ช่วงนี้มีการพูดถึงวัดสระเกศราชวรมหาวิหารกันเยอะทั้งในแง่บวกและลบ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลบ อันเนื่องจากกรณีท่านเจ้าคุณธงชัย "พระพรหมสิทธิ" เจ้าอาวาสถูกตั้งข้อหาทุจริตเงินทอนวัด และวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังหาตัวไม่เจอ พูดง่ายๆ คือท่านล่องหน คล้ายๆ กับกรณี "สมีธัมมชโย" ที่หลบหนีการจับกุม
พูดถึงวัดสระเกศมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร
วัดสระเกศเป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรี อยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่าชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อทรงกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ.2325
มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงให้เปลี่ยนชื่อวัดสะแก เป็นวัดสระเกศนี้ มีหลักฐานที่ควรอ้างถึงคือ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีข้อ 11 ว่า
"รับสั่งพระโองการ ตรัสวัดสะแกเรียกวัดสระเกศแล้วบูรณปฏิสังขรณ์ เห็นควร ที่ต้นทางเสด็จพระนคร"
ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า"ปฏิสังขรณ์วัดสะแกและเปลี่ยน ชื่อเป็น วัดสระเกศเอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนครมีคำเล่าๆ กันว่า เสด็จเข้าโขลนทวารสรงพระมุธาภิเษกตามประเพณีกลับจากทางไกลที่ วัดสะแก จึงเปลี่ยนนามว่า 'วัดสระเกศ'"
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้างพระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง ทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แต่วัดสระเกศยังเป็นที่รู้จักในภาพอันน่าสะพรึงกลัว นั่นคือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ.2363 เกิดโรคห่าระบาดอย่างหนักในกรุงเทพมหานคร
ขณะนั้นยังไม่มีวิธีรักษา ไม่รู้จักการป้องกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงใช้วิธีพระราชทานกำลังพระราชหฤทัย โปรดฯ ให้ตั้งพิธีขับไล่โรคนี้ขึ้น เรียกว่า "พิธีอาพาธพินาศ" โดยจัดขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะโปรยพระพุทธมนต์ตลอดทาง
ทรงทำบุญเลี้ยงพระ โปรดให้ปล่อยปลาปล่อยสัตว์ และประกาศไม่ให้ประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อยู่กันแต่ในบ้าน
กระนั้นก็ยังมีคนตายเพราะอหิวาตกโรคประมาณ 3 หมื่นคน ศพกองอยู่ตามวัดเป็นภูเขาเลากา เพราะฝังและเผาไม่ทัน
บ้างก็แอบเอาศพทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองในเวลากลางคืน จึงมีศพลอยเกลื่อนกลาดไปหมด ประชาชนต่างอพยพหนีออกไปจากเมืองด้วยความกลัว พระสงฆ์ทิ้งวัด งานของราชการและธุรกิจทั้งหลายต้องหยุดชะงัก เพราะผู้คนถ้าไม่หนีไปก็มีภาระในการดูแลคนป่วยและจัดการกับศพของญาติมิตร
ในเวลานั้นวัดสระเกศเป็นศูนย์รวมของแร้งจำนวนนับพัน อหิวาตกโรคเวียนมาในทุกฤดูแล้งและหายไปในฤดูฝนเช่นนี้ทุกปี จนในปี พ.ศ.2392 อหิวาต์ก็ระบาดหนักอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เกิดขึ้นที่ปีนังก่อน แล้วแพร่ระบาดมาจนถึงกรุงเทพฯ
เรียกกันว่าห่าลงปีระกา ในระยะเวลาช่วง 1 เดือนที่เริ่มระบาดมีผู้เสียชีวิตถึง 15,000-20,000 คน และตลอดฤดูตายถึง 40,000 คน
เจ้าฟ้ามงกุฎฯ คือรัชกาลที่ 4 ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงเพศบรรพชิตเป็นพระราชาคณะ ได้ทรงบัญชาให้วัดสามวัด คือ วัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) และวัดตีนเลน (วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุข) เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ
มีศพที่นำมาเผาสูงสุดถึงวันละ 696 ศพ แต่กระนั้นศพที่เผาไม่ทันก็ถูกกองสุมกันอยู่ตามวัด โดยเฉพาะวัดสระเกศมีศพส่งไปไว้มากที่สุด ทำให้ฝูงแร้งแห่ไปลงทึ้งกินซากศพ ตามลานวัด บนต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิเต็มไปด้วยแร้ง
แม้เจ้าหน้าที่จะถือไม้คอยไล่ก็ไม่อาจกั้นฝูงแร้งที่จ้องเข้ามารุมทึ้งซากศพอย่างหิวกระหายได้ และจิกกินซากศพจนเห็นกระดูกขาวโพลน พฤติกรรมของ "แร้งวัดสระเกศ" ที่น่าสยดสยองจึงเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่ว
แร้งวัดสระเกศจึงเป็นเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมา เมื่อฝูงแร้งมากมายขนาดที่เรียกได้ว่ามืดฟ้ามัวดิน แห่ลงกินซากศพที่กองอยู่เป็นภูเขาเลากาข้างภูเขาทอง นับเป็นภาพที่อุจาดต่อสายตาและน่าสยดสยองอย่างมากต่อผู้พบเห็น ซากศพคนตายเหล่านั้นตายด้วยอหิวาตกโรค ทิ้งเกลื่อนกลาดที่วัดสระเกศ มีแร้งจิกกินจนกระดูกขาวโพลน
มีเรื่องเล่ากันว่า มีชายคนหนึ่งคิดพิเรนทร์จับแร้งตัวหนึ่งใส่กระสอบ แล้วแบกไปที่บ้านฝรั่งตอนก่อนถึงวันคริสต์มาส 4-5 วัน แล้วบอกว่ามีไก่งวงมาขายในราคาถูก เป็นไก่งวงที่เลี้ยงไว้ในทุ่งจึงเปรียวมาก ต้องใส่กระสอบไว้ ฝรั่งชะโงกหน้าลงมาดู ชายคนนั้นก็เผยอปากถุงให้เห็นหัวแดง ตัวใหญ่เท่าไก่งวง ดิ้นขลุกขลักอยู่ในกระสอบ จึงรับซื้อไว้ในราคา 4 บาท
รุ่งขึ้นฝรั่งสั่งให้พ่อครัวเอาไก่งวงออกมายืดเส้นยืดสายก่อนที่จะตายในกระสอบ แต่พอเปิดกระสอบปล่อยออกมาแร้งก็วิ่งอ้าวแล้วบินหนีไป เรื่องนี้จึงเป็นที่เล่ากันอย่างสนุกสนานต่อๆ มา คำว่า "ไก่งวงวัดสระเกศ" จึงเป็นคำฮิตของบางกอกในสมัยนั้นไปด้วย
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2457 ได้มีการผลิตน้ำประปาขึ้นในกรุงเทพฯ อหิวาต์จึงบรรเทาเบาบางลงมาก แต่ก็ยังไม่ขาดหายไป แม้ในทุกวันนี้ก็ยังมีอหิวาต์เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนเมษายน แต่ความรู้ และสุขาภิบาลในสมัยนี้ทำให้โรคไม่สามารถระบาดได้รุนแรง คร่าชีวิตผู้คนมากมายได้อย่างในสมัยก่อน
ส่วนแร้งปัจจุบันหาได้ยากแล้ว กลายเป็นสัตว์เกือบสูญพันธุ์ โดยเฉพาะแร้งเทาหลังขาวซึ่ง
ลงมาจิกกินซากศพที่วัดสระเกศ ปัจจุบันถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
ที่จริงสมัยก่อนเมื่อพูดถึงแร้งวัดสระเกศต้องกล่าวถึงเปรตวัดสุทัศน์ด้วย ซึ่งเปรตเป็นมนุษย์ที่ทำบาปกรรมแบบขั้นสุด เมื่อตายไปแล้วจะเกิดเป็นเปรตเพื่อชดใช้กรรมที่ทำไว้เมื่อยังเป็นมนุษย์ ปากเท่ารูเข็ม มือใหญ่เท่าใบลาน มักปรากฏตัวตอนกลางคืน
สมัยก่อนบรรยากาศแถววัดสุทัศน์นั้นน่ากลัว มักมีคนเล่าว่าพบเห็นผีเปรตอยู่เสมอ แต่บ้างก็บอกว่านั่นคือเงาจากเสาชิงช้า ความเชื่อแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์เกี่ยวกับเรื่องราวของเปรตแห่งวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ที่เล่ากันว่าที่วัดแห่งนี้มักมีเปรตปรากฏกายในเวลากลางคืนเป็นที่น่ากลัวอย่างยิ่ง
ประกอบกับอหิวาตกโรคที่ระบาดจนมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากในสมัยรัชกาลที่ 2 จนเผาศพแทบไม่ทัน ณ วัดสระเกศ จนมีคำกล่าวคล้องจองกันว่า แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ นั่นเอง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |