'ฟิล์มกระจก'มรดกความทรงจำ คลังประวัติศาสตร์โลก


เพิ่มเพื่อน    

     

   ภาพพิธีเปิดการเดินรถรางด้วยไฟฟ้าสายหนึ่งในพระนคร สมัยร.5

 

     การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกในเมืองไทยเริ่มมีการเผยแพร่และถ่ายทอดวิธีการถ่ายภาพในสมัยรัชกาลที่ 3  โดยพระสังฆราช ฌ็อง  บาติสต์ ปาเลอกัวซ์ และบาทหลวง ลาร์นอดี สอนวิชาถ่ายภาพให้แก่ พระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) หลวงอัคมีนฤมิตร  และพระปรีชา กลการ  ถือเป็นช่างภาพรุ่นแรกของไทย เส้นทางฟิล์มกระจกแพร่หลายมากในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง   ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระราชนิยมในการถ่ายภาพยิ่งมากขึ้น ภาพมากมายที่ได้บันทึกบนแผ่นฟิล์ม นับเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์และหลักฐานสำคัญชาติไทย

 

พระโอรสธิดาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

 

     กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร่วมกับ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการ "เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก" เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่ฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2560 จากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ "ยูเนสโก"  ในฐานะที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมที่ได้บันทึกลงบนแผ่นฟิล์มที่ใช้กระจกเป็นตัวบันทึกภาพ ก่อนที่จะมีการใช้แผ่นฟิล์มเซลลูลอยด์ โดยมี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องเอนกประสงค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป โดยนิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันนี้-28 ก.ค. 2561 เวลา 09.00-19.00 น. วันพุธถึงวันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

                นิทรรศการ "เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก" ประกอบด้วยฟิล์มกระจกที่ได้ถ่ายทำในยุคสมัยรัชกาลที่  4 ถึงรัชกาลที่ 7 คัดเลือกมา 150 ภาพจากจำนวนทั้งสิ้น 35,427 แผ่น เป็นการบันทึกภาพบุคคล เหตุการณ์สถานที่ในยุคนั้น ผ่านมุมมองของผู้ถ่ายภาพ สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ บุคคล สถานที่ และเหตุการณ์สำคัญในอดีต โดยแบ่งออกเป็น 8 หัวเรื่อง ดังนี้ มองเมืองไทยผ่านฟิล์มกระจกมรดกความทรงจำ, สัญลักษณ์ยืนยงดำรงไทย, เลิศล้ำอำไพพระราชพิธี, พัฒนาวิถีสู่ความศิวิไลซ์, ศิลปวัฒนธรรมไทยงดงามประเพณี, สถลวิถีอาคารตระการตา, ลือชาบุคคลในประวัติศาสตร์ และพระบรมนาถเจริญทางพระราชไมตรี 

ภาพถ่ายในชุดพระสมุดวชิรญาณ

 

                ในนิทรรศการครั้งนี้มีกิจกรรมอวดภาพ โดยคุณสิริกิติยา เจนเซน ธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งมีความสนใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์และวิถีชีวิต และต้องการบันทึกภาพ ในส่วนที่ประชาชนไม่มีโอกาสได้เห็นบ่อยนัก โดยจะพกพาและใช้อุปกรณ์การถ่ายภาพด้วยกล้องยี่ห้อ Sony A7 และเสนส์ Minolta Rokkor 50 mm.1.4 เป็นประจำ              สำหรับภาพถ่ายชุด "การเดินทางเยือนรัฐฉาน สหภาพพม่า" ได้คัดเลือกภาพเกี่ยวกับนักบวชและเครื่องอุปโภคบริโภคในสหภาพพม่า สะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การแต่งกายของแต่ละชนชาติ มิตรไมตรีที่เพื่อนมนุษย์มีต่อกัน

 

คุณสิริกิติยา เจนเซน นำภาพถ่ายมาร่วมกิจกรรมอวดภาพด้วย

                นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ตนมาเปิดงานนิทรรศการ'เฉลิมฟิล์มกระจก  ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก' ซึ่งก่อนถึงยุคโลกเซลลูลอยด์นั้น การถ่ายภาพเคยใช้ฟิล์มกระจกในการบันทึกภาพและเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่างๆ มาก่อน  ในอดีตใช้วิธีการบันทึกข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น คัมภีร์ พงศาวดาร  และจดหมายเหตุ ซึ่งให้ความรู้ความกระจ่างได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เห็นภาพและสร้างจินตนาการได้ เมื่อโลกพัฒนามาถึงยุคประดิษฐ์ฟิล์มกระจก การบันทึกภาพบุคคลหรือเหตุการณ์บนกระจกเหมือนดั่งประโยคที่ว่า คำเป็นร้อยพันคำไม่เท่าตาเห็น เพราะสร้างจินตนาการกว้างไกลกว่าลายลักษณ์อักษร 

 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เยี่ยมชมนิทรรศการเฉลิมฟิล์มกระจกฯ 

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ฟิล์มกระจกมีความหมายและความสำคัญ ยิ่งเก็บไว้นานก็สามารถย้อนกลับไปศึกษาเกี่ยวกับบุคคลและเหตุการณ์ ช่วยเปิดโลกทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ยิ่งนำมาพิจารณาประกอบลายลักษณ์อักษรจะทำให้กระจ่างแจ้ง สิ่งนี้เรา เรียกว่า มรดกความทรงจำของโลก เป็นที่น่ายินดีของประเทศไทยที่มีการเก็บหลักฐานเหล่านี้ไว้อย่างประณีตและบรรจง  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล ในฐานะสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ และขอพระบรมราชานุญาต พระราชานุญาต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านาย และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เคยบันทึกภาพลงฟิล์มกระจก มาเก็บรักษาที่หอสมุดพระวชิรญาณ  จนเกิดแผนกจดหมายเหตุ และส่งต่อสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติเพื่อดูแลรักษาในปัจจุบัน

สาธิตการถ่ายภาพจากฟิล์มกระจกแบบเปียก

 

     “ ภาพฟิล์มกระจกมีค่าเกินกว่ามรดกชาติ จึงได้เสนอฟิล์มกระจกขึ้นทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำโลกต่อยูเนสโก และมีมติขึ้นทะเบียน เป็นที่มาการจัดนิทรรศการครั้งนี้  โดยจัดต่อเนื่อง 2 เดือน และหากนิทรรศการหมุนเวียนไปจัดแสดงต่างจังหวัดจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่อยู่ห่างไกลได้ชื่นชมมรดกความทรงจำแห่งโลก นิทรรศการนี้ช่วยเติมเต็มความภาคภูมิใจในความเป็นไทย เป็นประจักษ์พยานเสมือนตัวแทนของอดีต” นายวิษณุ กล่าว

                คุณสิริกิติยา เจนเซน ข้าราชการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กล่าวว่า มีความสนใจเรื่องการถ่ายภาพตั้งแต่วัยเยาว์ แต่ไม่เก่งเรื่องนี้เท่าไหร่ ถ้ามีโอกาสเดินทางไกล จะไปเที่ยวอเมริกา  เอธิโอเปีย อเมริกาใต้ อยากมีโอกาสเข้าไปถ่ายภาพวิถีชีวิตของคนเหล่านี้ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่มีโอกาสเข้าไป  ชอบถ่ายวิถีชีวิตของคน ไม่เชิงเป็นภาพบุคคล อย่างภาพถ่าย 4 ภาพที่จัดแสดง  เป็นครั้งแรกที่เดินทางหลังย้ายกลับมาอยู่เมืองไทย ภาพแรกเป็นร้านขายของชำ ถ่ายที่รัฐฉาน เมียนมาร์ ได้เดินทางไปท่องเที่ยวระยะสั้น นั่งรถประมาณ 6 ชั่วโมง เห็นภาพวิถีชีวิตดั้งเดิม ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเท่าใด เดินไปก็รู้สึกเป็นชีวิตที่ไม่ค่อยมีให้เห็นในกรุงเทพฯ เป็นที่ๆ เข้าถึงได้ยาก สำหรับภาพฟิล์มกระจกภาพประวัติศาสตร์ในนิทรรศการครั้งนี้มีคุณค่ากับเด็กรุ่นใหม่ได้เห็นว่าวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องดูแลและพัฒนา  อย่างฟิล์มกระจกหากไม่ระวังก็อาจจะทำแตกและเสียหาย ถ้าสิ่งเหล่านี้สูญหายไปวัฒนธรรมไทยก็จะหายไปด้วย

ชมนิทรรศการครั้งสำคัญที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า 

 

     นอกจากภาพประวัติศาสตร์ตระการตาในนิทรรศการแล้ว ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ กิจกรรมเติมเต็มข้อมูลประวัติศาสตร์ที่หายไป เนื่องจากภาพถ่ายชุดนี้ หลายภาพที่ไม่สามารถระบุรายละเอียดได้จึงเชิญผู้สนใจในประวัติศาสตร์ นักสะสม ผู้นิยมภาพเก่า มาร่วมกันวิเคราะห์และให้ข้อมูลของภาพถ่ายเพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมถึงกิจกรรมการอวดภาพจากนักสะสมและบุคคลที่มีชื่อเสียง การเสวนาในหัวข้อต่างๆ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ เรื่อง “เทคโนโลยี การอนุรักษ์ และการบริการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก” เรื่อง “พระมหากษัตริย์ไทยกับการถ่ายภาพ” การสาธิตการถ่ายภาพและผลิตภาพจากฟิล์มกระจกแบบเปียก การรับมอบภาพถ่ายหรือฟิล์มถ่ายภาพเพื่อเก็บรักษาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ณ สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ การจำหน่ายหนังสือและของที่ระลึก การถ่ายภาพย้อนยุคอีกด้วย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"