6พ.ค.64-นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวมอบนโยบายในการประชุมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม ตอนหนึ่งว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นการนำร่องการส่งเสริมการบริหารและการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ โดยใช้จังหวัดเป็นฐาน กระจายอำนาจและให้อิสระแก่สถานศึกษานำร่องและหน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัดนั้น ๆ ให้มีความคล่องตัวในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่เน้นการพัฒนากลไกการจัดการศึกษาร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งจะต้องเร่งขับเคลื่อนการดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ตนมองว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว ถือเป็นโอกาสทองของจังหวัดในการจัดการศึกษาตอบโจทย์ผู้เรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน และคนในพื้นที่ โดยสถานศึกษานำร่องและหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้รับโอกาสในการออกแบบ สร้างสิ่งใหม่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และสามารถเป็นตัวอย่าง เป็นโมเดลต้นแบบของการแก้ไขปัญหาระบบการศึกษา จากฐานทุนเดิมที่มี สู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาได้จริง
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันมีจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้งหมด 8 จังหวัด และอนาคตก็จะมีการเปิดรับจังหวัดใหม่ที่มีความพร้อมและเข้มแข็งเข้ามาเพิ่มเติม โดยลักษณะการขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะใช้พื้นที่และจังหวัดเป็นฐาน ผสานจุดแข็งของการทำงานมุ่งเน้น ล่างขึ้นบน (Bottom up) คือ ใช้พื้นที่/จังหวัดเป็นฐาน ปฏิบัติการที่สถานศึกษานำร่อง และสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่นโยบายส่วนกลาง และหนุนเสริมด้วย บนลงล่าง (Top down) คือ หนุนปฏิรูปเชิงพื้นที่โดยฝ่ายนโยบาย ปลดล็อกอุปสรรคเชิงนโยบายเอื้อต่อการจัดการศึกษา โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน/สถานศึกษาเป็นฐาน
อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายของ ศธ. ที่ส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมและผลักดันการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเต็มพิกัด เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมการบริหารและจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ 2.สนับสนุนผู้นำหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัด รวมมือรวมพลังกัน เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 3.ส่งเสริมการทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ให้อิสระแก่สถานศึกษานำร่องในการจัดทำและเลือกใช้หลักสูตรต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษานำร่อง 4.จัดกลุ่มพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ 5.บูรณาการกลไกการขับเคลื่อนนโยบายในระดับกระทรวง
"สุดท้ายนี้ การดำเนินงานตามพ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาฯ เป็นการเอื้อให้หน่วยงานทางการศึกษา สถานศึกษานำร่อง และภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ ได้รวมพลังร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ในหลากหลายประเด็น เช่น ด้านหลักสูตรการสอน การเลือกใช้นวัตกรรม การจัดซื้อหนังสือตำรา เป็นต้น และแม้จะมีกฎหมายจะเปิดช่องทางให้สถานศึกษาสามารถดำเนินการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ได้หลายเรื่อง แต่ไม่ได้เป็นหลักฐานว่าประเทศไทยได้มีการปฏิรูปการศึกษาแล้ว หรือเป็นการรับประกันว่าการปฏิรูปการศึกษาจะประสบผลสำเร็จ เพราะการประกาศใช้พ.ร.บ.นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการวางแนวทางการจัดการใหม่ เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์นวัตกรรมการศึกษาให้ระบบการศึกษาไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมคิด ร่วมออกแบบและจัดการศึกษาเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง เพื่อให้เด็ก เยาวชน คนในพื้นที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา มีคุณภาพการเรียนรู้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่"รมว.ศธ.กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |