สัปดาห์ก่อนผมคุยผ่าน Suthichai Live กับคุณวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร (“ผู้ว่าฯ ปู”) เป็นครั้งแรกหลังจากท่านกลับมาทำงาน
ผมตั้งหลายคำถามที่คนไทยคงอยากได้คำตอบ และนี่คือบางตอนของการสนทนา
ถาม: อยู่โรงพยาบาลทั้งหมดกี่วันกี่เดือนครับ
ตอบ: อยู่ศิริราช 3 เดือนกับ 2 วันครับ แต่ครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 42 วันที่ไม่รู้สึกตัวเลย บางช่วงอาจรู้สึกตัวบ้าง สัก 10% ที่มันสะลึมสะลือ ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว
ถาม: กรณีของผู้ว่าฯ ปูนี่ถือว่าเป็นปาฏิหาริย์ในวงการแพทย์เลยนะครับ
ตอบ: ผมว่าคงมีหลายปัจจัย ข้อหนึ่งคือทีมแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขของศิริราช โดยการนำของอาจารย์ประสิทธิ์ (วัฒนาภา) ได้ทุ่มเทและดูแลกันอย่างเต็มที่
นั่นเป็นดัชนีว่าอะไรก็สู้ความพยายามไม่ได้
ข้อสองก็ต้องยอมรับว่าเรื่องกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ทั้งจากคนในครอบครัวและจากคนสมุทรสาครและคนไทยทั้งประเทศ
เช่นคำว่า “ทำกายภาพ” นี่ ถ้าเป็นคนธรรมดาก็ออกกำลังกาย แต่สำหรับคนใกล้ตายเขาเรียก “ทำกายภาพ”
การทำกายภาพต้องทำอย่างต่อเนื่อง และสิ่งเหล่านี้จะทำได้ต้องมีแรงผลักดันและแรงจูงใจ โดยเฉพาะจากครอบครัว
ถาม: ตอนที่แย่ที่สุดบอกตัวเองว่าอย่างไรครับ
ตอบ: มันเป็นช่วงที่ผมคิดว่าเราไม่น่าจะมีชีวิตรอดกลับมาได้ ในใจตนเองขณะนั้นบอกตัวเองว่ามันเหมือนเป็นวาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว...คิดว่าไม่น่าจะรอด มีความรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในท้องน้ำ ในความคิดคำนึงช่วงนั้น เหมือนเรารักษาตัวอยู่ในน้ำ แต่เหมือนไม่รอด และมีคนมาช่วยต่อชะตา ต่อชีวิต ความคิดเป็นอย่างนั้น
ถาม: ตอนนี้ปอดทำงานได้ 100% หรือยังครับ
ตอบ: ยังครับ คุณหมอนิธิพัฒน์ (เจียรกุล) ดูแล้วบอกว่าน่าจะทำงานที่ 70% ซึ่งก็ดีแล้วครับเพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะกลับคืนมา 100%
สิ่งที่ผ่านมามันเหมือนเครื่องยนต์ชำรุด ปะผุ พ่นสีใหม่
ถาม: ผมฟังท่านผู้ว่าฯ พูดอยู่นี่เสียงยังมีพลังไม่เปลี่ยนเลยครับ
ตอบ: ผมต้องขอบคุณทีมคุณหมอประสิทธิ์และคุณหมอนิธิพัฒน์ครับ และหมอกับพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราชที่ดูแลผมเป็นอย่างดียิ่งเลยครับ
ถาม: ประสบการณ์ครั้งนี้ของผู้ว่าฯ ปูทำให้อยากบอกอะไรกับคนไทยทั้งหลายครับ
ตอบ: ถ้าเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เราจะสามารถฝ่าข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน ต้องลืมความขัดแย้งทั้งหลายเอาไว้ก่อน รวมพลังกันทุกฝ่าย เราจะเกิดกำลังใจมหาศาลและเราจะสู้ได้
สมุทรสาครเป็นตัวอย่างที่สำคัญ ถ้าเราสามารถทำให้โรงพยาบาลสนามเกิดผลอย่างจริงจัง สามารถแยกคนที่ติดเชื้อกับคนที่ไม่ติดเชื้อได้ อย่าให้เกิดสภาพเตียงไม่มี คนต้องรอเตียงจนบางคนต้องตาย อย่างนี้ต้องอย่าให้เกิด เพราะถ้าเราทำไม่ได้ มันก็จะระบาดไปอีกเท่าไหร่ก็ไม่รู้
ยิ่งเราสามารถแยกได้ไวเท่าไหร่ก็จะยิ่งลดความสูญเสียได้เท่านั้น
ถ้าเราสามารถร่วมมือกันทำให้เกิดขึ้นได้ เราก็จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้
ถาม: ผมอ่านเจอท่านผู้ว่าฯ โพสต์ข้อความขึ้นเฟซบุ๊กว่า ความไม่ปกติของบ้านเมืองทำให้เห็นธาตุแท้ของคน บางคนทำงานหนัก แต่บางคนยังบอกว่า “หนักไม่พอ” ขอแค่ให้ตัวเองดูดี ไม่ดีก็ช่างมัน ท่านผู้ว่าฯ อึดอัดหงุดหงิดเรื่องอะไรหรือครับ
ตอบ: ส่วนหนึ่งก็สงสารหลายคนโดยเฉพาะที่สมุทรสาคร คนที่ประสบปัญหาโควิดนั้นไม่ใช่เพิ่งเกิด ก่อนคลัสเตอร์ทองหล่อก็ที่ตลาดกุ้ง มันจึงมีผลกระทบมาค่อนข้างยาวนาน
คนมีอาชีพด้านสถานบันเทิงเป็นต้น ผมไม่นับถึงเจ้าของหรอกเพราะส่วนใหญ่ก็จะมีฐานะ มีเงินหน่อย แต่คนที่ทำงานเช่น เจ้าหน้าที่ เด็กเสิร์ฟ นักดนตรี นักร้อง หรือแม่ครัว และอะไรต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบมาหลายเดือนแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเจอปัญหา เห็นอย่างนั้นแล้วก็สงสารเขา สงสารคนที่ได้รับผลกระทบมา
ส่วนคนที่ทำหน้าที่รักษาพยาบาลก็เหนื่อยมาก สายตัวแทบขาด ทำงานอยู่ในชุดพีพีอี ขนาดเราใส่หน้ากากยังอึดอัดเลย แต่พวกเขาต้องอยู่ในชุดอย่างนั้นยิ่งเหนื่อยขึ้นไปใหญ่
ดังนั้น ตอนนี้ผมจึงไม่อยากให้เราต่อว่าต่อขานกัน คนนี้ว่าคนนั้นไม่ดี คนนั้นบอกคนนี้ไม่ได้ เพราะทุกคนก็หนักกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันมีอยู่อย่างเดียว คือเราต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เป็นพลังทางบวกให้กันและกัน
อย่าไปตำหนิใครเลย พูดง่ายๆ ว่าคนประสบความทุกข์ยากมันมีเยอะ
ถ้าสมุทรสาครอยู่รอดได้ แต่อีก 70 กว่าจังหวัดอยู่รอดไม่ได้ สมุทรสาครก็อยู่รอดไม่ได้เช่นกัน
วันนี้เราคนไทยต้องเสียสละ เสียสละความเจ็บปวด เก็บคำตำหนิเอาไว้ก่อน มาเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันดีกว่า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |