เผยไทม์ไลน์เยียวยา/10จว.ให้ฝรั่งเที่ยว


เพิ่มเพื่อน    

 “คลัง” ยันชง “เราชนะ-ม.33” เข้า ครม. 11 พ.ค.นี้  จ่ายเงินงวดแรกเราชนะ 20 พ.ค. ส่วน ม.33 เริ่มแจก 24 พ.ค. เชื่อมาตรการจะดันจีดีพีพุ่ง 1% หลายฝ่ายรุมสับล่าช้า รักษาไม่ตรงอาการ “บอร์ดท่องเที่ยว” เคาะแผนเปิดประเทศ วาง 4 ระยะ ช่วงแรกเน้น 10 จังหวัด มกราคมปีหน้าเปิดทั่วไทย

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม ยังคงมีความต่อเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่เห็นชอบในกรอบมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท โดย น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2564 เห็นชอบกำหนดเวลาการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ใช้สิทธิ์ในโครงการเราชนะและโครงการม33เรารักกันแล้ว และจะเสนอ ครม.อนุมัติในวันที่ 11 พ.ค.2564
น.ส.กุลยากล่าวต่อว่า โครงการเราชนะ จะโอนเงินให้ผู้ได้สิทธิ์ในกลุ่มที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรประชาชนรอบแรก 1,000 บาท ในวันที่ 21 พ.ค.2564 และอีก 1,000 บาท ในวันที่ 28 พ.ค. ส่วนกลุ่มที่ใช้สิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง จะได้รับเงินรอบแรกวันที่ 20 พ.ค. และงวดที่ 2 วันที่ 27 พ.ค. ส่วนโครงการม33เรารักกัน จะโอนเงินงวดแรกในวันที่ 24 พ.ค. และงวดที่ 2 ในวันที่ 31 พ.ค. โดยใช้จ่ายได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 ซึ่งมาตรการเราชนะครอบคลุม 33.5 ล้านคน และโครงการม33เรารักกัน ครอบคลุม 9.27 ล้านคน
“เบื้องต้นประเมินว่ามาตรการเยียวยาระลอกใหม่ วงเงินรวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท หากดำเนินการได้ตามเป้าหมาย จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2564 มากกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ตัวเลขจีดีพีปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 1%” น.ส.กุลยากล่าว และว่า กระทรวงการคลังจะปรับประมาณจีดีพีอีกครั้งในเดือน ก.ค. จากปัจจุบันคาดว่าจีดีพีอยู่ที่ 2.3% แต่หากรวมมาตรการเยียวยานี้ก็มีโอกาสที่จีดีพีปี 2564 จะขยับใกล้ 2.8% ได้
น.ส.กุลยายังกล่าวถึงโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ว่า การใช้จ่ายจะได้รับ e-Voucher ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.2564 และใช้จ่าย e-Voucher ได้ในเดือน ส.ค.-ธ.ค.2564 ซึ่งการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยมาตรการนี้ครอบคลุม 4 ล้านคน เบื้องต้นมีการประเมินว่าหากประชาชนมีการใช้จ่ายเต็มที่ 6 หมื่นบาทต่อคน เพื่อรับ e-Voucher คืนที่ 7 พันบาทต่อคน จะช่วยทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท
ด้านนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอก 3 มีปัญหาทุกมิติ ทั้งไม่ตรงจุดเจ็บ ล่าช้าไม่ทันการณ์ ปล่อยให้ประชาชนดิ้นรนเองกว่า 1 เดือน ตั้งแต่มาตรการลดค่าไฟ ที่ควรให้มีผลในเดือน เม.ย. แต่กลับลดค่าไฟในรอบบิลเดือน พ.ค- มิ.ย. ซึ่งมีแนวโน้มได้ส่วนลดการเยียวยาเพียงน้อยนิด หรืออาจไม่ได้รับเลย ในขณะที่การเยียวยาก็น้อยเป็นประวัติการณ์ เพียง 2,000-3,000 บาทต่อคน ไม่สอดคล้องกับความเข้มข้นของมาตรการของรัฐที่สั่งปิดกิจการ
       นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า เหมือนให้ยาผิด รักษายังไงโรคก็ไม่หาย โดยกลุ่มที่ต้องได้เยียวยาอย่างเร่งด่วนคือกลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อคำสั่งรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 พ.ค. และตลอดช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา พวกเขาก็ประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด จึงขอเสนอมาตรการ 7 ข้อคือ 1.เยียวยาตรง 50,000 บาทให้ทุกร้านอาหาร เป็นเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาท 2.ชดเชย 20% ของรายได้ช่วงเดือน พ.ค.ถึงสิ้น ก.ย. 3.รัฐบาลรับภาระการจ่ายเบี้ยประกันสังคมพนักงานทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง 4.เจรจาปรับลดหรือชดเชยค่า GP delivery เพื่อให้ค่า GP ไม่สูงกว่า 15% 5.ลดค่านํ้า-ค่าไฟให้ผู้ประกอบการ 50% 6.รัฐบาลและท้องถิ่นงดเก็บภาษีป้าย/ภาษีที่ดินจากร้านอาหารจนถึงสิ้นปี และ 7. แบงก์ชาติจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟชบุ๊กไลฟ์ว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นคนเข้าท่าจริงๆ วันนี้ต้องเรียกธนาคารมาคุย สั่งพักหนี้ให้ชาวบ้าน เจ้าของกิจการให้เช่าทั้งหลาย ต้องเรียกมาเจรจา และคนเป็นนายกฯ ขอให้รู้จักการฟังและตัดสินใจ อย่าไปคิดว่าตัวเองเก่งทุกเรื่อง
“พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกจากบ้านมาสั่งการงานที่ทำเนียบฯ โควิดไม่ได้หยุดเกิดในวันเสาร์-อาทิตย์ ต้องเปลี่ยนทัศนคติจากระบบข้าราชการประจำทำงาน ควรลงพื้นที่หาความจริง โดยไม่เอาผักชีโรยหน้า และไม่ฟังคำยกยอชื่นชม แต่ต้องสนใจคำด่าของประชาชน” นายจตุพรระบุ
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย  โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงการขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนในโครงการม33เรารักกัน ที่เดิมมีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 9.27 ล้านคน ว่าผู้ประกันตนตาม ม.33 มีตัวเลขในระบบจริงอยู่ที่ประมาณ 11 ล้านคน หมายความว่ามีคนอีกเกือบ 2 ล้านคนที่ตกหล่นจากมาตรการเยียวยา และในเดือน มิ.ย.ก็ต้องกลับมาจ่ายประกันสังคมเต็มอัตราอีก
     ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตอบโต้เรื่องนี้ว่า เป็นข้อมูลที่บิดเบือน ไม่รู้จริง เคยเป็นถึงอดีตแคนดิเดตที่จะเป็นนายกฯ จะพูดอะไรควรต้องมีข้อมูลที่แท้จริง และรับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งตัวเลข 2 ล้านคนที่ระบุว่าตกหล่นนั้น 1 ล้านคนเป็นแรงงานต่างด้าว ส่วนอีก 1 ล้านคนคือผู้ประกันตน ม.33 ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้รับสิทธิเยียวยาจากเราชนะอยู่ก่อนแล้ว
    วันเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่าที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการฟื้นฟูการท่องเที่ยวเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  โดยได้กำหนดช่วงดำเนินการเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 นำร่อง 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2564 เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีน มีใบรับรองการฉีดวัคซีน และกักตัวตามระยะเวลาที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค.กำหนด, ระยะที่ 2 ภูเก็ต แซนด์บอกซ์ 1 ก.ค.-30 ก.ย.2564 เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้ว มีใบรับรองการฉีดวัคซีน เข้ามาในพื้นที่ภูเก็ตโดยไม่มีการกักตัว
ระยะที่ 3 ผ่อนคลายในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.2564 เป็นต้นไป รับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนและมีใบรับรองการฉีดวัคซีน ขยายพื้นที่ไปอีก 9 จังหวัด ได้แก่ กระบี่, พังงา, สุราษฎร์ธานี, เชียงใหม่, ชลบุรี, บุรีรัมย์, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องกักตัว และระยะที่ 4 เข้าสู่ภาวะปกติ ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 เป็นต้นไป เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้วและมีใบรับรองการฉีดวัคซีนเข้ามายังทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว
“ปัจจัยหลักที่จะทำให้การดำเนินการตามแผนสำเร็จได้คือ ประชาชนและบุคลาการด้านการท่องเที่ยวในทุกพื้นที่ต้องได้รับวัคซีนไม่ต่ำกว่า 70% ที่ประชุมจึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานเพื่อเตรียมความพร้อมการกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้เป็นไปตามแผน และได้เห็นชอบในการสนับสนุนและผลักดันให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่บุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยให้ถือว่าเป็นบุคลากรด่านหน้าที่ต้องได้รับวัคซีนโดยเร็วในทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อรองรับนโยบายเปิดประเทศ” น.ส.ไตรศุลีระบุ
สำหรับปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 39.9 ล้านคน ทั้ง 10 จังหวัดมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80% ของรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งภายใต้แผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวนี้ หากสามารถดำเนินการใน 10 จังหวัดได้ตามแผน จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณ 3,500,000 คน และสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 298,192 ล้านบาท แยกเป็นเดินทางเข้ามาสร้างรายได้ของภูเก็ต 1,096,699 คน และสร้างรายได้ 122,046 ล้านบาท เป็นการเดินทางเข้าและสร้างรายได้ให้กับ 9 จังหวัด 2,403,301 คน และสร้างรายได้ 176,146 ล้านบาท.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"