ทนายความอินโดนีเซียยื่นฟ้องเรียกค่าชดเชยจากบริษัทเวชภัณฑ์ของอินโดนีเซีย ภายหลังพนักงาน 5 คนโดนตำรวจจับกุมและโดนบริษัทไล่ออก เพราะถูกจับได้ว่านำก้านสำลีแยงจมูกสำหรับตรวจโควิด-19 กลับมาใช้ซ้ำ ฟันรายได้เกือบ 4 ล้าน ชี้อาจมีผู้เดินทางผ่านสนามบินในเมืองเมดานตกเป็นเหยื่อราว 9,000 คน
เรื่องอื้อฉาวนี้เป็นข่าวครึกโครมสร้างความตกตะลึงภายในอินโดนีเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อตำรวจเปิดโปงขบวนการเก็บก้านสำลีแยงจมูกเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อกลับมาใช้ใหม่ โดยจับกุมพนักงานของบริษัท คีเมียฟาร์มา 5 คนซึ่งรวมถึงผู้จัดการบริษัทสาขาเมดาน สำนักงานของบริษัทแห่งนี้เป็นสถานที่ล้างทำความสะอาดไม้สวอปแล้วใส่บรรจุภัณฑ์ใหม่ ก่อนจะส่งไปใช้ซ้ำอีกครั้งที่ท่าอากาศยานระหว่างประเทศกูอาลานามูตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ตำรวจกำลังสอบสวนด้วยว่ามีผู้โดยสารคนใดติดเชื้อโควิดเพราะก้านสำลีใช้ซ้ำหรือไม่
รายงานของบีบีซีและเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์เมื่อวันพุธที่ 5 พฤษภาคม กล่าวว่า พนักงานกลุ่มนี้โดนบริษัทไล่ออกแล้ว แต่ผู้โดยสารที่เชื่อว่าตนเองตกเป็นเหยื่อเดินหน้ายื่นฟ้องบริษัทของรัฐแห่งนี้เพื่อเรียกเงินชดเชย
ผู้โดยสารที่จะขึ้นเครื่องที่สนามบินนี้ถูกบังคับว่าต้องมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ แต่มีผู้โดยสารบางส่วนเลือกที่จะตรวจแบบเร็วที่สนามบิน แทนที่จะไปตรวจที่คลินิกหรือโรงพยาบาล สนามบินจึงร่วมมือกับคีดเมียฟาร์มาจัดชุดตรวจโดยคิดค่าธรรมเนียมคนละ 200,000 รูเปียห์ หรือราว 430 บาท เงินดังกล่าวเข้ากระเป๋าของพนักงานที่ลักลอบนำชุดตรวจใช้แล้วมาใช้ซ้ำ
รันโต ซิบารานี และคามัล ปาเน ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน 2 คนซึ่งเดินทางผ่านสนามบินนี้ประจำเพื่อไปติดต่อลูกความที่กรุงจาการ์ตาเกือบทุกสัปดาห์ระหว่างเดือนธันวาคม 2563 ถึงกุมภาพันธ์ 2564 บอกว่า พนักงานเหล่านี้หาเงินได้ถึง 1,800 ล้านรูเปียห์ (ราว 3.88 ล้านบาท) ตั้งแต่เดือนธันวาคม
ซิบารานีกล่าวด้วยว่า เขาน่าจะผ่านการตรวจเชื้อที่นี่ราว 10 ครั้ง และมีบางครั้งที่รู้สึกผิดสังเกตเพราะโดนแยงจมูกลึกมากและทำหลายครั้งด้วย ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะก้านสำลีนี้เคยถูกใช้มาแล้ว
ทั้งคู่วางแผนเรียกค่าเสียหายจากบริษัท คีเมียฟาร์มา ให้ชดเชยผู้โดยสารที่ตกเป็นเหยื่อรายละ 1,000 ล้านรูเปียห์ (ราว 2.15 ล้านบาท) และกำลังรวบรวมถ้อยคำจากผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อเพื่อฟ้องแพ่งแบบหมู่คณะ
อาร์ซี ปันกา ปุตรา ซิมันจุนตัก ผู้บังคับการตำรวจเมดาน กล่าวว่า อาจมีผู้โดยสารตกเป็นเหยื่อชุดตรวจใช้ซ้ำนี้มากกว่า 9,000 คนนับแต่เดือนธันวาคม โดยแต่ละวันนั้นมีผู้โดยสารตรวจเชื้อโควิดที่สนามบินแห่งนี้ 100-200 คน บางคนได้ชุดตรวจมือหนึ่ง แต่บางคนโดนชุดตรวจที่นำมาใช้ซ้ำ
ตามกฎหมายด้านสุขภาพของอินโดนีเซีย ผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ยังอาจถูกจำคุก 10 ปีหากศาลตัดสินว่ามีความผิด ซิบารานีกล่าวด้วยว่า ภายใต้กฎหมายบริษัทของอินโดนีเซีย คีเมียฟาร์มาคือผู้รับผิดชอบสูงสุดต่อการกระทำของพนักงาน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |