'แก้วสรร'แพร่บทความ'คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดี ร.อ.ธรรมนัส : ใหม่ที่นี่ - เก่าที่อื่น? '


เพิ่มเพื่อน    

7 พ.ค.64 - นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความ เรื่อง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดี ร.อ.ธรรมนัส : ใหม่ที่นี่ - เก่าที่อื่น ? ผ่านเว็บไซต์ไทยโพสต์ มีเนื้อหาดังนี้                                                                    

ถาม    อาจารย์ไปเอาคำ “ใหม่ที่นี่ เก่าที่อื่น ” มาจากไหน
ตอบ    เป็นคำที่อาโกเวลาเชียร์แขกขึ้นห้องกับผู้หญิง เขาก็มักจะรับรองว่า “ใหม่มากๆ ”  แขกก็จะแซวกลับว่า “ใหม่ที่นี่ แต่เก่าที่อื่น” คือย้ายมาจากซ่องอื่นหรือเปล่า  คำพิพากษาคดี รอ.ธรรมนัส ก็โดนแซวอย่างนี้เหมือนกัน

ถาม    แซวอย่างนี้ ได้ยังไง ครับ
ตอบ    คือเขาคิดว่า ถ้าใครถูกฟ้องอาญา และได้ต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมจนยุติ แล้วโดนพิพากษาลงโทษนั้น  เพียงเท่านี้มันก็แสดงว่ามีคุณสมบัติไว้วางใจให้ดูแลบ้านเมืองไม่ได้แล้ว   ส่วนจะถูกตัดสินโดยศาลออสเตรเลียหรือศาลไทยนั้น  ฝ่ายนี้เขาก็เห็นว่าไม่สำคัญ  เหมือนกับว่าถ้าหญิงบริการผู้ใดเก่าเป็นปีแล้ว  ก็ต้องถือว่า “เก่า”ตลอดไปไม่ว่าจะอยู่ซ่องไหนก็ตามนั่นเอง  

ถาม    พอศาลรัฐธรรมนูญไทยมาวินิจฉัยว่าต้องให้ศาลไทยตัดสินเท่านั้น  ก็เลยถูกแซวเป็นอาโกไปเลย
ตอบ    มันเป็นแค่ตัวอย่างที่ใกล้ตัวเท่านั้น  ไม่ได้เจตนาลบหลู่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ จริงๆแล้ว มันเป็นความเห็นต่างในการตีความกฎหมายเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญท่านก็มีเหตุผลของท่านอยู่นะครับ

ถาม    มีเหตุผลที่ตรงไหน
ตอบ   ท่านเริ่มจากการมองว่า  เรื่องขาดคุณสมบัตินักการเมืองเพราะต้องคำพิพากษาลงโทษอาญานี้   มันเป็นการรับเอาคำพิพากษาต่างประเทศเข้ามามีผลบังคับในระบบกฎหมายของเรา   ซึ่งมันทำไม่ได้เพราะคำพิพากษานี้เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น ศาลใครก็ศาลมัน คำพิพากษาใครก็คำพิพากษามัน  รัฐไทยจะไปยอมผูกพันด้วยไม่ได้  

ถาม    แล้วฝ่ายค้านเห็นต่างอย่างไร
ตอบ   ผมอยู่ฝ่ายนี้ ผมมองว่าคดีนี้เป็นเพียงการวางมาตรฐานความไว้วางใจของสังคมไทยด้วยกฎหมายไทยเองเท่านั้นว่า  ถ้ามีคนโดนคำพิพากษาต่างประเทศลงโทษมาอย่างนี้   มันเพียงพอที่รัฐธรรมนูญไทยจะไม่ไว้วางใจหรือไม่     ซึ่งจะให้คำตอบอย่างไรก็เป็นอิสระตามดุลพินิจของเรา  หาใช่การยอมรับหรือไม่ยอมรับอำนาจรัฐอื่นแต่อย่างใดไม่  

ถาม    ข้อห้ามที่ตัดสิทธิบุคคลนี่  จะตีความขยายกันได้ตามชอบเลยหรือครับ
ตอบ    สิทธิเป็น สส. หรือเป็นรัฐมนตรีนี่ ไม่มีในกฎหมายไทยนะครับ   เรามีสิทธิ์ที่จะกำหนดได้ตามเหตุที่เห็นสมควร  จะโดยเขียนเป็นกฎหมายให้ชัดเจนเลยก็ได้หรือโดยการตีความของศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

ถาม    ถ้าเดินมาทางนี้   แล้วผมโดนศาลเขมรลงโทษฐานรุกล้ำพรมแดน แบบ คุณพนิต  สส.ประชาธิปัตย์ อย่างนี้ก็ต้องพ้น สส.พ้นรัฐมนตรีด้วยหรือครับ
ตอบ   คงเตลิดไปอย่างนั้นไม่ได้  ตรงจุดนี้ต้องถือเป็นช่องว่างทางกฎหมาย  ที่สามารถหาคำตอบจากการเทียบเคียงบทกฎหมายไทยต่างๆได้  ซึ่งเมื่อเทียบดูแล้ว ก็พบแนวทางที่เทียบเคียงจากประมวลกฎหมายอาญาได้ว่า
ความผิดนอกราชอาณาจักรนั้น กฎหมายไทยจะเอาเรื่องด้วยอำนาจอาญาก็แต่เฉพาะความผิดสำคัญๆ ที่เป็นอาญาแท้ๆเท่านั้น  เรื่องลอบเข้าเมือง แบบ สส.พนิต หรือหนีภาษี,ขับรถไม่มีใบอนุญาต, บุกรุกอุทยานฯลฯ เหล่านี้ แม้ถึงจำคุกได้แต่มันไม่ใช่อาญาแท้ เป็นเรื่องผิดเพราะกฎหมายห้ามเท่านั้น ที่กฎหมายอาญาไทยไม่ควรไปสนใจ  แนวทางตามกฎหมายอาญาที่กล่าวมานี้นี่เอง  ที่กฎหมายคุณสมบัตินักการเมืองของไทยก็ควรจะเทียบเคียงนำมาใช้อุดช่องว่างได้

ถาม    คดีคุณธรรมนัส เป็นคดียาเสพติด กฎหมายอาญาไทยเอาเรื่องข้ามประเทศได้ไหม
ตอบ   กฎหมายอาญาเราเอาเรื่องคดียาเสพติดเฉพาะที่เป็นการค้าคือนำเข้าและจำหน่ายเท่านั้นครับ ถ้าเป็นครอบครองหรือเสพเราไม่ยุ่ง  ตรงนี้ถ้าจะอุดช่องว่างในคดีรัฐธรรมนูญตามแนวทางกฎหมายอาญาอย่างเช่นที่กล่าวมา ศาลรัฐธรรมนูญไทยต้องหาทางเอาสำเนาคำพิพากษาศาลออสเตรเลียมาเข้าสำนวนให้ได้ว่า คำพิพากษานี้ตัดสินลงโทษฐานใดกันแน่   

ถาม    ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญท่านได้หมายเรียกสำเนาคำพิพากษาจากคู่ความและปลัดกระทรวงต่างประเทศแล้วนี่ครับ แต่ไม่มีใครส่งให้เลย
ตอบ    ผมว่าถึงจุดนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจ ออกหมายให้ทางการไทยขอตรงจากทางการออสเตรเลีย  โดยอ้างความผูกพันตามอนุสัญญาปราบปรามการค้ายาเสพติดประกอบไปด้วยได้เลย  เพราะทั้งเราและเขาเป็นสมาชิกด้วยกันทั้งคู่ ถ้าออสเตรเลียไม่ให้ เขาจะตกที่นั่งไม่เคารพอนุสัญญาไปในทันที  

ถาม    ด้วยแนวทางการใช้กฎหมายที่เห็นต่างกับศาลเช่นที่ลำดับมานี้  ก็เพียงพอที่จะวินิจฉัยให้ ร.อ.ธรรมนัส พ้นตำแหน่ง สส.และรัฐมนตรีได้แล้วใช่ไหม
ตอบ    ถ้าตีความแล้วอุดช่องว่างอย่างนี้ กฎหมายก็เปิดทางครบถ้วนแล้วครับ  เหลือแต่คำตอบทางข้อเท็จจริงต่อไปเท่านั้นว่า  ศาลออสเตรเลียลงโทษตามกฎหมายยาเสพติดฐานใด ใช่ฐานค้ายาคือนำเข้าและจำหน่ายหรือไม่

ถาม    ท้ายที่สุดนี้ เราจะมองความแตกต่างทางความคิดเห็น ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น อย่างไรครับ
ตอบ    สองแนวทางนี้ใช้กฎหมายด้วยนิติวิธีที่ต่างกัน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอในทางนิติศาสตร์แต่ศาลท่านมีอำนาจตามกฎหมายเราก็ต้องยอมรับยุติตามที่ท่านวินิจฉัย

ถาม    มีความเห็นเสนอว่า ยังมีช่องทางร้องให้ ปปช.วินิจฉัยว่า เป็นเรื่องขัดจริยธรรมอย่างร้ายแรงแล้วส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง สส.และรัฐมนตรีได้
ตอบ    ผมว่าช่องทางนี้เดินไม่ได้นะครับ  เพราะการกระทำผิดที่จะกล่าวหากันนั้น มันไม่ได้เกิดขึ้นในขณะดำรงตำแหน่งแต่อย่างใด มันเกิดเป็นคดีมานานกว่า ๓๐ ปีแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่

ถาม    สรุปแล้วคดีไม่มีทางไปทางไหนได้อีก
ตอบ   อำนาจตรวจสอบของศาลและองค์กรอิสระไม่มีแล้ว     ไม่รู้จะร้องใครได้แล้ว เหลือแต่อำนาจของผู้รับผิดชอบทางการเมืองเท่านั้น

ถาม    เขาทำอะไรได้หรือครับ
ตอบ   ตัวนายกรัฐมนตรีเองนั้น มีอำนาจหน้าที่สอบสวนในทางบริหารอยู่แล้วเพราะเป็นคดียาเสพติด ที่มีระเบียบสำนักนายกฯ กำหนดเป็นหน้าที่ผู้บังคับบัญชาไว้ชัดเจนว่าอยู่เฉยไม่ได้  ถ้าสอบแล้วได้ความว่าเป็นคำพิพากษาลงโทษฐานค้ายา  ตรงนี้นายกฯก็ต้องปรับบุคคลนี้ออกจากรัฐมนตรี  ส่วนพรรคต้นสังกัด ก็ต้องมีมติให้พ้นจากพรรคแล้วหลุดจาก สส.ตามไปด้วย ทั้งหมดนี้ทำได้ทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าจะรู้จักถูกผิด รู้จักรับผิดชอบหรือไม่เท่านั้น

เฉยลูกเดียวหรือหลายลูกอย่างนี้มันเริ่มจะรับไม่ไหวกันแล้วนะครับท่านครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"