‘ธรรมนัส’พ้นโทษเกิน5ปี ซัดบรรทัดฐานอาชญากร


เพิ่มเพื่อน    

 "วิษณุ" อ้างความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ถูกพิพากษาจำคุกในหรือต่างประเทศตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมาแล้วไม่ถึง 5 ปี ถือว่าเป็นบุคคลต้องห้าม แต่ "ธรรมนัส" พ้นโทษมาเกิน 5 ปีแล้ว "ธนาธร" สับแหลก เป็นบรรทัดฐานอาชญากร นักโทษ เป็นรัฐมนตรีได้ คณบดีนิติฯ มธ.-จุฬาฯ ประสานเสียงแย้งศาล รธน.

    เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดพะเยา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส.และรัฐมนตรี แม้ต้องคำพิพากษาในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดจากศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ไม่ใช่ของศาลไทยนั้น ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของศาลพิจารณา และการที่พรรคก้าวไกลจะไปยื่นสอบจริยธรรมต่อก็เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า เคยมีความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกามีคำสั่งว่า หากถูกพิพากษาจำคุกในหรือต่างประเทศตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมาแล้วไม่ถึง 5 ปี ถือว่าเป็นบุคคลต้องห้าม ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. แต่กรณี ร.อ.ธรรมนัส ถูกตัดสินลงโทษจำคุกคดียาเสพติดตั้งแต่ปี 2536 และพ้นโทษเมื่อปี 2540 ถือว่าพ้นโทษมาแล้วเกิน 5 ปี จึงถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย
    เขากล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสมและเรื่องจริยธรรมว่า ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วแต่จะวิจารณ์กัน ส่วนจะยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วินิจฉัยในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ในข้อกฎหมายถือว่าสิ้นสุดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
    "ศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องชี้แจงหรือพูดอะไรเพิ่มเติม เพราะได้วินิจฉัยจบแล้ว ส่วนผลทางวิชาการ ทางการเมือง แล้วแต่จะวิจารณ์กันไป ขณะเดียวกันคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานที่ใช้ได้กับทุกคน เพราะไม่เคยมีคำวินิจฉัยมาก่อน และใช้ได้กับความผิดทุกกรณี ไม่เฉพาะแต่ความผิดคดียาเสพติดอย่างเดียว แต่ไม่ใช่การล้างมลทิน เพราะเป็นเรื่องคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ซึ่งอาจจะมีมลทินก็ได้" นายวิษณุกล่าว
    แต่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า แสดงความเห็นว่า คำวินิจฉัยในวันนี้จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคมไทยใช่หรือไม่ว่า ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรหรือนักโทษมาจากไหน แต่ประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เป็นรัฐมนตรีได้เสมอ ตราบใดที่ไม่ได้ต้องคดีในไทย ถ้าเป็นแบบนี้ ต่อไปพ่อค้ายา พ่อค้าอาวุธทั่วโลกก็คงสามารถเอาเงินจากการก่ออาชญากรรมมาซื้อตำแหน่งรัฐมนตรี กลายเป็นผู้บริหารประเทศไทยได้ใช่หรือไม่ เราจะปล่อยให้ประเทศเป็นแบบนี้จริงๆ หรือ
    "หากเป็นแบบนี้ต่อไป อย่าแปลกใจเลยครับที่คนไทยจำนวนมากจะอยากย้ายประเทศ เพราะไม่มีใครหรอกที่อยากอยู่ในบ้านเมืองที่ไม่มีที่อยู่ให้กับคนมีความสามารถ แต่กลับมีที่ยืนให้กับบุคคลเช่นนี้" ประธานคณะก้าวหน้าระบุ     
    นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลง กมธ.มีมติให้ตรวจสอบ ร.อ.ธรรมนัสเพิ่มเติมกรณีคุณสมบัติรัฐมนตรีที่ต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) จะไปตรวจสอบ 4 ประเด็นคือ 1.กรณีการรับรองสถานะตัวเองก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีการปกปิดไม่บอกข้อมูลการต้องคำพิพากษาถูกศาลออสเตรเลียสั่งจำคุกให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) รับทราบหรือไม่ 2.การลงสมัคร ส.ส.มีการปกปิดข้อมูลเรื่องการต้องคำพิพากษาหรือไม่ 3.การขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต้องมีการรับรองตัวเองเคยต้องคำพิพากษาหรือไม่ 4.กรณีที่ ร.อ.ธรรมนัสเคยทำหนังสือแจ้งข้อมูลต่อ กมธ.ป.ป.ช. เมื่อ 12 ธ.ค.2562 มีข้อมูลใดคลาดเคลื่อนจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ กมธ.จะไปตรวจสอบประเด็นเหล่านี้ เพื่อดูว่ามีการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) หรือไม่
    ขณะที่นักวิชาการ โดย รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า การใช้เหตุผลในเชิงชาตินิยมที่มีน้ำหนักเบาบางเพื่อปิดกั้นคำพิพากษาศาลต่างประเทศ เป็นการละทิ้งโอกาสอย่างน่าเสียดายในการหักล้างข้อสงสัยของสาธารณชนที่มีต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของบทบัญญัติว่าคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรมีคุณสมบัติแบบใด เป็นข้อสงสัยที่ไม่ต้องใช้เหตุผลทางกฎหมายที่ซับซ้อน แต่ใช้เพียงแค่เหตุผลธรรมดาสามัญก็สามารถตอบได้
    ยิ่งเมื่อได้อ่านความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 4) ซึ่งเป็นกลุ่มนักกฎหมายชั้นนำของประเทศที่ได้วินิจฉัยในประเด็นปัญหาเดียวกันเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนว่า ‘ถ้าต้องห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศ ก็จะเกิดการลักลั่นไม่เป็นธรรม และขัดกับเหตุผล’ ยิ่งทำให้ความเคลือบแคลงสงสัยที่มีต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะที่ความเชื่อมั่นศรัทธาของสังคมที่มีต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยยิ่งตกต่ำลงไปเรื่อยๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
    ด้าน ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่า ไม่แปลกใจในผลและเหตุผลที่ยึดการตีความตามตัวอักษร แต่สะท้อนใจที่สองประเด็นนี้มิได้ถูกเอ่ยถึง 1.เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการจะได้บุคคลที่มือสะอาด ปราศจากมลทิน โดยเฉพาะในข้อหาร้ายแรง มาทำหน้าที่ในองค์กรหลักฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร  
    2.ความผิดนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็น Double Criminality (เป็นความผิดของทั้งสองประเทศ และไม่ยากในการที่จะพิสูจน์องค์ประกอบความผิดว่าตรงกันหรือไม่) และความผูกพันและพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อนานาประเทศในการต่อต้านยาเสพติด ที่ยอมรับว่าเป็นความผิดร้ายแรงข้ามชาติและเป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษย์
    รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตคณบดีพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ระบุว่า เป็นอีกครั้งที่เราเห็นการใช้อำนาจรัฐในนามของการตีความกฎหมาย ที่อาจบั่นทอนศีลธรรมและจริยธรรมของสังคมอย่างประมาณไม่ได้ เป็นการวินิจฉัยที่อ้างหลักอำนาจอธิปไตยที่เลื่อนลอย ไม่สอดคล้องกับบริบท แต่ละเลยต่อหลักจริยธรรมของการเป็นผู้บริหารประเทศ.
   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"