เพิ่มพื้นที่สีเขียวจากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ตัวช่วยป้องกันโรคขาดธรรมชาติในเด็ก
-----------------------------------------------------------------------------------
“โรคขาดธรรมชาติในเด็ก” ถือเป็นโรคที่หลายคนสงสัยว่ามีอยู่จริงหรือไม่ และอาการของโรคเป็นอย่างไร สอดคล้องกับปัจจุบันนั้นเด็กในยุคโซเชียลที่มักจะเติมเกมและมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือไม่ชอบขยับตัว รวมถึงการที่ผู้ปกครองมักจะส่งเสริมให้ลูกเล็กทำกิจกรรมอยู่ในบ้าน ไม่ได้ออกมาวิ่งเล่นนอกบ้าน ส่วนหนึ่งเพราะกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดและฝุ่นควันพิษต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูกน้อย
ในงานเสวนา “Children & Nature-deficit Disorder เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ” ที่จัดขึ้นภายใต้งาน “การประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2564” จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล เมื่อเร็วๆ นี้ “รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์” ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล และอาจารย์ประจำสถาบันฯ ระบุว่า
“ผู้ปกครองมักจะถูกบังคับให้เด็กเรียนหนักเกินไป หรือเข้าเรียนก่อนวัยอันควร ประกอบกับพ่อแม่ทำงานหนัก กระทั่งไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก ส่วนหนึ่งจึงทำให้เด็กไม่ได้ออกมาวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น หรือทำกิจกรรมอยู่ภายในบ้านเพียงอย่างเดียว กระทั่งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กยุคใหม่นั้น โดยเฉพาะอัตราส่วนของต้นไม้เริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่าง กทม. ที่ปัจจุบันอัตราส่วนของต้นไม้น้อยกว่า 5 ตารางเมตร รวมถึงจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองกรุงที่แออัด ปัจจุบันพุ่งสูงเป็น 3-5 ล้านคน ปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลให้เด็กออกไปใช้เวลาเล่นนอกบ้าน หรือในสนามเด็กเล่นได้น้อยลง"
ด้าน “อ.ธาม เชื้อสถาปนศิริ” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายขับเคลื่อนนโยบายและสื่อสารสาธารณะ ม.มหิดล ให้ข้อมูลว่า เราเคยได้ยินโรคขาดธรรมชาติในเด็ก เมื่อประมาณ 8 ปีก่อน ซึ่งเป็นเนื้อหาในหนังสือเรื่องเด็กคนสุดท้ายในป่า ของนักเขียนต่างประเทศ ทั้งนี้ เมื่อเราได้ยินชื่อโรคดังกล่าวในเด็ก ก็ทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าโรคนี้จริงหรือไม่อย่างไร เนื่องจากยังไม่มีการประกาศเกี่ยวกับโรคขาดธรรมชาติในเด็กอย่างเป็นทางการในรอบ 13 ปี กระทั่งเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าโรคขาดธรรมชาติในเด็กนั้นมีอยู่จริง และเป็นโรคติดเกมนั่นเอง
“สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายๆ ด้าน เช่น การที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กระทั่งภาวะโลกร้อนขึ้น ก็ทำให้เด็กอยู่ในห้องแอร์มากขึ้น นั่นจะทำให้เด็กมักชอบเล่นอยู่กับที่ ประกอบกับเด็กยุคใหม่จะเรียนรู้โลก ผ่านสื่อทีวี สื่อดิจิทัล สื่อออนไลน์ นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่อยากออกไปข้างนอก ทั้งนี้ จุดเด่นของธรรมชาติ หรือการที่เด็กได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ คือการที่ทำให้เด็กมีพลัง และมีความมั่นใจ ซึ่งต่างจากเทคโนโลยีที่ทำไม่ได้ ที่สำคัญธรรมชาติจะทำให้เด็กเรียนรู้โลก จากการเรียนรู้ในตัวเอง เรียกได้ว่าธรรมชาติเป็นสถาปนิกที่สร้างเด็กให้แข็งแรง"
โดยสรุปแล้วโรคขาดธรรมชาติในเด็กนั้น ประกอบด้วยเหตุผล 3 ประการ อันที่ 1 คือความกลัวของพ่อแม่ที่ไม่อยากให้ลูกออกไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เนื่องจากปัญหาฝุ่นควันพิษจิ๋ว โรคติดต่อต่างๆ 2.คือเรื่องของความกลัว ที่ทำให้ไม่กล้าออกไปข้างนอก 3.ความน่าหลงใหลของเทคโนโลยี ที่ทำให้ลูกอยู่ในร่มหรือในอาคารบ้านเรือน ไม่ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน อีกทั้งการที่คนยุคใหม่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้คนกลัวการออกไปนอกบ้าน เพราะได้รับข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับความโหดร้ายต่างๆ ซึ่งนั่นไม่เพียงทำให้เด็กเป็นโรคอ้วน แต่ยังเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในบางประเทศที่มีอากาศหนาวจัดเป็นเวลานานๆ และประชากรใช้เวลาอยู่ในบ้าน พร้อมกับการเล่นโซเชียลติดต่อกัน นอกจากนี้ของเล่นพลาสติกก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กชอบทำกิจกรรมในร่มเช่นกัน
“ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร” อาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาสมองของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เริ่มจาก 1.พัฒนาการของสมองที่เป็นไปตามพัฒนาการของมนุษย์ ที่เกิดจากการวิ่ง เดิน พูดคุย เมื่อถึงวัยที่เหมาะสมของเด็ก โดยเฉพาะการที่เด็กได้เล่น ได้คลาน ดังนั้นการที่เด็กมีพื้นที่ได้วิ่งเล่นหรือได้คลาน ก็ทำให้สมองเกิดการพัฒนาได้ด้วยตัวเองอย่างง่ายดาย 2.พัฒนาการของสมองที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่จัดให้ หรือการเพิ่มประสิทธิภาพของสมอง เพื่อให้มีความสามารถ กระทั่งเกิดเป็นทักษะของสมอง เช่น การเล่นเปียโน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น
“ทั้งนี้ ความแตกต่างของการพัฒนาสมองทั้ง 2 เรื่องนั้น โดยเฉพาะการพัฒนาของสมองแบบที่ 1 เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามา ดังนั้นหากผู้ปกครองเสริมสร้างประสบการณ์ที่เหมาะสมให้ลูกน้อย ก็จะทำให้เขาสามารถเดินและพูดคุยได้อย่างง่ายดายและเป็นธรรมชาติ แต่การพัฒนาของสมองแบบที่ 2 นั้น เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองจะต้องจัดสรรให้ลูกหลาน เช่น การเล่นเปียโน ซึ่งจะต้องใช้ทั้งความพยายามของพ่อแม่และตัวเด็กเองในการจัดหากิจกรรมที่สร้างสรรค์ ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กเข้าใจ เรียนรู้ และเผชิญปัญหาอุปสรรคได้ ตลอดจนการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อีกทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้อื่นเช่นกัน
จากข้อมูลในช่วงปี 2558-2559 ขององค์กรยูนิเซฟ พบว่าประชากรใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูง คิดเป็นร้อยละ 50.9 และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นร้อยละ 67% ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นร้อยละ 24.2% ข้อมูลที่เกิดขึ้นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเด็กขาดโอกาสการเล่นในสนามเด็กเล่นมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้กับลูก เพราะต้องทำงานหนัก จึงทำให้เด็กเล่นอยู่ในบ้านกับอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ทั้งนี้ แม้ว่าจะไม่สามารถเลี่ยงปัจจัยดังกล่าวที่อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กได้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งที่ต้องอยู่คือความเป็นมนุษย์ของเรา พูดง่ายๆ ว่าเด็กต้องการสายลม แสงแดด ธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างให้เป็นมนุษย์ที่แข็งแรงและสมบรูณ์แบบ เพราะการที่เด็กถูกเลี้ยงดูท่ามกลางสื่ออิเล็กทรอนิกส์และโซเชียลนั้น จะทำให้เขารู้จักแต่วิชาการ แต่ไม่รู้จักตัวเอง ดังนั้นการคืนพื้นที่ธรรมชาติให้เด็กได้วิ่งเล่นเป็นสิ่งที่ดี”
ปิดท้ายกันที่ “ผศ.ดร.สาวิตรี ทยานศิลป์” อาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กกับสังคมผู้สูงวัย โดยเฉพาะการดึงเอาศักยภาพของคุณตาคุณยายมาช่วยเลี้ยงดูบุตรหลาน เพื่อป้องกันโรคขาดธรรมชาติไว้น่าสนใจ ท่ามกลางข้อสงสัยที่หลายคนอาจมองว่า การที่ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงหลานนั้น จะยิ่งทำให้เด็กเป็นโรคขาดธรรมชาติหรือไม่ เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะตามใจลูกหลาน แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้นั้นเราต้องเข้าใจคนชราว่า บางครั้งเมื่อสภาพร่างกายของท่านเปลี่ยนแปลงไป นั่นจึงทำให้ผู้สูงอายุทำสิ่งต่างๆ ได้ช้าลง แต่เด็กเล็กค่อนข้างจะแอคทีฟ ดังนั้นในเคสลักษณะนี้ เมื่อเด็กอยู่กับผู้สูงวัย ท่านก็อาจจะให้เด็กเล่นมือถือหรือแท็บเล็ต ซึ่งก็อาจทำให้เด็กขาดธรรมชาติ ดังนั้นคุณตาคุณยายก็สามารถใช้วิธีการให้เด็กพักหรือหยุดเล่นมือถือ และหันไปทำงานบ้านที่ได้มอบหมายไว้ให้ เป็นต้น หรือแม้แต่บ้านที่อยู่ในเมืองและมีธรรมชาติรอบตัวที่ค่อนข้างน้อย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงธรรมชาติและวิ่งเล่นในสนามได้น้อยลงเช่นกัน
“แต่ถ้ามองในทางบวกนั้น ปู่ย่าตายายก็เป็นผู้ที่สร้างโอกาสให้เด็กได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะบ้านไหนที่ให้ผู้สูงอายุเลี้ยงหลาน เพราะการที่คนชราชอบอะไร เด็กก็มักจะชอบทำกิจกรรมดังกล่าวเช่นกัน เช่น ผู้สูงอายุที่ชอบปลูกผักทำสวน เด็กจะก็ใช้เวลาช่วงนี้ไปช่วยปู่ย่าตายายทำสวน หรือให้หลานๆ ไปช่วยรดน้ำต้นไม้ ช่วยปลูกผัก พรวนดิน กิจกรรมเหล่านี้ก็สามารถช่วยเสริมสร้างและป้องกันเด็กเป็นโรคขาดธรรมชาติได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้เมื่อปู่ย่าตายายช่วยดูแลบุตรหลาน แต่ในบทบาทของคนเป็นลูก ก็ต้องไม่ทอดทิ้งพ่อแม่ โดยการช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องที่ช่วยได้ หรือการที่ภาครัฐดึงผู้สูงวัยเข้ามาร่วมอบรม “ปู่ย่าตายายวัยเก๋าไม่เก่าเกม” ก็จะทำให้มีความรู้ในการดูแลเด็กอย่างถูกต้อง ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย ด้วยการทำกิจกรรมท่ามกลางธรรมชาติ อย่างการปลูกผักทำสวน หรือให้เด็กได้วิ่งเล่นตามธรรมชาติ เป็นต้น หรือแม้แต่การดูแลด้านจิตใจ โดยดึงเอาประสบการณ์หรือความรู้เก่ามาผสานกับความรู้ใหม่ๆ อย่างเทคโนโลยีหรือไอทีในการเลี้ยงดูบุตรหลาน”.
/////////////////////////////////////////////////////////////////////
ใช้พื้นที่สีเขียวที่มี-สำรวจต้นไม้รอบบ้าน...ปลูกฝังเด็กอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ
อีกปัจจัยหนึ่งโดยเฉพาะบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เมือง ซึ่งมักจะมีพื้นที่สีเขียวน้อย เช่น หมู่บ้านจัดสรร กระทั่งห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นพื้นที่ของคนที่มีรายได้ปานกลาง หรือรายได้น้อยไปใช้บริการ หรือแม้แต่โรงเรียนใกล้บ้าน ที่มีสนามหญ้าสีเขียวอยู่แล้ว พื้นที่ดังกล่าวสามารถช่วยป้องกันเด็กไม่ให้เป็นโรคขาดธรรมชาติได้เช่นกัน
ผศ.ดร.สาวิตรี ให้ข้อมูลว่า “เนื่องจากพื้นที่บ้านจัดสรรที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองมักจะมีพื้นที่บ้านเต็มๆ ก็อาจต้องมีสวนสาธารณะใกล้บ้าน หรือทำสวนสาธารณะขนาดย่อมไว้ให้คนในหมู่บ้านได้ใช้บริการ แต่สำหรับกลุ่มคนชั้นกลางและคนระดับล่างที่มีรายได้น้อย ตรงนี้อาจสร้างพื้นที่สีเขียวภายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนทั้งสองกลุ่มไปใช้บริการ โดยจัดให้เป็นมุมสีเขียวเล็กๆ หรือมีโซนต้นไม้สวยงามไว้ให้นั่งพักผ่อน หรือแม้แต่การสร้างสวนสาธารณะหรือสวนหย่อม ไม่จำเป็นต้องใหญ่โต แต่สร้างสวนสาธารณะขนาดเล็ก พยายามให้กระจายไปในหลายพื้นที่ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งก็เห็นความพยายามที่จะทำอยู่ ในลักษณะของสวนสาธารณะที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งตรงนี้จะทำให้สร้างสวนสาธารณะได้ค่อนข้างน้อย
ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้สร้างสวนสีเขียวแบบย่อมๆ และกระจายไปในหลายพื้นที่ก็จะดีที่สุด และการที่เราสร้างสวนย่อมหรือพื้นที่สาธารณะขนาดเล็กใกล้บ้าน ก็จะทำให้ปู่ย่าตายายพาลูกหลานไปวิ่งเล่นในสนามได้ หรือโรงเรียนซึ่งมีพื้นที่สนามเด็กเล่นอยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ควรให้บริการในลักษณะเปิดช่วงหลักเลิกเรียน คือตั้งแต่ 4 -6 โมงเย็น ให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงไปใช้บริการ หรือแม้แต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้เช่นเดียวกัน
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองท่านใดที่ต้องการปรับทัศนคติในการเลี้ยงลูกในร่ม เพราะความกลัวกังวลเกี่ยวโรคระบาด และการเล่นในธรรมชาติมีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพ ซึ่งอันที่จริงแล้วการเล่นนอกบ้าน เช่น วิ่งเล่นในสนามหญ้า จะทำให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการเซฟตัวเอง ซึ่งบางครั้งเด็กอาจจะล้มและได้รับบาดเจ็บ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นประสบการณ์ และต่อมาเด็กก็จะรู้จักการเซฟตัวเองได้ ดังนั้นผู้ปกครองควรให้เด็กออกไปเล่นนอกบ้านซึ่งมีพื้นที่สีเขียวล้อมรอบ หรือหากพ่อแม่ทำงานมาเหนื่อย และให้ลูกเล่นมือถือ แนะนำว่าให้ลองเปลี่ยนมาเล่นบอร์ดเกม หรือเกมที่ต้องเล่นผ่านกระดาษ ซึ่งเป็นการฝึกความรู้และเดาใจผู้อื่น ซึ่งจะสอนการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจ ซึ่งจะดีกว่าการให้บุตรหลานเล่นเกมในมือถือ หรือหากไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือไม่สามารถออกไปเล่นในสนามได้จริงๆ ตรงนี้เด็กไม่จำเป็นต้องอยู่กับธรรมชาติเสมอไป แต่แนะนำให้ผู้ปกครองเอาสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เช่น หุ่นสัตว์ หรือโมเดลสัตว์ หรือเอาต้นไม้ใบใหญ่ที่ปลูกไว้รอบบ้าน มาสอนให้เด็กๆ เรียนรู้ธรรมชาติ เช่น การเก็บใบไม้ชนิดต่างๆมา และสอนเด็กๆ ว่านี่คือใบต้นแก้ว นี่คือใบมะม่วง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะสามารถทำให้เด็กซับซึมและเรียนการอยู่ท่ามกลางชาติ รู้จักการปกป้องและมีเมตตาต่อสัตว์ โดยไม่ขาดธรรมชาติได้เช่นกัน และในวันหยุดพ่อแม่ค่อยพาลูกหลานไปชมธรรมชาติ เพื่อเสริมการอยู่กับธรรมชาติก็ได้เช่นกัน”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |