เศรษฐกิจพม่าใกล้ ‘จุดล่มสลาย’


เพิ่มเพื่อน    

 

  คนเมียนมาเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติจนกำลังจะตกอยู่ในสภาพที่รายงานของสหประชาชาติระบุว่า “ใกล้จุดเศรษฐกิจล่มสลาย”

            สามวิกฤติที่ทับซ้อนกันอยู่คือ ความยากจนดั้งเดิม,  โควิด-19 และรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์

            รายงานของ UNDP ล่าสุดบอกว่า ภายในต้นปี 2022  หรือปีหน้านี้คาดว่าจะมีชาวเมียนมา 25 ล้านคนที่ต้องมีชีวิตอยู่ “ใต้เส้นความยากจน”

            จะเป็นสภาวะย่ำแย่ที่สุดตั้งแต่ปี 2005 หรือเสื่อมทรุดที่สุดใน 15 ปี

            ประชากรทั้งประเทศเมียนมาล่าสุดคือ 53.7 ล้านคน

            หาก 25 ล้านคนกำลังตกอยู่ในสภาพแร้นแค้นแสนสาหัสตามรายงานนี้ ก็แปลว่าประชาชนเกือบครึ่งค่อนประเทศกำลังจะร่วงหล่นลงสู่อเวจีแห่งวิกฤติที่ถูกซ้ำเติมโดยการยึดอำนาจของกองทัพครั้งนี้

            ความจริงสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกี่ยวกับปากท้องของคนเมียนมาเริ่มจะกระเตื้องขึ้นในช่วงปี 2005-2017

            นั่นเป็นช่วงที่เกือบครึ่งหนึ่งของคนยากไร้ใต้เส้นยากจนที่นิยามโดยสหประชาชาติได้รับการเยียวยา และคุณภาพชีวิตกระเตื้องขึ้นถึงขั้นที่อยู่เหนือระดับยากจนซ้ำซากแล้ว

            แต่เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นพร้อมๆ กับการระบาดของโควิดอย่างกว้างขวาง ก็ทำให้ความพยายามที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นถูกลบหายไปต่อหน้าต่อตา

            เรื่องดีๆ และความหวังใหม่ๆ ของคนเมียนมาตั้งแต่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2015 ก็มีอันต้องอันตรธานหายไป

            ถูกทดแทนด้วยความสิ้นหวัง, ความรุนแรง, ความโกรธแค้น และความไม่แน่นอน

            ตื่นเช้าขึ้นมาพวกเขาส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของตน

            คนที่เข้าร่วมต่อต้านรัฐประหาร ไม่ว่าจะออกมาคัดค้านอย่างเปิดเผย หรือร่วมการรณรงค์อารยะขัดขืน หรือสนับสนุนอยู่ข้างหลังต่างก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างแค้นเคืองและหวาดกลัว

            เพราะกองทัพภายใต้การนำของมิน อ่อง หล่าย ใช้วิธีการที่โหดเหี้ยมและป่าเถื่อนในการกำจัดผู้เห็นต่างอย่างหนักหน่วงมาตลอด

            รายงานของ UNDP ชิ้นนี้บอกด้วยว่า

            “หากขาดเสียซึ่งสถาบันประชาธิปไตยที่ทำหน้าที่ที่เหมาะควรได้ เมียนมาก็จะต้องเผชิญกับการถอยร่นที่น่าเศร้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...เข้าสู่ระดับความยากจนที่ไม่เคยได้เห็นในคนทั้งรุ่นนี้”

            ผลกระทบนั้นมีทั้งด้านเศรษฐกิจ, สังคม และการเมือง  แต่มีความรุนแรงต่อชุมชนต่างๆ ในระดับที่ต่างกัน

            กลุ่มคนที่เปราะบางจะโดนหนักที่สุด

            เช่น กลุ่มคนที่ถูกความไม่ปกติของบ้านเมืองบังคับให้ไม่อาจจะอยู่ในที่พักพิงเดิม กลายเป็นคนไร้ถิ่นฐานภายในประเทศที่เรียกว่า Internally displaced persons (IDPs)

            อีกทั้งยังมีกลุ่มคนชาติพันธุ์และชาวโรฮีนจาที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง และยังหาที่พึ่งพิงจากองค์การระหว่างประเทศได้ยากยิ่ง

            รายงานนี้แจ้งว่า ณ ปลายปี 2020 มีครัวเรือนถึง 83% ที่บอกว่ารายได้ของตนหดหายไปเกือบครึ่ง อันสืบเนื่องมาจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด

            จึงทำให้จำนวนคนที่อยู่ใต้เส้นยากจนกระโดดขึ้นไป  11%

            ยิ่งเมื่อเกิดรัฐประหารด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เสื่อมทรุดลงไปอีก

            พยากรณ์กันว่า วิกฤติการเมืองล่าสุดครั้งนี้จะทำให้จำนวนคนยากจนพุ่งขึ้นอีก 12%

            เศรษฐกิจของเมียนมาตั้งแต่เกิดรัฐประหารเป็นต้นมา ถึงวันนี้กว่าสามเดือนแล้วตกอยู่ในสภาพเป็นอัมพาต

            เหตุเพราะธุรกิจน้อยใหญ่ต่างพากันปิดทำการ ต้องปลดพนักงานหรือไม่ก็ไม่มีเงินเดือนจ่าย

            ร้านรวงจำนวนมากปิดตัวเองเพราะร่วมอารยะขัดขืน แต่อีกจำนวนไม่น้อยก็ปิดเพราะผู้คนขาดรายได้ ไม่มีเงินทองใช้จ่ายเหมือนแต่ก่อน

            อีกทั้งเมื่อธนาคารและสถาบันการเงินปิดตัวลงเพราะความวุ่นวาย ธุรกรรมต่างๆ ก็มีอันหยุดชะงัก

            ความยากจนในเมืองจะหนักหน่วงรุนแรงขึ้นอีก เพราะสถานการณ์ความมั่นคงทรุดหนักและห่วงโซ่การขนส่งถูกตัดขาด

            ราคาสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตพุ่งขึ้นพรวดพราด ทั้งแพงทั้งขาดแคลน

            หากยังไม่มีทางออกทางการเมืองในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เราคงได้เห็นอาการล่มสลายทุกๆ ด้านของเมียนมา ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งอันไม่พึงปรารถนาที่จะมีผลกระทบต่อไทยและภูมิภาคนี้อย่างรุนแรงเกินจินตนาการได้จริงๆ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"