6พ.ค.64-นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 กล่าวว่า จากกระแสข่าวการให้ยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อโควิด19 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยถึงข้อกังวลได้มอบให้กรมการแพทย์เร่งชี้แจงแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดให้ชัดเจน ซึ่งกรมการแพทย์ได้ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ศึกษาผลการรักษาโรคโควิดจากการระบาดทั้ง 3 ระลอกรวมทั้งสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน เพื่อกำหนดแนวทางการรักษาและให้ยาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ติดเชื้อให้ดีที่สุด
โดยได้ข้อสรุป ดังนี้ 1.ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการไม่มีโรคร่วมจะยังไม่ให้ยา 2.ผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ แต่มีโรคร่วมหรือมีปัจจัยเสี่ยงนอกเหนือจากการรักษาตามอาการ สามารถให้ยาต้านไวรัสได้ทันทีตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น ผู้ที่มีภาวะอ้วน 3. ผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยและมีความเสี่ยงหรือมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อยให้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ รวมทั้งให้ยาสเตียรอยด์ในรายที่รุนแรงเพื่อช่วยลดอาการรุนแรงจน ซึ่งพบว่าลดการใช้ท่อช่วยหายใจได้มาก และ 4.ผู้ติดเชื้อที่มีอาการปอดอักเสบ ระดับออกซิเจนต่ำกว่า 96% หรือปอดอักเสบรุนแรงให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โลพินาเวียร์ หรือริโทนาเวียร์ และสเตียรอยด์ในรายที่รุนแรง
“เราได้ปรับแนวทางการให้ยาที่เร็วขึ้น เน้นในผู้ติดเชื้อที่มีโรคร่วม และตามดุลยพินิจของแพทย์แต่ไม่หว่านแหให้กับทุกคน เนื่องจากยามีผลข้างเคียงและอาจเกิดเชื้อดื้อยาได้ เพราะผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วมส่วนใหญ่อาการจะไม่เปลี่ยนเป็นกลุ่มสีแดง จึงไม่จำเป็นต้องกินยา” นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับภาวะโรคร่วมหรือปัจจัยเสี่ยงที่สามารถให้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ แม้ไม่มีอาการ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้, ภาวะอ้วน น้ำหนักมากกว่า 90กิโลกรัม, ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ น้อยกว่า 1,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร และภาวะอื่นๆ ที่แพทย์พิจารณาว่าเป็นภาวะเสี่ยง ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ได้กระจายไปทั่วประเทศแล้ว 2 ล้านเม็ด และจะมีเข้ามาอีก 3 ล้านเม็ดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ส่วนอัตราการใช้ยาขณะนี้ประมาณ 50,000 เม็ดต่อวัน ซึ่งจะพอใช้ประมาณ 3 เดือน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขได้สั่งองค์การเภสัชกรรม สำรองยาไว้อีก 2 ล้านเม็ด โดยใน กทม. ได้กระจายยาไปยังโรงพยาบาลทุกเครือข่ายรวมถึง รพ.สนาม และฮอสปิเทลด้วย
ส่วนประเด็นระยะเวลาในการรักษาผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลที่อาจลดลงเหลือ 10 วันนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ติดเชื้อเป็นสำคัญ โดยหลักการให้การรักษาอย่างน้อย 14 วัน หากพื้นที่ใดมีปัญหาด้านการบริหารจัดการเตียง หรือผู้ป่วยได้รับการรักษาจนไม่มีอาการแล้วอย่างน้อย 24 - 48 ชั่วโมง สามารถจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลได้ตั้งแต่วันที่ 10 เป็นต้นไป แต่ขอให้แยกกักตัวเองต่อที่บ้านต่ออีก 4 วัน ทั้งนี้ ให้ปรับตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่