กลายเป็นเรื่องให้คนในวงการมวยไทยและคนไทยต้องเดือด หลังมีโพสต์บนโซเชียลของนายเดฟ เลดัก แชมป์มวยเมียนมาชาวแคนาดา ดูหมิ่นเหยียดหยามมวยไทยและประวัติศาสตร์มวยไทย รวมถึงแสดงความคิดเห็นหยาบคายดูถูกนายขนมต้มว่าเป็นเพียงเรื่องแต่งขึ้น ด่าว่าเป็นลูกโสเภณี ก่อนที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ออกโรงประกาศไม่เห็นด้วยกับนักมวยแคนาดา จี้ให้ขอโทษและประสานกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้มีมาตรการลงโทษกำปั้นชาวแคนาดารายนี้ ปัจจุบัน วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ขึ้นทะเบียนมวยไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.2553
กรณีนี้ สมาพันธ์มวยพม่าออกแถลงการณ์ถึงคนมวยในไทยและทั่วโลก ระบุไม่เกี่ยวข้องกับข้อความที่เดฟ เลดัก ได้โพสต์ไว้ อีกทั้งยืนยันวงการมวยทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์และประวัติศาสตร์ยาวนานร่วมกัน โดยไม่เห็นด้วยกับทุกสิ่งที่นักมวยรายนี้ได้โพสต์
กล่าวถึง “มวย” เป็นมรดกร่วมทางวัฒนธรรมของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่มีเฉพาะไทย แต่เพื่อนบ้านอย่างลาว เมียนมา และกัมพูชาก็มีประวัติมายาวนาน อาจมีชื่อเรียกมวยที่แตกต่างกัน
สำหรับ “มวยไทย” เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวและกีฬาที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เป็นมรดกวัฒนธรรมที่ต่างประเทศยอมรับไม่แพ้อาหารไทย ประเทศไทยมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับมวยไทย มีร่องรอยพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ เริ่มชัดเจนขึ้นในสมัยทวารวดี รุ่งเรืองในสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ สืบเนื่องจนทุกวันนี้ เป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีกลวิธีในการใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย 9 อย่าง เรียกว่า นวอาวุธ ได้แก่ มือ เท้า เข่า ศอก อย่างละ 2 ศีรษะอีก 1 ได้อย่างผสมกลมกลืนกัน วันมวยไทย ตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยถือวันที่สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ) เสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงพระปรีชาสามารถด้านมวยไทยเป็นที่ประจักษ์ และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน
อนุสาวรีย์นายขนมต้มที่อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
ส่วนนายขนมต้ม ถือว่าเป็นยอดนักมวยในตำนานที่คนไทยและคนทั่วโลกไม่ลืม มีชื่อเสียงในเชิงมวยเป็นที่เลื่องลือ จากเหตุการณ์ที่ชกชนะนักมวยพม่า วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2317 ประวัตินายขนม เกิดวันอังคาร เดือนยี่ ปีมะเมีย พ.ศ.2293 ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่บ้านกุ่ม ปัจจุบันคือ ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่ออายุ 10 ขวบต้องมาอาศัยอยู่วัด เพราะพ่อแม่ถูกพม่าฆ่าตายทั้งคู่ เมื่อแตกหนุ่มเริ่มฝึกวิชามวยไทย จนในสมัยพระเจ้าเอกทัศ กรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่า นายขนมต้มถูกกวาดต้อนไปเมืองพม่า
ชายเลือดนักสู้นี้สร้างชื่อเสียงให้กับกรุงศรีอยุธยาและชาติไทย โดยอาศัยความสามารถเชิงหมัดมวย
ดังพงศาวดารบันทึกข้อความตอนหนึ่งว่า...
“ เมื่อพระเจ้ามังระโปรดให้ปฏิสังขรณ์และก่อเสริมพระเจดีย์ชเวดากองในเมืองย่างกุ้งเป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ.ศ.2317 พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือวันที่ 17 มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร ขุนนางพม่ากราบทูลว่า "นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก" พระเจ้ามังระจึงตรัสสั่งให้เอาตัวนายขนมต้ม นักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย พระเจ้ามังระได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่า นายขนมต้มชกพม่า ไม่ทันถึงยกก็ชนะถึงเก้าคนสิบคน พระเจ้ามังระทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระ ตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า “ คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว และโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ”
หลังชนะนักมวยพม่า พระเจ้ามังระได้ปูนบำเหน็จแก่นายขนมต้ม แต่งตั้งเป็นข้ารับใช้ในกรุงอังวะ แต่เขาปฏิเสธและขอให้พระเจ้ามังระปลดปล่อยตนและเชลยคนไทยทั้งหมดให้เป็นอิสระเพื่อกลับบ้านเกิด พระเจ้ามังระยอมทำตามความประสงค์ ในที่สุดนายขนมต้มและเหล่าเชลยไทยได้อิสรภาพและกลับแผ่นดินไทยที่ขณะนั้นมีกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ในสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นายขนมต้มอาศัยอยู่บ้านเกิดอย่างสงบ ไม่มีบันทึกว่าเสียชีวิตเมื่อใด
วันที่ 17 มีนาคม ถือเป็นวันเกียรติประวัติและเพื่อเป็นเกียรติต่อนักมวยไทย นอกจากนี้ชาวอยุธยาสร้างอนุสาวรีย์นายขนมต้มไว้ที่บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัด แม้แต่บนแผ่นดินเกิดที่ อ.บางบาลก็สร้างอนุสาวรีย์นายขนมต้มไว้ เพื่อเตือนใจและให้ลูกหลานไทยยึดถือเป็นแบบอย่าง
อ.สุรัตน์ เสียงหล่อ หัวหน้าค่ายมวยไทย ต.สุรัตน์ และผู้ฝึกสอนนักมวยไทยทีมชาติ กล่าวว่า ในฐานะคนไทย ไม่เห็นด้วยที่นักมวยแคนาดาดูถูกมวยไทย มวยเป็นกีฬา แพ้ชนะเป็นเรื่องส่วนบุคคล ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่ที่รับไม่ได้ นักมวยรายนี้ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์มวยไทยจริงจัง ไม่รู้ภูมิหลัง ไม่เคยอ่านประวัติของนายขนมต้ม รู้แค่นายขนมต้มชนะนักมวยพม่า ขณะที่คนไทยยกย่องวีรบุรุษผู้นี้ มีอนุสาวรีย์นายขนมต้ม ทุกปีนักมวยไทยและฝรั่งทั่วโลกที่มาเรียนมวยไทยเข้าร่วมพิธีไหว้ครูที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ นักชกยอมรับและรู้จักชื่อเสียงมวยไทยนายขนมต้ม
“ มวยไทยกับมวยพม่ามีประวัติมานาน เป็นศิลปะป้องกันตัวที่ต้องรักษาไว้ นอกจากสร้างสุขภาพให้แข็งแรงแล้วยังสร้างสามัคคี มวยไทยมีประวัติศาสตร์สำคัญ เอกลักษณ์เตะหนัก ชกหนัก อาวุธรุนแรง อยากให้ทุกคนเรียนรู้ ปัจจุบันมีหลักฐานเป็นตำราแม่ไม้มวยไทยและครูมวยไทยเกิดขึ้น 5 สาย ได้แก่ มวยท่าเสา เป็นมวยไหวพริบดี มวยลพบุรี เป็นมวยชกฉลาก รุกรับคล่องแคล่วว่องไว หมัดตรงแม่นยำ มวยไชยา มีการตั้งท่ามวย ท่าย่างสามขุมสวยงาม มวยโคราช เวลาเตะต่อยวงกว้าง และมวยไทยสายพระนคร เกิดขึ้นสมัย ร.5 ก่อนพัฒนาเป็นมวยไทยสายพลศึกษา มีการตั้งค่ายมวย สมาคม จัดการเรียนการสอนให้ประชาชน สืบทอดกันมาถึงทุกวันนี้ อยากให้คนไทยช่วยกันเผยแพร่แม่ไม้มวยไทย รวมถึงเกียรติประวัตินายขนมต้ม อย่ายอมให้ใครมาหักล้างประวัติศาสตร์มวยไทย” อ.สุรัตน์ กล่าว
อีกเสียงจาก ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ เจ้าของค่ายมวยเพชรยินดี ผู้เผยแพร่โพสต์นักมวยแคนาดาหยามมวยไทยจนคนรักมวยไทยหัวร้อน บอกว่า มวยไทยเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก มวยไทยมีประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ที่สืบทอดจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งในประวัติศาสตร์ชาติไทยมวยไทยมีส่วนสำคัญใช้ในการต่อสู้กับข้าศึกปกป้องบ้านเมือง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป มวยไทยกลายเป็นศิลปะการป้องกันตัวและกีฬายอดนิยม คนทั่วโลกเรียนและฝึกหัดมวยไทย สำหรับนายขนมต้ม ตามตำนานเป็นนักมวยคาดเชือก ถือว่าเป็นแรงบันดาลให้กับนักมวยไทยจำนวนมากด้วย มีแม่ไม้มวยไทยเป็นเลิศ นักชกเคารพเหมือนกับศิษย์ที่มีครู ในฐานะคนวงการมวยจะเป็นส่วนหนึ่งเผยแพร่และส่งเสริมมวยไทยให้ไปอยู่บนเวทีนานาชาติ ผลักดันให้มีการยอมรับในระดับโลกมากขึ้น ทุกฝ่ายต้องช่วยพัฒนามวยไทยอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นด้านกีฬา ไม่เกี่ยวข้องกับการพนัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |