"บิ๊กตู่" สั่งทุกหน่วยทำงานเชิงรุกเร่งเจรจาหาวัคซีนเพิ่มให้ได้ 150 ล้านโดส ฉีดคนไทย 60 ล้านคน รับมือสถานการณ์โควิด พร้อมปรับแผนเดือน ก.ค.ต้องฉีดเข็มแรกวัยทำงานให้ได้ครึ่งประเทศ "อนุทิน" เผยไฟเซอร์ตกลงส่งวัคซีนเข้าไทยไตรมาส 3-4 กว่า 10-20 ล้านโดส เล็งฉีดให้เด็ก 12-18 ปี "คกก.โรคติดต่อ" ไฟเขียวฉีดซิโนแวคผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้แล้ว
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวในรายการ PM PODCAST ว่า เมื่อเราพิจารณาสถานการณ์ในภาพรวมที่เกิดขึ้นทั่วโลก เตือนให้เราเห็นว่าการระบาดของโควิด-19 ไม่น่าจะหายไปจากโลกนี้ได้โดยเร็ว เราต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตั้งแต่ตอนนี้ สิ่งที่เราต้องทำเรื่องแรกคือ เราต้องเพิ่มจำนวนวัคซีนในมือของเราให้มากกว่านี้ วันนี้ตนสั่งการไปแล้วว่าประเทศไทยควรหาวัคซีนเพิ่มเติมให้เรามีถึง 150 ล้านโดสให้ได้ หรือมากกว่านั้น แม้ว่าบางส่วนอาจจะส่งมอบให้เราในปีหน้าก็ตาม เพื่อเตรียมการรับความเสี่ยงเรื่องวัคซีนต่อไป
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปัจจุบันเราได้ตั้งเป้าไว้เดิมจัดซื้อวัคซีน 100 ล้านโดส เพื่อให้เพียงพอสำหรับฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคน โดยหวังว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศได้ แต่คิดว่าเท่านั้นยังไม่พอ เพราะทุกวันนี้ถ้าเราฟังจากสถานการณ์ทั่วโลกก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากไวรัสตัวนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ตนก็ยังมีความกังวลในเรื่องนี้ ระยะต่อไปคงต้องมีแผนสำรองตลอดเวลา แต่วันนี้เราก็ได้รับคำยืนยันแล้วทั่วโลกว่าฉีดดีกว่าไม่ฉีด และฉีดเข็มเดียวก็ดีกว่าไม่ฉีด ดังนั้นเราควรจะต้องมีวัคซีนให้เพียงพอสำหรับคนไทยทุกคน
"ประเทศเรามีประชากรผู้ใหญ่อยู่ประมาณ 60 ล้านคน เท่ากับว่าเราจะต้องมีวัคซีนอย่างน้อย 120 ล้านโดส และเราต้องคำนึงแรงงานอื่นๆ ที่อยู่ในภาคธุรกิจของเรา นอกจากนั้นเราจะต้องมีวัคซีนเผื่อไว้เพียงพอสำหรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอื่นๆ ด้วย อาจจะต้องถึง 150-200 ล้านโดสในระยะต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงอายุการใช้งานของวัคซีนและสถานการณ์ในปีหน้าด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานทำงานเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้การเจรจาสั่งซื้อวัคซีนของเรามีความคืบหน้าที่เร็วกว่านี้ ให้มีการเจรจากับผู้ผลิตหลายรายเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้วัคซีนเพิ่มขึ้น เราได้มีการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนถึง 7 ราย และจะมีการเจรจาเพิ่มเติมอีก รวมถึงวัคซีนใหม่ๆ จากผู้ผลิตรายใหม่ด้วย โดยต้องเป็นไปตามขั้นตอนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่จะต้องพิจารณาให้รวดเร็วขึ้น
"ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้รับการยืนยันว่าเราจะได้วัคซีนเพิ่ม 3,500,000 โดส และจะมีการส่งมอบให้กับประเทศไทยในเดือนนี้ ตรงนี้ถือเป็นจำนวนที่เพิ่มเติมขึ้นจากยอดเดิมที่เราได้ดำเนินการไว้เพื่อใช้ในเดือน พ.ค. จากจำนวนที่ได้รับการยืนยันมาก่อนหน้านี้ ขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข ทุกกระทรวง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยดำเนินการอย่างรวดเร็ว ซึ่งเรื่องนี้ก็ผ่านช่องทางของกระทรวงการต่างประเทศโดยรัฐบาลด้วย" นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การตัดสินใจในภาพใหญ่อีกเรื่องคือ เรื่องการปรับแนวทางการฉีดวัคซีน ซึ่งจะมีการเร่งเครื่องการฉีดวัคซีนเข็มแรกหลังจากการหารืออย่างเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสาธารณสุข เราก็ต้องปรับมาให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากทางการแพทย์มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า หลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีนแม้แต่เพียงเข็มแรก ก็จะสามารถช่วยลดโอกาสในการรับเชื้อลดความรุนแรงของอาการและลดโอกาสในการเสียชีวิตไปได้อย่างมาก ถึงแม้จะมีผลข้างเคียงอยู่บ้างก็จะดำเนินการแก้ไขต่อไป
“เมื่อพวกเรารู้อย่างนี้แล้วเราควรจะต้องร่วมมือกันช่วยกันเร่งเครื่องเดินหน้าให้เร็ว ปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้จำนวนมากที่สุดให้กับประชาชน โดยประมาณเดือน ก.ค.นี้ เราควรจะมีประชากรผู้ใหญ่จำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศที่จะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว และได้รับการปกป้องจากอันตรายของโควิด-19 ในระดับที่มากพอสมควร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
วัคซีนไฟเซอร์เข้าไทย
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ไฟเซอร์มาแล้ว ประชุมแผนการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์มาให้ประชาชน คาดว่าจะได้รับวัคซีนจำนวน 10-20 ล้านโดส เริ่มส่งได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3-4 ปีนี้ ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย เป็นไปด้วยดี อย.จะอำนวยความสะดวกการขึ้นทะเบียนวัคซีนไฟเซอร์ให้เร็วที่สุด
"ผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ หากมีความพร้อมด้านการจัดส่งวัคซีนให้ประเทศไทยแบบกำหนดเวลาที่แน่ชัดได้ สามารถติดต่อเข้ามาได้ กระทรวงสาธารณสุขพร้อมรับข้อเสนอ และพร้อมให้ความร่วมมือ" นายอนุทินระบุ
จากนั้นนายอนุทินแถลงอีกครั้งยืนยันบริษัทไฟเซอร์มีนโยบายขายวัคซีนผ่านภาครัฐบาลก่อน โดยเรามีแผนจะกระจายวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กที่มีอายุ 12-18 ปี เพื่อครอบคลุมประชากร เพราะเป็นวัคซีนเดียวในขณะนี้ที่มีการอนุมัติใช้ในผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนราคาจัดซื้อยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ตามข้อตกลงของบริษัทผู้ผลิต แต่ยืนยันว่าจะเจรจาให้ได้ราคาที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตอาจมีปัญหากับคู่ค้าประเทศอื่น
"ขณะนี้ ครม.ได้อนุมัติงบกลางเพื่อดำเนินการจัดซื้อวัคซีน เพื่อนำมาฉีดให้กับคนไทยครอบคลุมประชากรในประเทศ ยืนยันรัฐบาลไม่ได้ประวิงเวลาจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาในประเทศ เพราะที่ผ่านมามีการเจรจาหารือกับบริษัทมาโดยตลอด" นายอนุทินกล่าว
ต่อมานายอนุทินเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2564 รวมกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง โดยนายอนุทินกล่าวหลังประชุมว่า ในปลายเดือน พ.ค.นี้จะมีการกระจายวัคซีนฉีดจำนวนมาก ดังนั้นคณะกรรมการมีมติให้ สธ.ร่วมกับมหาดไทย, สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สภาอุตสาหกรรม, สภาหอการค้าและภาคเอกชน จะมาร่วมในการฉีดวัคซีนในประชากรวัยแรงงานรวม 16 ล้านคน โดยมีสํานักงานประกันสังคม และทางจังหวัดเป็นผู้รวบรวมจำนวนและรายชื่อแรงงานที่จะรับวัคซีนในโอกาสต่อไป รวมทั้งเพิ่มจุดฉีดวัคซีนที่นอกเหนือจากสถานพยาบาลของรัฐ ในกรุงเทพฯ 82 แห่ง และต่างจังหวัดประมาณ 300 แห่ง
