การเมืองเรื่องวัคซีนกับ ความเหลื่อมล้ำระดับโลก


เพิ่มเพื่อน    

        การจัดหาวัคซีนในระดับโลกเป็นเกมที่มีความสลับซับซ้อน ที่โยงถึงเรื่องการเมือง เงินทอง ความคุ้นเคยส่วนตัว และผลประโยชน์ในเกือบทุกๆ ด้าน

            เอาเข้าจริงๆ ประเทศที่รวยกว่า มีอิทธิพลมากกว่า มีเส้นสายใกล้ชิดกับผู้ผลิตมากกว่าก็จะได้เปรียบ

            ประเทศยากจนที่ไม่มีเงินสู้ ไม่มีอำนาจต่อรองก็จะตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ ได้วัคซีนมาน้อยและช้า ทำให้ฉีดให้ประชาชนของตนไม่ทันการณ์

            โควิด-19 ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของประเทศรวยกับยากจนให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก

            ประเทศใหญ่และกระเป๋าหนักพร้อมจะควักเงินให้บริษัทที่วิจัยและพัฒนาวัคซีนก่อน

            ถ้าทำสำเร็จก็รับวัคซีนไปก่อนคนอื่น

            แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ต้องเสียเงินก้อนนั้นไป

            ไม่ต่างอะไรกับแทงหวย ตาดีได้ตาร้ายเสีย

            อเมริกาตกลงกับ AstraZeneca ยอมควักกระเป๋าให้ก่อนตอนเริ่มวิจัยและพัฒนา

            ตกลงกันว่าถ้าทำสำเร็จก็จะได้ 300 ล้านโดสไปก่อนใคร

            บริษัทผลิตวัคซีนชอบสูตรอย่างนี้ เพราะทำให้เขาไม่ต้องหางบประมาณก้อนใหญ่มาลงมือวิจัย

            เมื่อประเทศไหนพร้อมจะวางเงินล่วงหน้าเหมือนลงขันมาก่อน พร้อมจะเสี่ยงไปด้วยกัน ก็ถือว่าเป็นการแบ่งเบาความเสี่ยงของธุรกิจด้านนี้ไปด้วย

            ส่วนประเทศที่พร้อมวาง “เดิมพัน” นั้นก็ต้องยอมรับความเสี่ยง แต่ประโยชน์ที่จะได้คือถ้าสำเร็จก็จะได้วัคซีนยี่ห้อนั้นก่อนใครอื่น

            อเมริกาแทงม้ามากกว่าหนึ่งตัว เพราะไปวางเงินจองกับ Pfizer พร้อมๆ กับยี่ห้ออื่นด้วย

            พอ Pfizer ทำได้ก่อน ก็ฉีดยี่ห้อนี้ก่อนและมีประสิทธิภาพมากกว่าบางยี่ห้อ

            ต่อมาเมื่อ AstraZeneca พัฒนา อเมริกาก็มีวัคซีนเหลือ

            ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จึงสามารถประกาศจะแจกวัคซีน AstraZeneca ส่วนเกินให้ประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ได้หลังจากที่ฉีดให้ประชาชนเกิน  200 ล้านโดส

            หนีไม่พ้นที่จะต้องมีคำติฉินนินทาว่า บางประเทศที่ร่ำรวยนอกจากจะได้วัคซีนไปก่อนแล้วก็ยังมีปัญหา “กักตุน”  วัคซีนอีกด้วย

            เพราะได้วัคซีนปริมาณมากกว่าความต้องการของประชาชนของตนเอง

            ขณะประเทศที่ยากจนกว่ากลับขาดแคลนวัคซีน ต้องตามไล่ล่าไปทั่วโลกขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตกลับพุ่งขึ้นตลอด

            ประเทศที่มีฐานะกลางๆ อาจจะมีวิธีการทำ “ดีล” กับผู้ผลิตวัคซีน แต่ก็ต้องเข้าคิวต่อหลังประเทศร่ำรวย

            อีกทั้งยังต้องรอให้การวิจัยพัฒนาเข้าสู่เฟสที่ 3 เสียก่อน จึงจะมีความหวังว่าจะได้รับส่งมอบวัคซีนที่ผ่านการทดลองทุกขั้นตอนแล้ว           

            ส่วนประเทศที่ยากจนจริงๆ นั้นต้องถือว่าไม่มีทางเลือกอะไร นอกจากรอความเมตตาจากประเทศใหญ่และกลางที่อาจจะมีเหลือมาแบ่งปันกันให้

            ซึ่งในหลายกรณีก็อาจจะช้าเกินไป

            ระบบที่เหลื่อมล้ำอย่างนี้ ในท้ายที่สุดก็ไม่ได้แปลว่า ประเทศที่ร่ำรวยจะรอดจากโควิดได้อย่างปลอดภัย เพราะตราบที่ประเทศอื่นๆ ยังไม่ได้วัคซีนเพียงพอ และโควิด-19  ยังระบาดอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของโลก ประเทศร่ำรวยก็มิอาจจะรอดได้เช่นกัน

            เพราะโควิด-19 นั้นไม่เลือกว่าใครรวยใครจน หากมีช่องว่างเมื่อใดมันก็จะโจมตีทันที

            และหากประเทศยากจนยังมีคนติดเชื้ออยู่เป็นจำนวนมาก ประเทศร่ำรวยที่เริ่มเห็นการระบาดลดลงก็อาจต้องเจอกับการแพร่ระลอกใหม่

            เพราะไวรัสอาจกลายพันธุ์หรือกระจายตัวผ่านช่องทางต่างๆ จากมุมหนึ่งของโลกไปอีกมุมหนึ่งก็ได้

            ถ้าอย่างนั้นจะแก้ไขอย่างไร

            ประเทศมีสตางค์ก็พยายามช่วยชาติที่ยากจน ด้วยการออกเงินช่วยโครงการ Covax ขององค์การอนามัยโลก

            โครงการนี้มุ่งจะช่วยประเทศยากจน 92 ชาติที่ไม่มีเงินพอไปต่อรองกับบริษัทผู้ผลิตด้วยตัวเองได้

            ด้วยการที่ประเทศที่มีเงินต่างลงขันเงินก้อนใหญ่ เพื่อใช้เป็นเงินกองกลางต่อรองกับบริษัทผู้ผลิต

            อีกทางหนึ่งคือ ประเทศร่ำรวยออกเงินช่วยประเทศยากจน 92 ประเทศโดยตรง

            เมื่อวัคซีนออกมา ประเทศทั้งรวยและจนในกลุ่ม  Covax ก็จะแบ่งวัคซีนกันไปตามสัดส่วนที่เหมาะสม  แต่เมื่อประเทศมีสตางค์มากกว่ามีวัคซีนที่ซื้อโดยตรงเพียงพอแล้ว ก็อาจจะสละสิทธิ์ที่จะได้จาก Covax แต่ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด

            เพราะ Covax เกิดทีหลัง การไปตกลงกับบริษัทผู้ผลิตก็ยังต้องแข่งกับประเทศร่ำรวยอยู่ดี

            เมื่อได้วัคซีนมาแล้ว Covax ก็ต้องมาแบ่งกันตามสัดส่วน ซึ่งประเทศยากจนก็เป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ดี

            ประเทศที่มีวัคซีนส่วนเกินอาจจะแก้ตัว ด้วยการบอกว่าจะแบ่งส่วนที่ตนใช้ไม่หมดให้ประเทศอื่นที่ขาดแคลน

            แต่ก็ไม่มีใครรับปากอะไรชัดเจน เพราะกลัวว่าของตนเองไม่พอใช้

            ไปๆ มาๆ ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 ขึ้นมา ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมโลกก็ยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"