3 จังหวัดชายแดนใต้ตื่นตัวหยุดโควิด!


เพิ่มเพื่อน    

          เฝ้าระวัง 3 ตำบลใน 3 ชายแดนภาคใต้ สตูล ยะลา นราธิวาส ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน นำทีมเสวนาออนไลน์ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งครั้งที่ 9 ทุกคนรู้จักโควิดเป็นอย่างดี โดยเฉพาะรอบที่ 3 นราธิวาสจัดทีมสวอฟเป็นของ รพ. ดักผู้ลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ แจ้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วทำงานเชื่อมโยงกับตำรวจตลอด 24 ชั่วโมง นายก อบต.ขอฉีดเป็นคนสุดท้าย เปิดทางให้กลุ่มเสี่ยงฉีดก่อน

 

 

 

          เสวนาออนไลน์ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งครั้งที่ 9 “ชุมชนท้องถิ่น รู้ทันปรับตัวสู้ภัยโควิด-19” ชุมชนท้องถิ่นมีแนวทางในการปรับตัวเพื่อสู้กับการระบาดโควิดรอบ 3 ในครั้งนี้อย่างไร? ผู้ร่วมเสวนารายการ ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน เป็นผู้ซักประเด็น จำรัส ฮ่องสาย นายก อบต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล (บุคคลดีเด่นด้านการพัฒนาครอบครัว จ.สตูล ประจำปี 2561) อาซัน สือนิล นายก อบต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ซุลกีฟรี เจ๊ะมามะ นายก อบต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส

 

อาซัน สือนิล นายก อบต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา

 

 

          อาซัน สือนิล นายก อบต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา กล่าวว่า รับฟังประกาศจากรัฐบาลโดยตลอด ประชุม 4 เสาหลักเฝ้าระวัง หารือกับผู้นำชุมชนในท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำทางศาสนา ภาคเอกชน วางแผนรับมือด้วยข้อตกลงการประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเฝ้าระวัง เตือนให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม พกเจลแอลกอฮอล์ หมั่นล้างมือบ่อยๆ อย่าออกไปชุมนุมกันนอกบ้าน กระตุ้นให้ใช้มาตรการเข้มงวด อย่างการระบาดของโควิดในรอบแรก ในช่วงแรกๆ ก็ค่อนข้างยากเพราะเขารู้สึกว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว แต่ตอนหลังโควิดระบาดหนักมาก ชาวบ้านก็ให้ความสนใจและร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น

          สำหรับการประกอบอาชีพ การทำมาหากินภายในชุมชนมีการปรับตัว ชาวสวนยางพาราไม่กระทบ แต่ร้านค้า การค้าขายมีผลกระทบ เราเข้าไปเคาะประตูร้านค้าสาขาในชุมชนให้คนซื้อและคนขายใส่หน้ากากอนามัย ขอความร่วมมือให้ขายอาหารไม่เกิน 3 ทุ่มในพื้นที่ ร้านน้ำชาให้ปิดเวลา 5 ทุ่ม ข้าราชการเข้ามาทำงานในตัวอำเภอ ครูเข้ามาในพื้นที่โรงเรียน กลุ่มเฝ้าระวังขอความร่วมมือทำความเข้าใจให้ปฏิบัติตามอย่างดี

          “ขณะนี้ อสม.ฉีดวัคซีนในรอบแรกไปแล้ว สาธารณสุขอำเภอให้ความสมัครใจในการฉีดวัคซีนด้วยการไปลงทะเบียนล่วงหน้าที่อำเภอ เมื่อฉีดแล้วก็มีอาการปกติ ยังไม่มีใครแพ้ยาแต่อย่างใด ผมยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเพราะให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์ อสม.ฉีดก่อน ผมขอฉีดเป็นคนสุดท้าย ขอจัดให้ชาวบ้านก่อน”

          การทำงานประชาสัมพันธ์ด้วยหอกระจายข่าวท้องถิ่น ผู้บริหาร อบต.เชิญเครือข่ายเข้ามาให้ความรู้ สมาชิก พนักงาน นายก อบต.ท้องที่ สภาสันติสุขกระจายความรู้ไปถึงมัสยิด โดยเฉพาะทุกวันศุกร์ นายกฯ จะไปละหมาดต่างมัสยิด ขอความร่วมมือผู้นำศาสนาประชาสัมพันธ์ให้สมาชิก อบต. ขณะนี้มีเด็กและเยาวชนเข้ามามีบทบาทช่วยทำให้มาตรการป้องกันโควิดเป็นจริง ด้วยการเป็นแบบอย่าง รณรงค์พูดคุยเผยแพร่ความรู้ เด็กเป็นตัวหลักที่ทำเป็นตัวอย่างในโรงเรียนและกลับมาทำเป็นตัวอย่างที่บ้าน ถึงวันนี้น่าจะไม่มีใครไม่รู้จักโควิดแล้ว

 

ซุลกีฟรี เจ๊ะมามะ นายก อบต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส

 

          ซุลกีฟรี เจ๊ะมามะ นายก อบต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส เล่าว่า มีคนไทยที่ไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย กลับมาจากมาเลย์เราต้องรับเขากลับมาแต่มีเงื่อนไขต้องกักตัว 15 วัน ให้เขาตัดสินใจว่าจะกักตัวที่ไหน จะกักตัวที่สุไหงโก-ลกแล้วกลับเข้าบ้าน ยังมีคนไทยที่ไปทำงานอยู่ภาคเหนือ ภาคอีสาน กลับเข้ามาด้วย ก็ใช้มาตรการกักตัวเช่นเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมาคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศก็กลับเมืองไทยมาอยู่ที่บ้านกันหมด ถ้าไม่ยอมกักตัวจะถูกปรับ 800 บาท

          “ในรอบที่ 3 นี้ เจ้าหน้าที่ อสม.มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น มีการออกป้ายประชาสัมพันธ์ใช้งบประมาณจากกองทุน สปสช. ผลิตหน้ากากอนามัยให้กับผู้สูงอายุทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ก็จ้างคนในพื้นที่เย็บหน้ากากอนามัยด้วยผ้า เพื่อจะได้ซักล้างนำกลับมาใช้ใหม่ได้”

          เรื่องการฉีดวัคซีน นายก อบต.ก็ยังไม่ได้ฉีดแต่อย่างใด ขณะนี้เริ่มมีการลงทะเบียนเพื่อจะเตรียมฉีดวัคซีนในตัวอำเภอกันบ้างแล้ว มีทั้งคนที่อยากฉีดวัคซีนและบางคนไม่อยากฉีดวัคซีนปะปนกันไป

 

 

          ช่องทางป้องกันโควิดด้วยระบบสื่อสารสัปดาห์ละครั้ง เป็นการทำเฉพาะเรื่องเร่งด่วน ใช้หอกระจายเสียงตามสายเข้าไปทุกหมู่บ้าน ทั้งตำบล เชิญอนามัย รพ.สุขภาพตำบล สาธารณสุขเข้ามาให้ความรู้กับเยาวชน คนในหมู่บ้าน กลุ่มสันติสุข ผู้นำตามธรรมชาติ ผู้นำท้องที่ อสม. เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ขณะนี้กลุ่มเยาวชนมีบทบาทจัดอบรมให้ความรู้ เยาวชนที่นี่ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์มั่วสุมรวมตัวกัน ไม่ออกนอกพื้นที่ ทำงานเป็นจิตอาสาในหมู่บ้าน

          เป็นที่สังเกตว่า ในช่วงที่คนกลับมาอยู่บ้านจะมีการเปิดร้านค้าเล็กๆ ภายในหมู่บ้าน ขับรถขายของ ใครที่มีความรู้ทำขนมก็ทำขนมไปฝากขาย หรือขายหน้าบ้านของตัวเอง มีการลงทะเบียนวางแผนเพื่อจัดการเรื่องอาชีพต่างๆ

          เนื่องจากนราธิวาสอยู่แนวเขตชายแดน จึงต้องเข้มข้นและเข้มงวดในการตรวจคนเข้าออกตามแนวชายแดนมีเส้นทางธรรมชาติ 7 ตร.กม. มีหน่วยทีมสวอฟเป็นของโรงพยาบาล แจ้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วทำงานเชื่อมโยงกับตำรวจตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการ “ผมก็มีชุดอวกาศอยู่ในรถ เตรียมพร้อมเสมอเมื่อจำเป็นต้องใช้”

 

 

 

 

 

สตูลไข่แตกเป็นจังหวัดสุดท้าย แต่ที่ อ.ละงูยังไม่มีใครติดโควิด

 

          จำรัส ฮ่องสาย นายก อบต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล (บุคคลดีเด่นด้านการพัฒนาครอบครัว จ.สตูล ประจำปี 2561) กล่าวว่า เป็นความภาคภูมิใจมากที่ละงูยังไม่มีใครติดโควิด ทั้งๆ ที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก เพราะได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกฝ่าย ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. ผู้นำศาสนาต่างให้ความสำคัญและให้ความรู้ในเรื่องการป้องกันโควิดได้เป็นอย่างดี คนที่นี่นับถือศาสนาอิสลาม 92% ไทยพุทธ 8%

 

จำรัส ฮ่องสาย นายก อบต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล

 

          “เรามีประชากรในตำบลมากเป็นพันคนก็จริง แต่เราเตรียมพร้อมมาตลอด คนของเราไปทำงานต่างประเทศ ต่างจังหวัด แต่เราเฝ้าระวังไม่ให้ติดโควิดแม้แต่คนเดียว ด้วยการขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทุกองค์กร จ.สตูลไข่แตกเป็นจังหวัดสุดท้ายของแผ่นดินไทยที่ติดโควิด แต่ที่ อ.ละงูยังไม่มีใครติดโควิด เรื่องนี้ผู้นำศาสนาให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เราสนับสนุนงบประมาณในการใช้เครื่องมือวัดไข้ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ อุปกรณ์พร้อม ปกติอิสลามจะประกอบพิธีศาสนกิจ ละหมาด 5 เวลา ก่อนละหมาดจะต้องทำความสะอาดร่างกายเพื่อฆ่าเชื้อโรค เราใช้สื่อสาธารณะ ใช้ Line Facebook กลุ่มองค์กรสนับสนุนให้ความรู้ รวมถึงการบรรยายด้านสาธารณสุขถึงมัสยิด”

          การจัดการนอกพื้นที่ จ.สตูล ในตัวเมือง เป็นจังหวัดเล็กๆ ประชากรไม่มากนัก มีทางเข้าออกไม่มาก เส้นทางหนึ่งเข้ามาจาก จ.ตรัง อีกเส้นทางหนึ่งเข้ามาทาง จ.สงขลา อีกเส้นทางหนึ่งเป็นเส้นทางธรรมชาติ เดินทางลำบากมากเพราะต้องผ่านภูเขาสูง มีชายฝั่งติดกับมาเลย์ มีด่านตรวจมีชายฝั่งทางทะเลอันดามัน การกักตัวส่วนใหญ่ก็กักตัวกันที่บ้าน มีภาคีเครือข่ายคอยสังเกตการณ์ตลอดเวลา การให้ความรู้อย่าให้เกิดโควิดในพื้นที่

 

ขบวนรถให้ความรู้ป้องกันโควิด-19

 

          ที่ ต.ละงู เป็นพื้นที่กว้างขวาง ยังมีความเป็นชนบทอยู่สูง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำประมง อยู่กันอย่างไม่แออัด ทำนาทำสวนทำประมง ต่างคนต่างอยู่ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือในช่วงเทศกาลศีลอด ในช่วงบ่ายๆ ประชาชนจะออกไปจ่ายตลาดพร้อมๆ กันเพื่อเตรียมทำกับข้าวเป็นอาหารมื้อเย็นหลังจากละศีลอดแล้ว ขอให้ระมัดระวัง เว้นระยะห่างในการจับจ่ายซื้อของ มีหอกระจายข่าว แจ้งข่าวผ่านทาง Line Facebook ทุกเช้า-เย็น

          “วันนี้ยังไม่มีโควิดที่ละงู แต่ถ้าจะมีก็เป็นเหตุสุดวิสัย ที่เราต้องป้องกันอย่างดีไว้ก่อน เราต้องรับมือให้ดีและสร้างความภาคภูมิใจที่เราไม่มีโควิดที่นี่ เราต้องสร้างพื้นที่เรียนรู้ ให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเอง เราต้องสร้างความพร้อมให้ความร่วมมือ ที่นี่ไม่ค่อยมีการจัดงานสงกรานต์ ปีนี้จัดสรงน้ำพระ มี Time Line คนส่วนใหญ่รู้จักกันทั้งหมด เนื่องจากจังหวัดสวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อนๆ ก็จะตามมาพักอยู่ด้วย ยิ่งรู้ว่าที่นี่ไม่มีโควิด ใครๆ ก็อยากมาเที่ยว ก็ต้องระมัดระวังด้วย กลัวไข่แดงจะแตกเพราะนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ เพราะส่วนใหญ่ไม่พักที่โรงแรมหรือรีสอร์ต จะเข้ามาพักที่บ้าน เราเป็นห่วง ให้มีการกักตัว ขอความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.เข้มงวดโดยไม่มีข้อยกเว้นแต่อย่างใด”

 

ชุดป้องกันโควิดในระหว่างการทำงาน

 

          การระบาดโควิดรอบ 3 มีความน่ากลัวเพิ่มมากขึ้น ในชุมชนยังไม่มีใครฉีดวัคซีน มีการวางแผนไว้ว่าถ้ามีการฉีดวัคซีนจะฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงก่อน คนที่ขับรถไปรับเจ้าหน้าที่เข้าออกในตัวจังหวัดเป็นประจำ เพื่อให้เขาปลอดภัย “ในตำบลใครเข้าออกจะรู้หมด ต้องแจ้งชื่อกับผู้ใหญ่บ้านทั้ง 18 หมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านแจ้ง อสม.มาตรวจคัดกรองทุกราย ถ้าหากบ้านมีผู้อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ก็ให้มาอยู่ที่ที่ว่าการอำเภอ มีระบบคัดกรองที่จัดเตรียมพร้อม มีม้าเร็วจัดการในพื้นที่ เราเข้มงวดมาก ทุกบ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีรายงานผ่านทางไลน์ โทรศัพท์ติดต่อกันโดยตลอด”

          ด้านการสื่อสารหลักนั้นพี่น้องประชาชนเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและนำไปปฏิบัติตาม มีการกระจายเสียงตามสายตามมัสยิด 22 แห่งที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ครอบคลุมทั้งตำบล หมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีรถแห่ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านช่วยกันประชาสัมพันธ์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องจ้าง แต่ขอรับบริจาคช่วยเป็นค่าน้ำมัน ป้ายโฆษณาเขาก็ทำกันเอง รถที่ใช้ก็เป็นรถส่วนตัวของชาวบ้านที่ใช้ทำงาน หลังเลิกงานก็นำมาใช้ในการแห่ไปตลาดย่านชุมชนเพื่อให้ความรู้ ปรากฏว่าได้ผลดีเพราะทุกคนจะได้ยินและนำไปปฏิบัติ “รถแห่เป็นการบังคับให้ฟัง ยังไงก็ได้ยินตลอด กลายเป็นช่องทางหลักอีกทางหนึ่งด้วย”

          ขณะนี้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้องหยุดการเรียนการสอน แม้จะยังไม่มีคำสั่งจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าเราเปิดศูนย์เมื่อเกิดอะไรขึ้นน่ายกฯ จะต้องรับผิดชอบทุกปัญหา ดังนั้นเราต้องป้องกันไว้ก่อน ที่ผ่านมาศูนย์เด็กเล็กเป็นช่องทางที่ช่วยดูแลเด็ก พ่อแม่ไปทำงานได้ แต่ในช่วงที่ปิดศูนย์ฯ ครูยังต้องมาทำงานตามปกติ จัดเตรียมเอกสารการสอน งานทางด้านธุรการต่างๆ อบต.ออกไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.มี 3 ทีม ประสานงานกับ รพ.สต.โดยไม่ต้องว่าจ้าง ด้วยการใช้คนงานรถขนขยะทำงานตั้งแต่ 3 ทุ่ม-ตี 4 เราดึงคนงานมาทำงานในช่วงเที่ยงเป็นเรื่องการบริหารจัดการ ขณะเดียวกันครูยังต้องจัดเตรียมอาหารกลางวันให้นักเรียนแม้จะปิดศูนย์เด็กเล็ก โดยมีแม่บ้านคอยดูแล ให้ผู้ปกครองมารับอาหารกลางวันไปให้เด็ก หรือในบางรายไม่สะดวกมารับเอง ทางครูก็ดำเนินการให้ ศูนย์เด็กเล็กบางแห่งมีเด็กมากถึงกว่าร้อยคน แต่บางแห่งก็ไม่ถึง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"