นอกจากนี้มีมติเห็นชอบแนวทางในการฉีดวัคซีนของซิโนแวคให้กับผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ เนื่องจากผลการศึกษาของต่างประเทศจีนมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว จากนี้จะส่งเรื่องให้ อย.ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป จึงจะดำเนินการฉีดในกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้
ส่วน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การฉีดวัคซีนในกลุ่มวัยแรงงานจะทำคู่ขนานกับผู้สูงอายุ เนื่องจากขณะนี้การลงทะเบียนฉีดวัคซีนในหมอพร้อมมีจำนวนไม่มาก โดยคาดว่าจะเริ่มฉีดในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งในส่วนของการฉีดจะให้ผู้ประกอบการรวมกลุ่มนัดหมาย จากนั้นกำหนดวันฉีด ส่งเรื่องมายังประกันสังคมเพื่อประสานกระทรวงสาธารณสุข
"ขอให้ความเชื่อมั่นนโยบายของรัฐบาล เราจะจัดหาวัคซีนให้ประชาชนคนไทยโดยที่ไม่คิดมูลค่า อย่างน้อย 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรอย่างน้อย 50 ล้านคน ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยด้วย" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. ชี้แจงกรณีบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ได้ให้ข้อมูลทางสื่อต่างๆ ถึงปัญหากระบวนการพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนสปุตนิก วี ว่า เมื่อวันที่ 19 เม.ย.64 บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ได้เข้าหารือเพื่อขอยื่นเอกสารแบบต่อเนื่อง และได้ยื่นเอกสารเพื่อขอขึ้นทะเบียนวัคซีนสปุตนิก วี กับ อย. โดยผู้เชี่ยวชาญได้เริ่มประเมินข้อมูลที่ยื่นมาแล้ว แต่สามารถประเมินได้เพียงบางประเด็นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ทาง อย.จึงได้ทำหนังสือแจ้งทางบริษัท คินเจนฯ เพื่อขอให้จัดส่งข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาเพิ่มเติม โดยทางบริษัทแจ้งแก่ อย.ว่าจะดำเนินการส่งข้อมูลที่ขาดให้ครบถ้วนภายในเดือน พ.ค.64
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้สรุปการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติมสำหรับภาครัฐ ประกอบด้วย ไฟเซอร์, สปุตนิก วี และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งในการจัดหาวัคซีนของสถานพยาบาลเอกชนนั้น ที่ประชุมคณะทำงานมีความเห็นว่าควรเป็นวัคซีนโควิด-19 ในรายการอื่นๆ ที่ไม่ได้ให้บริการโดยภาครัฐและสถานพยาบาลของรัฐ เพื่อให้เป็นวัคซีนทางเลือกอย่างแท้จริง และไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับภาครัฐ เช่น โมเดอร์นา, ชิโนฟาร์ม หรือวัคซีนอื่นที่มีการขึ้นทะเบียนต่อไปในอนาคต
"ขอให้มีการควบคุมราคาการให้บริการในการฉีดวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชนในสถานพยาบาลเอกชนให้สมเหตุสมผล และมีราคาที่เหมาะสม โดยจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย และสถานพยาบาลเอกชน/ภาคเอกชนที่ประสงค์จะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก จะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง" โฆษกรัฐบาลกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |