงานนอกเหนือจากเรื่องวัคซีนคือ  การเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ถูกจุด ถูกกลุ่ม โดยเฉพาะที่ได้รับผลกระทบโดยตรงซึ่งกลุ่มเหล่านั้นมีความต้องการที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นอย่างแรกซึ่งรัฐจะต้องเข้ามาค้ำประกันมากขึ้น ให้ธนาคารยอมปล่อยเงิน เพื่อนำมาหมุนเวียนและประคองการจ้างงานให้ได้โดยเร็ว  

นอกจากนี้ยังต้องเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก เพื่อเป็นปัจจัยที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ และสิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้ประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อเดือน เพื่อให้ความหวังที่จะดันตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของปี 2564 นี้ สามารถเติบโตไปได้มากกว่า 3% ตามที่เคยหวังไว้ 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"