ทุ่ม2แสนล.เยียวยา ครม.เคาะแพ็กเกจใหญ่เติมเงิน‘เราชนะ-ม.33-คนละครึ่ง’


เพิ่มเพื่อน    

  “ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นและเยียวยาโควิดล็อตใหญ่ วงเงิน 225,500 ล้านบาท มาครบทั้ง “ปล่อยกู้-เติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-เราชนะ-ม33เรารักกัน-คนละครึ่ง” พร้อมผุดโครงการใหม่ให้ผู้มีฐานะ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” คาดหวังคนมีอันจะกินร่วม 4 ล้านราย ลากยาวมาตรการตั้งแต่ “มิ.ย.-ธ.ค.” ลุงตู่สั่งหน่วยงานเคาะมาตรการระยะสั้นเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า พร้อมหั่น “ค่าไฟ-ค่าน้ำ” 2 เดือน

    เมื่อวันพุธที่ 5 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่ามาตรการระยะที่ 1 มี 3 มาตรการหลักที่ดำเนินการได้ทันที ได้แก่ 1.มาตรการด้านการเงินมี 2 มาตรการ คือมาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน เป็นเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก และมาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยขยายเวลาพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ 2.มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย โดยจะลดค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้าและน้ำประปาของประชาชน และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.2564
และ 3.มาตรการต่อเนื่องด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ประกอบด้วย 2 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท ได้แก่ 1.การเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดการใช้จ่ายในเดือน มิ.ย.2564 วงเงินรวมประมาณ 67,000 ล้านบาท และ 2.การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนโครงการม33เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือน มิ.ย.2564 วงเงินรวม 18,500 ล้านบาท
    “มาตรการระยะที่ 1 นั้น ครม.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการในส่วนของมาตรการด้านการเงินทั้ง 2 เรื่องตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาและไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.แล้ว ส่วนการเพิ่มเงินในโครงการเราชนะและม33เรารักกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการจะเร่งนำเสนอโครงการให้พิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งได้กำหนดให้นำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในสัปดาห์หน้าต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการต่อเนื่องอื่นๆ อีก เช่น การช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยขยายเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดออกไปจนสิ้นปีนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ซึ่งจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ประมาณ 3 ล้านคน รวมทั้งการชดเชยผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ต้องกักตัวหรือต้องหยุดทำงาน
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า นอกจากโครงการระยะสั้นแล้ว รัฐบาลยังได้วางแผนช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องไปอีกถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ ด้วยมาตรการระยะที่ 2 ในช่วงเดือน ก.ค.- ธ.ค.2564 ซึ่งคาดว่าถ้าเราร่วมมือกันเพื่อจำกัดการระบาดเต็มที่ สถานการณ์การระบาดน่าจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่ดำเนินมาตรการในระยะที่ 2 ได้ โดยมาตรการประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก วงเงิน 140,000 ล้านบาท ได้แก่ 1.มาตรการลดภาระค่าครองชีพประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท เวลา 6 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ธ.ค. ครอบคลุมประชาชนประมาณ 13.6 ล้านคน และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท เวลา 6 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.- ธ.ค. ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2.5 ล้านคน
    2.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่ภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เมื่อชำระเงินผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชันเป๋าตังกับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
คลังยันพร้อมคลอดมาตรการดูแล
“มาตรการระยะที่ 2 ทั้ง 4 โครงการข้างต้น จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 51 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถมีโอกาสในการขายสินค้าและบริการได้มากขึ้น ซึ่งมาตรการในระยะที่ 2 นี้ ครม.ได้รับทราบในหลักการและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการเพื่อขออนุมัติจาก ครม.ต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
    ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวถึงรายละเอียดมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ว่า มี 2 มาตรการคือ 1.มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ผ่านออมสินและ ธ.ก.ส. โดยให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน เป็นเวลา 3 ปี โดยปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก และ 2.มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้ขยายเวลาพักชำระหนี้เงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.
“ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ เช่น Non-bank เป็นต้น และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปประสานกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก โดยอาจให้ความสำคัญกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปน้อย ในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป” นายอาคมกล่าว
        นายอาคมกล่าวอีกว่า รัฐบาลยังมีมาตรการด้านการเงินที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ 1.พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม 3.มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ของ ธปท. 4.มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 5.การปรับวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และ 6.การแก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที รวมไปถึงการออกมาตรการเพื่อดูแลและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเมื่อสถานการณ์ต่างๆ ได้คลี่คลายลงในระยะต่อไป” นายอาคมระบุ
    นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานคือค่าไฟฟ้าและน้ำประปา สำหรับค่าไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ดังนี้ กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งไฟฟ้าเดือน เม.ย.2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย. ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ ดังนี้ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย.2564 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย.64 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย.64 ในอัตรา 50% ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย.64 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย.64 ในอัตรา 70% โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิ์ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก ทั้งนี้ มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก กำหนดดำเนินการเป็นเวลา 2 เดือน คือ พ.ค.-มิ.ย.64 ส่วนของค่าน้ำประปา ให้ลดค่าน้ำประปาลง 10% เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน คือ พ.ค.-มิ.ย.64  
ยันมีเงินเพียงพอดูแล
    นายดนุชากล่าวว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบหลักการโครงการม33เรารักกัน ที่จะเพิ่มวงเงินสัปดาห์ละ 1,000 บาท จำนวน 2 สัปดาห์ เวลาการใช้จ่ายถึงวันที่ 30 มิ.ย.64 กรอบวงเงิน 18,500 ล้านบาท โดยจะนำเสนอ ครม.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งโครงการเราชนะและม33 เรารักกัน จะใช้งบประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท ส่วนมาตรการในระยะถัดไป ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเพิ่มค่าครองชีพ 200 บาท 6 เดือน  ก.ค.-ธ.ค.64, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยช่วยเหลือเดือนละ 200 บาท 6 เดือน ก.ค.-ธ.ค.64, โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 วงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 31 ล้านคน, โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ให้ประชาชนไปใช้จ่ายซื้อสินค้า ค่าอาหาร และเครื่องดื่ม ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ในเดือน ส.ค.-ธ.ค.2564  
    นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขอให้ความมั่นใจว่าเงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินที่เตรียมไว้ยังเพียงพอที่จะดูแลประชาชนต่อไป นอกเหนือจากการช่วยเหลือข้างต้นแล้ว ในส่วนการช่วยเหลืออื่นๆ ยังมีอยู่ตลอดเวลา เราจะดูทุกมิติของกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบ
นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวถึงมาตรการลดค่าน้ำประปาว่าประชาชนไม่ต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิแต่อย่างใด
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ สรุปมติ ครม.ว่ามาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วนจะมีกรอบวงเงินรวม 85,500 ล้านบาท โดยโครงการม33เรารักกัน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 9.27 ล้านคน วงเงิน 18,500 ล้านบาท และโครงการเราชนะ มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 32.9 ล้านคน กรอบวงเงิน 67,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการระยะต่อไป เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง มีกรอบวงเงินเบื้องต้น 140,000 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายจาก พ.ร.ก.เงินกู้ที่ยังคงเหลือ โดยมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ในโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 มีกลุ่มเป้าหมาย  13.65 ล้านคน และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ กลุ่มเป้าหมาย 2.4 ล้านคน
ส่วนมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้สูง ได้แก่ มาตรการคนละครึ่งระยะที่ 3 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 31 ล้านคน และโครงการยิ่งใช้ยิ่งดี คาดว่าประชาชนจะเข้าโครงการ 4 ล้านคน.         

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"