ประชาธิปัตย์ "เท่" อีกแล้ว


เพิ่มเพื่อน    

    พรรคที่ "หล่อ" ในเกมการเมืองที่สุดในศตวรรษนี้

            ต้องยกให้ "ประชาธิปัตย์"

                เป็นแกนนำรัฐบาล ก็สไตล์หนึ่ง เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็อีกสไตล์หนึ่ง

                พรรคอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคบวชใหม่ทั้งหลาย ควรศึกษาลีลาพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะ "หลวงตาแก่วัด" เป็นแนวทาง ไว้ ๒ กรณี

                -การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

                -เอาตัวให้รอดก่อนเป็นยอดการเมือง

                ๒ วิชาตัวเบานั้น ทำให้ประชาธิปัตย์อยู่มาได้จนป่านนี้ เป็นรัฐบาล ๖-๗ ครั้ง ร่วมรัฐบาลอีกหลายครั้ง ในรอบ ๘๐ ปี ก็ด้วยพลิ้วที่สวยงามเช่นนี้

                ที่คุยวันนี้ ก็เพราะ.....

                เห็น "นายอันวาร์ สาและ" ส.ส.ปัตตานี ของประชาธิปัตย์ ทำหนังสือถึง กก.บห.พรรค เมื่อวาน (๗ พ.ค.๖๔)

                เรื่อง "ขอเสนอพรรคถอนตัว เพื่อแก้ไขปัญหาของชาติ"!

                ขอยกมาเป็นตอนๆ ดังนี้

                ......ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดการอ่านคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่พ้นสภาพ ส.ส.

            เพราะเป็นการกระทําผิดในต่างประเทศและถูกจําคุกด้วยคําวินิจฉัยของศาลต่างประเทศ ซึ่งไม่เกี่ยวกับศาลไทย จึงทําให้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยมีศาลรัฐธรรมนูญตกเป็นจําเลยของสังคม

            แม้ว่าในคําวินิจฉัยศาล จะพยายามอ้างเหตุผลพร้อมทั้งตัวบทกฎหมาย แต่ดูเสมือนหนึ่งว่า สังคมไม่ยอมรับ.....

            ......ผมเองไม่โทษศาลรัฐธรรมนูญและก็จะไม่โทษ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แต่ผมจะโทษ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

            เพราะปัญหาทั้งหมดเกิดจากท่านนายกฯ ไม่ใช่หรือ ที่รู้อยู่แก่ใจว่า เบื้องหลัง ร.อ.ธรรมนัส เป็นอย่างไร แต่ไม่สนใจ กลับแต่งตั้งมาเป็นรัฐมนตรี ........

            ........ดังนั้น เมื่อฝ่ายค้านเรียกร้องให้ท่านนายกฯ ลาออก ซึ่งท่านคงไม่ออก ท่านก็คงอยู่อย่างนี้ ทุกอย่างก็คงเหมือนเดิม

            เพราะพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นพรรคเดิม ก็คงคิดแบบเดิมๆ แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาก็ไม่ชัดเจน ผมจึงขอเสนอสิ่งที่ผมเคยเสนอเอาไว้หลายครั้งว่า       

            พรรคประชาธิปัตย์ควรใช้โอกาสนี้ แก้ไขปัญหาของประเทศชาติ ด้วยการถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล

            เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย"

                เห็นมั้ย....

                ประชาธิปัตย์หล่อเสมอในสถานการณ์การเมืองแบบนี้

                เป็นพรรค "ล่มรัฐบาล" ดีกว่าเป็นพรรค "จมไปกับรัฐบาล"!

                นี่คือยุทธศาสตร์การเป็นพรรคร่วมของประชาธิปัตย์เขาละ ใครเป็นแฟนพรรคนี้ จะเข้าใจ

                ตอนนี้ รัฐบาลประยุทธ์กำลังถูก "สงคราม ๙ ทัพ" รุมตีทางด้านโควิดว่าหนัก มาเจอด้านธรรมนัสสมทบ ต้องบอกว่า "ศึกนี้ หนักนัก"

                ประชาธิปัตย์ คิดสะระตะ อยู่ไปมีแต่ได้นิดหน่อยกับจมลง

                ประเมินแล้ว รัฐบาลย่างเข้าปีที่ ๓ เมื่องบประมาณ ปี ๖๕ ผ่านสภา การ "ยุบสภา" มีโอกาสสูง

                เห็นได้จากพวกจมูกมดทางการเมือง เตรียมตัวเลือกตั้งกันแล้ว

                จึงฉวยโอกาสนี้ โชว์สเต็ปเท่ "ถอนตัวเพื่อชาติ"!

                แค่โชว์เท่นำร่องเท่านั้น ที่จะถอนตัวจริงๆ ยังหรอก

                เรียกว่าซ้อมบทเก่าๆ เตรียมไว้ กันลืมที่เคยโชว์มาแล้วสมัยรัฐบาลป๋า "พลเอกเปรม ติณสูลานนท์" และสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย

                ยุคป๋า ก็ประชาธิปัตย์นี่แหละ นายวีระ มุสิกพงศ์ กับกลุ่มวาดะห์ ที่เรียก "กลุ่ม ๑๐ มกรา." ไม่แยกพรรค แต่แยกตัว

                ไปร่วมฝ่ายค้าน "โหวตคว่ำ" พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ สุดท้ายป๋าต้องยุบสภา เมื่อปี ๒๕๓๑

                ตอนร่วมรัฐบาล "พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ" ปี ๒๕๓๓ ก็เหมือนกัน พอรัฐบาลร่อแร่

                พรรครอดเป็นยอดการเมือง ประชาธิปัตย์ประกาศถอนตัวจากรัฐบาล

                ก็กลิ่นมันโชยมาแล้ว รุ่น ๕ คณะพรรค "พลเอกสุจินดา คราประยูร" เขาจะปฏิวัติกัน

                รัฐบาลชาติชายก็ถูกปฏิวัติจริงๆ ประชาธิปัตย์เลยเท่ไปอีก!

                อย่างที่นายอันวาร์ สาและ ทำหนังสือให้พรรคพิจารณาถอนตัวจากรัฐบาล ก็มาในลีลาทำนองนั้น

                ตรงรัฐบาลป๋าเปรมต้องยุบสภา เหตุเพราะประชาธิปัตย์ ตรงนี้มีเกร็ดน่าสนใจ

                ตอนนั้น ผมก็อยู่ จำได้กว้างๆ

                ไปอ่านที่นายธนาพล อิ๋วสกุล บก.สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เขียนในเว็บ the 101 world หัวข้อ ๓๐ ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (2) : 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ

                ทำให้ได้รายละเอียดและรู้ประเด็นลึกๆ ที่ไม่รู้มาก่อนเยอะเลย ขออนุญาตยกมาระลึกชาติ "บางตอน"

                ......................

                .........แต่รัฐบาลเปรม 5 ก็ดูจะไปไม่รอดตั้งแต่เริ่มต้น จากความแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์ ในการประชุมพรรควันที่ 10 มกราคม 2530

                จนมีการจัดตั้ง ‘กลุ่ม 10 มกรา’ ที่ไม่ขึ้นตรงกับพรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไป ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเปรมแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

                ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข่าวสร้างความหวาดผวาให้ พล.อ.เปรม ก็คือการที่ฝ่ายค้านแถลงว่า สามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อเปิดอภิปรายคณะรัฐมนตรีทั้งคณะได้ นับเป็นครั้งแรกภายใต้ระบอบเปรมาธิปไตย

                จึงเป็นที่มาของความพยายามทุกวิถีทางที่จะล้มอภิปรายไม่ไว้วางใจ

                ดังปรากฏในงานศึกษาของอดินันท์ พรหมพันธ์ใจ เรื่อง ‘การเมืองไทยในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์’

                พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าให้ฟังถึงการล้มญัตติไม่ไว้วางใจ พล.อ.เปรม ในช่วงรัฐบาลเปรม 5 ซึ่งแสดงให้เห็นการทำงานของกองทัพว่า

                “มัน trick ง่ายๆ ธรรมรักษ์ (พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา) ก็เป็นมือช่วย”

                อีกทั้ง พล.อ.อภิชัย วารุณประภา ได้เล่าถึงเบื้องหลังการล้มญัตติดังกล่าวว่า

                “วันหนึ่งฝ่ายค้านยื่นญัตติจะเปิดอภิปรายนายกฯ นาย (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) รู้สึกไม่เอา ป๋าไม่แฮปปี้ อยู่ดีๆ จะมาด่าป๋ากลางสภา

                แต่ถ้าจะให้เลิกล้มการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ส.ที่ลงชื่ออภิปรายจะต้องถอนชื่อออก 15 คน จึงต้องมีการล็อบบี้ให้ถอนชื่อ

                เริ่มแรกได้ ส.ส.ของเสี่ยเล้ง (นายเจริญ พัฒน์ดำรงจิตร) มาก่อน 5 คน ต่อมาได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งขาดเพียงคนเดียวจึงจะครบ 15 คน

                ตอนนั้น ทีมงานมีพี่หมง (พลเอก มงคล อัมพรพิสิฏฐ์) พี่แอ๊ด(พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา)

                อย่างพี่แอ๊ดนี่เก่ง ตอนนั้นเป็นพลตรี มีคอนเนคชั่นกับคนนั้นคนนี้เยอะแยะ มีพื้นฐานทางการเมือง”

                พล.อ.อภิชัย ยังเล่าต่ออีกว่า

                 ต่อมา พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ โทรมาบอกว่าได้ชื่อเพิ่มมาอีกแล้ว

                จึงขอให้ พล.อ.สุนทร นั่งรถมาเลยในคืนนั้น เพื่อที่จะรวบรวมรายชื่อให้ได้ครบ ก่อนส่งให้ประธานรัฐสภาในวันรุ่งขึ้น

                และคนสุดท้ายที่ได้ชื่อมาคือ นายชัย ชิดชอบ

                “เราจึงมีการไปดึงเอาออกจากพรรคนั้น 5 คน พรรคนี้ 3 คนบ้าง 2 คนบ้าง คนก็หาว่าพวกนี้รับเงิน ความจริงไม่ใช่ เพียงแต่ขู่ ถ้าไม่เซ็นให้ วันอภิปรายไม่ไว้วางใจ เขายุบสภาต้องเลือกใหม่ เพิ่งเลือกเข้ามาและป๋ายุบสภาบ่อย

                ส.ส.กลัวตรงนี้ บอกยุบ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่เซ็น ก็แค่นั้นแหละ”

                ส่วนกำนันชัย ชิดชอบ นั้นลวดลายมาก ต้องให้พิมพ์ใหม่ให้เหมือน ต้องให้นายเนวิน มาพิมพ์ให้

                “มันก็เมาเหมือนพ่อ นุ่งกางเกงนอนอยู่ ก็ร่างให้พิมพ์ตรงนั้นแหละ พิมพ์เสร็จแล้วลืมใส่ก๊อปปี้อีก อ้าว วิ่งไปถ่ายเอกสารมา

                สว่าง 6 โมงเช้าแล้ว เสร็จแล้ววิ่งออกมา รถมันติด พี่ก็เปิดหวอวิ่ง ไฟแวบๆ มาถึงสภาฯ

                ตอนนั้น คุณชวนเป็นประธานสภาฯ ท่านก็ดึงได้หน่อยหนึ่ง ยังไม่รีบไปนั่ง ให้ผู้แทนมาครบก่อน ก็เฉียดฉิว”

                การรอดพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยวิธีการไม่สะอาดนั้น ยิ่งทำให้ผู้คนโกรธแค้น พล.อ.เปรมเพิ่มมากขึ้น นายธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีบทบาทเปิดในการเคลื่อนไหวผ่าน ‘ธีรยุทธโพล’ เพื่อสร้างกระแสสังคมให้ เบื่อป๋า เซ็งเปรม

                เมื่อเข้าสู่ปี 2531 รัฐนาวาเปรม 5 ก็ถึงคราวจมลงเร็วกว่าที่คาด เมื่อการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2531

                พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ แม้ว่ารัฐบาลจะชนะด้วยคะแนนเสียง 183 ต่อ 134 เสียง

                แต่กลุ่ม 10 มกรา ซึ่งสังกัดประชาธิปัตย์ กลับไปยกมือสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ พล.อ.เปรม โกรธมาก จึงยุบสภาอีกครั้ง......

                ...............

                เห็นมั้ย...

                มันเป็นธรรมชาติประชาธิปัตย์เขา ตรงนี้ ถ้าอยากอ่านละเอียด คลิกไปเว็บ the  101 world

                สรุป ประชาธิปัตย์ "พรรคร่วม" ก็...

                "รอยโค-รอยเกวียน" ไม่เปลี่ยนไปจากนี้หรอก!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"