สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ และ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับเครือข่าย “ฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์” (Food For Fighters) เปิดพื้นที่ของสมาคมฯ ตั้ง “ศูนย์ข้าวเพื่อหมอ” เป็นศูนย์กลางรับบริจาคและกระจายถุงยังชีพสนับสนุน รพ.สนาม และช่วยเหลือชุมชนคลองเตยกักตัวนับหมื่น
สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับมูลนิธิคุวานันท์ บริษัท เวิลด์ รีวอร์ด โซลูชั่น จำกัด และโครงการฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์ (FFF-Food For Fighters) เปิดพื้นที่ตั้ง “ศูนย์ข้าวเพื่อหมอ” เป็นศูนย์กลางรับบริจาคและกระจายวัตถุดิบ อาหารกล่อง และสิ่งของที่จำเป็น เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลสนาม ชุมชนแออัด และกลุ่มพื้นที่เปราะบางในเขตกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.นี้เป็นต้นไป เร่งระดมเครือข่าย สนจ.ผนึกกำลัง FFF เชื่อมต่อกระจายทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าไปยังแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนผู้ที่เข้าพักรักษาตัวใน รพ.สนาม และผู้ที่กักตัวในชุมชนแออัด ภายใต้แนวคิด “รับจากส่วนที่เกิน-เติมเต็มและส่งต่อส่วนที่ขาด”
นายมกร พงษ์ธนพฤกษ์ เลขาธิการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเมืองหลวงระลอกนี้ทวีความรุนแรงเข้าขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะพื้นที่คลองเตยและชุมชนรอบๆ ที่มีผู้อยู่อาศัยราว 80,000-100,000 คน ทั้งจุฬาฯ และ สนจ. เฝ้าติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อได้รับการประสานจากเครือข่าย FFF ที่พร้อมระดมเครือข่ายพันธมิตรเข้ามาช่วยเหลือ เราจึงเปิดศูนย์ข้าวเพื่อหมอขึ้นในพื้นที่ของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางรับบริจาคสิ่งของและกระจายวัตถุดิบ อาหารกล่อง และสิ่งของที่จำเป็นเพื่อแบ่งเบาภาระของหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ รพ.จุฬาลงกรณ์ และเร่งบรรเทาทุกข์ของพี่น้องคลองเตยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด บ้างตกงานฉับพลัน บ้างถูกพักงาน ขาดรายได้จุนเจือครอบครัวในยามนี้ โดย สนจ.จะเร่งระดมสรรพกำลังจากเครือข่ายนิสิตเก่าจุฬาฯ เข้ามาร่วมกันกู้วิกฤติครั้งนี้อย่างเต็มความสามารถ
ด้าน ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เรามีศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน ที่คอยช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความไม่เป็นธรรมในสังคม พอเกิดวิกฤติโควิดเราจึงระดมนิสิตเก่าเปิดโครงการ LawChula เดินหน้าร่วมบรรเทาทุกข์ปัญหากฎหมาย ยิ่งทำให้ได้เห็นปัญหาของคนไทยที่ต้องเผชิญอยู่รายล้อมรอบด้านจริงๆ นอกจากต้องตกงาน ขาดรายได้แล้ว ยังกังวลเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งสถานที่แยกกักตัว และอาหารการกินเพื่อยังชีพ จึงได้ช่วยประสานงานกับผู้ก่อตั้งเครือข่ายฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์ ซึ่งเป็นนิสิตเก่านิติ จุฬาฯ ของเรา ร่วมกับ สนจ. เพื่อต่อยอดการช่วยเหลือเรื่องปากท้องยามยากของประชาชนต่อไป
ขณะที่ นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ก่อตั้งโครงการฟู้ด ฟอร์ ไฟเตอร์ (FFF) กล่าวว่า ตลอดปีที่ผ่านมา เรามีเครือข่ายอาสาสมัครของ FFF อยู่ในแต่ละจังหวัดพร้อมเป็นสื่อกลางรับอาหารและสิ่งของอุปโภค เพื่อนำมากระจายให้ทั่วถึงอย่างเป็นระบบ ภายใต้แนวคิด ‘รับจากส่วนที่เกิน-เติมเต็มและส่งต่อส่วนที่ขาด’ จนสามารถส่งต่อให้ถึงมือผู้ต้องการความช่วยเหลือทั้งโรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรสาธารณกุศลตามแต่ละท้องที่ได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อกรุงเทพฯ เกิดวิกฤติต้องตั้ง รพ.สนาม และดูแลชุมชนแออัดหลายแห่ง เราจึงนำแนวคิดเดียวกันนี้มาใช้เปิดศูนย์ข้าวเพื่อหมอ กรุงเทพฯ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ เปิดพื้นที่สมาคมใจกลางเมืองหลวงเป็นจุดศูนย์กลางรับบริจาค ขนถ่าย กระจายอาหารและสิ่งของที่จำเป็น เร่งกู้สถานการณ์ให้คลี่คลายเร็วที่สุด ซึ่งในวันนี้เป็นวันแรกที่เราเปิดศูนย์ที่นี่ได้มีธารน้ำใจจากองค์กรภาคีเครือข่ายหลั่งไหลส่งวัตถุดิบเพื่อจัดทำอาหารกล่องและถุงยังชีพเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราได้ทยอยลำเลียงส่งต่อไปยังหลายพื้นที่ อาทิ ชุมชนคลองเตย ชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนสวนแก้ว (ทางรถไฟสายเก่า) เป็นต้น
ทั้งนี้ บรรยากาศการเปิดศูนย์ข้าวเพื่อหมอ กรุงเทพฯ ที่ สนจ.วันแรกเต็มไปด้วยความคึกคัก มีผู้มีจิตศรัทธาทยอยนำข้าวสาร อาหารแห้ง ปลากระป๋อง น้ำมันพืช วุ้นเส้น ขนม ไข่ไก่ ผักสลัด น้ำดื่ม นม อาหารกล่องปรุงสุกจากเครือข่าย FFF ตลอดจนกล่องใส่อาหาร และน้ำยาล้างมือ มาบริจาค โดยผู้มีจิตศรัทธาสามารถนำสิ่งของมาบริจาคที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ถ.พญาไท ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ซึ่งศูนย์เปิดรับบริจาคเน้นสิ่งของจำเป็นดังต่อไปนี้
1) อุปกรณ์ทางการแพทย์แบบใช้สิ้นเปลือง เช่น หน้ากากอนามัย ชุด PPE แบบใช้ได้ 20 ครั้ง เจลแอลกอฮอล์ เฟซชิลด์ ฯลฯ
2) อุปกรณ์ทางการแพทย์แบบใช้งานสำหรับโรงพยาบาลและบ้าน (สำหรับผู้ที่ต้องกักตัวหรือผู้ป่วยที่ต้องอยู่ที่บ้าน) เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องวัดความดัน ปรอทวัดไข้ ฯลฯ
3) อาหารสดเพื่อนำมาปรุงอาหาร เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ปลาแช่แข็ง ผักสด ผลไม้ นมสด ฯลฯ
4) อาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร ปลากระป๋อง ปลาทูน่า ถั่วแห้ง น้ำมันพืช น้ำตาลทราย นม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไข่เค็ม น้ำพริกเผา วุ้นเส้น ฯลฯ
5) บรรจุภัณฑ์สำหรับทำอาหารกล่อง เช่น กล่องใส่อาหารจากกระดาษหรือชานอ้อย (งดโฟม), ช้อน ส้อม, ปิ่นโต, แก้วพลาสติก, ถุงพลาสติก, ตะเกียบ ฯลฯ (สำหรับทำอาหารกล่องกระจายให้เครือข่ายร้านอาหาร FFF)
6) เงินสด บริจาคเข้าบัญชีมูลนิธิคุวานันท์ ธนาคารไทยพาณิชย์ 729-233242-7 (ส่งสลิปไปที่ Call Center 0-2016-9910 ใบเสร็จสามารถหักลดหย่อนได้)
7) รถขนส่งอาหารกล่องและรถขนส่งสิ่งของที่ได้รับบริจาค รถขนส่งผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการไปตรวจ ฯลฯ ท่านที่มีความประสงค์จะส่งอาหารกล่องปรุงสด หรือสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องปรุง ฯลฯ
หมายเหตุ : หากเป็นอาหารกล่อง สำหรับมื้อเที่ยง ขอให้นำส่งภายใน 11.00 น. สำหรับมื้อเย็น ขอให้นำส่งภายใน 15.00น. เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่ออาหารกล่องปรุงสุก**
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ศูนย์ข้าวเพื่อหมอ โทร.0-2016-9910 เปิดทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น. และ FB : Food For Fighters และ Chula Alumni.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |